ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยังไม่เคาะวันเลือกตั้ง มท.-กกต.รอ ครม.กำหนดให้มีเลือกตั้งก่อน

การเมือง
21 ก.พ. 65
15:14
981
Logo Thai PBS
ยังไม่เคาะวันเลือกตั้ง มท.-กกต.รอ ครม.กำหนดให้มีเลือกตั้งก่อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มท.-กกต.ยังไม่เคาะวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอความชัดเจนจาก ครม.-กกต. อีกครั้ง แต่คาดไม่เกินเดือน พ.ค. รองเลขาฯ กกต. ระบุ ต้องรอให้ ครม.มีมติกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ก่อน กกต.จึงจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง

วันนี้ (21 ก.พ.2565) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง และผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือ ถึงความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนายกฯ เมืองพัทยา

นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า การหารือครั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งชัดเจน ว่าเป็นวันที่ 8 พ.ค.2565 หรือไม่ เนื่องจากเป็นการหารือเพื่อเตรียมความพร้อม

กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งได้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย แต่ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ก่อน กกต.จึงจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ตามกฎหมายวันเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ กกต. มีประกาศให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยจากการคาดการณ์เบื้องต้น วันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2565 แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความชัดเจนที่กรรมการการเลือกตั้งจะพิจารณาต่อไป

กกต.ตั้งเป้าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่มากกว่าร้อยละ 70 โดยเป็นการตั้งเป้า เหมือนทุกครั้ง ที่มุ่งหวังให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ก.พ. จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง เพื่อพูดคุยรายละเอียดการประสานงาน 2 หน่วยงาน

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อเปิดช่องให้นักการเมืองเข้ามาช่วยผู้สมัครหาเสียงได้นั้น นายกิติพงษ์กล่าวว่า เป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากยังไม่มีการแก้ไขก็ใช้กฎหมายฉบับเดิมในการดำเนินการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นกฎหมายเดียวกับการเลือกตั้ง นายกฯ และสมาชิก อบจ. ทั่วประเทศที่ผ่านมา

ดังนั้นการเลือกตั้งจะเป็นบัตรสองใบคือเลือก ผู้ว่าฯ กทม. 1 ใบ และ สก.1 ใบ พร้อมยืนยันว่า กกต.เดินหน้ารับฟังความเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เบื้องต้นยังคงใช้เขตเลือกตั้งเดิม 50 เขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร แม้ว่าจำนวนประชากรจะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนจำนวนเขตเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง