"กุ้งแช่น้ำปลา" ทำ "ตาบอด" พบพยาธิปอดหนูไชขึ้นตา

สังคม
2 ก.พ. 65
16:41
14,024
Logo Thai PBS
"กุ้งแช่น้ำปลา" ทำ "ตาบอด" พบพยาธิปอดหนูไชขึ้นตา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก แถลงพบรายแรกสาววัย 40 ปีตาบอด เหตุจาก "พยาธิปอดหนูขึ้นตา" พบชอบกินเมนูสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะกุ้งแช่น้ำปลา ชี้ทั่วโลกมี 50 คน รายงานครั้งแรกในไทยปี 2505 พบมากสุดที่ภาคอีสาน 18 คน

วันนี้ (2 ก.พ.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก แถลงพบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา ทำให้ตาขวาบอด 1 ข้าง โดยถือเป็นผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก

ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์เจ้าของไข้ กล่าวว่า หญิงอายุ 40 ปีอาชีพข้าราชการที่พบเป็นโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา จนต้องสูญเสียดวงตา ถือเป็นคนไข้รายแรกของ จ.พิษณุโลก โดยมาพบหมอด้วยอาการตาพร่ามัวข้างเดียวมาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ยังไม่พบสาเหตุ จึงนัดตรวจตาอย่างละเอียดอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ด้วยวิธีการขยายม่านตา จนพบว่าตามีการอักเสบ และพบพยาธิในวุ้นตา

พบเป็นรายแรกของพิษณุโลก จากสถิติเคยพบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลกในไทยเมื่อปี 2505 ทั่วโลกมีการรายงานพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 คน มากสุดในไทย เป็นผู้ป่วยจากภาคอีสาน ซึ่งรายงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 18 คน  
ภาพ:โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพ:โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพ:โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

รู้จักพยาธิปอดหนู-กินของดิบๆสุกๆ

นายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากการตรวจหาชนิดของพยาธิโดย รศ.ดร.อภิชาติ วิทย์ตะ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็น พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis)ยาว 0.5 ซม.

สาเหตุที่พยาธิชนิดนี้ ได้ชื่อว่าพยาธิปอดหนู เพราะพยาธิตัวเต็มวัยทัั้งสองเพศ จะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนูพยาธิตัวเมีย จะออกไข่ในหลอดเลือดแดง และฟักตัวเป็นตัวอ่อน ระยะที่ 1 ปนออกมากับขี้หนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด  เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำ จืดแล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ

 

ในระยะนี้หากคนกินอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลั งหรือตา อาการเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่ ในกรณีขึ้นตา ทำให้เกิดอาการที่พบบ่อยคือตามัวลงแบบเฉียบพลันมักไม่ปวด หรือเคืองตา

จากการซักประวัติ พบว่าผู้ป่วยมีประวัติกินกุ้งน้ำจืดสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืดที่ทานในเมนูกุ้งแช่น้ำปลา เป็นประจำ
ภาพ:โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพ:โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพ:โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

 

ขณะนี้ผ่าตัดนำพยาธิออกจากตาเรียบร้อยแล้ว พบว่าตาข้างขวาของผู้ป่วยไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ เนื่องจากตัวพยาธิได้ชอนไชไปยังจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนอง ได้รับความเสียหายบอดสนิท หลังจากนี้จะนัดรักษาต่อเนื่อง เพื่อเช็กร่างกายอย่างละเอียดว่าพยาธิมีเพิ่มเติมในตำแหน่งอื่นของร่างกายอีกหรือไม่

ด้านศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผอ.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ฝากเตือนประชาชนเรื่องของการรับกินอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เพราะพยาธิที่อาศัยอยู่ตามสัตว์น้ำจืด เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นอันตราย เหมือนผู้ป่วยเคสนี้ต้องสูญเสียการมองเห็นจากดวงตาข้างขวาไป 1 ข้าง เพราะชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆ และหากพยาธิเข้าไปอยู่ตามจุดสำคัญในร่างกาย เช่น ระบบประสาท สมอง ไขสันหลัง อาจจะถึงขั้นรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง