แบก 2.6 หมื่นชีวิตสัตว์ป่า หั่นงบฯ ดูแลจาก 90 ล้านเหลือ 10 ล้าน

สิ่งแวดล้อม
22 ก.พ. 65
15:26
5,426
Logo Thai PBS
แบก 2.6 หมื่นชีวิตสัตว์ป่า หั่นงบฯ ดูแลจาก 90 ล้านเหลือ 10 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ โอดงบฯ ดูแลสัตว์ป่าถูกลดงบฯ จากก่อนโควิดได้ปีละ 90 ล้านบาท เหลือ 10 ล้านบาท สวนทางสัตว์ของกลางเพิ่ม สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยอมรับเงินไม่พอ ต้องใช้อย่างน้อยปีละ 55 ล้าน ดูแลสัตว์ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 2.6 หมื่นตัว แต่ยืนยันสัตว์ต้องกินอิ่ม

จากกรณีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาวิกฤตงบประมาณดูแลสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั่วประเทศ หลังพบปีนี้งบค่าอาหารถูกลดลงเข้าขั้นวิกฤต

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หน่วยงานที่ดูแลสัตว์ป่า ทั้งสัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าพลัดหลง และพ่อแม่พันธุ์ ของกรมอุทยานฯ มีทั้งหมด 27 แห่ง แบ่งเป็นสถานีเพาะเลี้ยง 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์ศึกษาและพัฒนาการจัดการสัตว์ป่า 1 แห่ง มีสัตว์อยู่ในความรับผิดชอบดูแล 26,000 ตัว

 

งบฯ ภาพรวมกรมอุทยานฯ ถูกตัดลดไปกว่า 1,000 ล้านบาท กระทบทุกส่วนทุกกิจกรรม ซึ่งกรมฯ จึงต้องจัดสรรว่าสิ่งใดจำเป็นเร่งด่วนก็ให้กระทบน้อยที่สุด หรือดึงส่วนอื่น ๆ เข้ามาเสริม ก่อนสถานการณ์ COVID-19 สำนักอนุรักษ์ฯ มีเงินรายได้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ประมาณปีละ 90 ล้านบาท แต่ปัจจุบันลดมาเหลือปีละ 10 กว่าล้านบาท หากมีเม็ดเงินมาเติมเต็มก็จะเสริมสภาพคล่องในการทำงานมากขึ้น

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยอมรับว่า งบประมาณในปี 2565 ค่อนข้างไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับปี 2564 ซึ่งกรมอุทยานฯ แก้ปัญหาด้วยการแบ่งเงินจากส่วนอื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น เงินรายได้การเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมทั้งประสานงานภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการรับบริจาคอาหารบางส่วนมาช่วยเหลือสัตว์ป่า บนฐานความคิดว่า "สัตว์ต้องกินอิ่ม นอนหลับ ไม่มีปัญหาแน่นอน"

 

สัตว์ป่าของกลางเพิ่ม สวนทางลดงบฯ

นายสมปอง กล่าวว่า ทุก ๆ ปี มีสัตว์ของกลางในคดี และสัตว์ที่ต้องแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะสัตว์หลายชนิดไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ โดยงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับดูแลสัตว์ในภาพรวม ปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 55 ล้านบาท ซึ่งรายจ่ายที่ใช้ในปีถัด ๆ ไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนประชากรสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่าของกลาง แต่ไม่สามารถระบุตัวเลขแน่ชัดได้ ขึ้นอยู่กับการเข้าจับกุมดำเนินคดีและชนิดของสัตว์

งบฯ ดูแลสัตว์ต้องไม่น้อยกว่าปีละ 55 ล้านบาท เพราะของกลาง การตรวจยึดจับกุมเพิ่มขึ้นทุกปี 

ยกตัวอย่างเคสยึดนกอาจกินอาหารไม่มาก แตกต่างจากเสือที่มีค่าอาหารสูง เช่น เคสเสือโคร่งวัดป่าหลวงตาบัว เป็นสายพันธุ์เบงกอล ไซบีเรีย และพันธุ์ผสมสองสายพันธุ์ ขณะนี้เหลือ 46 ตัว ต้องเลี้ยงจนกว่าหมดอายุขัย ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้ เนื่องจากไม่ตรงกับเสือโคร่งในป่าไทยที่เป็นสายพันธุ์อินโดจีน อีกทั้งเสือดังกล่าวไม่มีสัญชาตญาณป่า ล่าสัตว์เองไม่เป็น ส่วนสัตว์ป่าที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ก็จะปล่อยคืนทั้งหมด ยกตัวอย่างช้างป่า เมื่อดูแลสุขภาพแล้วจะปล่อยในพื้นที่ที่มีแหล่งอาหาร หรือถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม

สัตว์แก้ไขปัญหาเยอะ สัตว์ของกลางเยอะ สายพันธุ์ไม่ตรงกับสัตว์ป่าของไทย ปล่อยไม่ได้ หลายชนิดที่เป็นปัญหา เราต้องเลี้ยงเขาตลอดชีวิต

 

สำหรับสัตว์กินเนื้อมีทั้งหมด 500 กว่าตัว เช่น เสือ ต้องดูแลตลอดชีวิตและมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องซื้ออาหารให้อย่างเดียว ส่วนสัตว์กินพืช สัตว์กีบ ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก สามารถหาอาหารทางธรรมชาติช่วยเสริมได้ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหัวอาหาร ยารักษาโรค วัคซีน เป็นรายจ่ายประจำที่ต้องดูแลตลอด

ใช้เงินรายได้อุดยังไม่พอ-ประสานภาคประชาสังคมช่วย

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นว่า ได้จัดสรรงบประมาณส่วนอื่นที่พอเหลือ และใช้เงินรายได้ของสัตว์ป่าตามมาตรา 60 พร้อมประสานงานภาคประชาสังคม ร่วมกันช่วยเหลือดูแลสัตว์

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ เก็บเงินรายได้ 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ ซึ่งใช้ในเรื่องอุทยานฯ และเก็บรายได้ค่าเข้า ค่าศึกษาธรรมชาติจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งรายได้ต่อปีประมาณ 10 กว่าล้านบาท โดยปี 2564 อยู่ที่ 16 ล้านบาท ก็นำมาช่วยเหลือดูแลสัตว์เกือบทั้งหมด

 

ขณะที่โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ยังคงดำเนินการอยู่ และส่งเงินไปยังสถานีเพาะเลี้ยงแต่ละแห่ง ผู้ใจบุญแต่ละคนอาจบริจาคเจาะจงตัวสัตว์ สถานีเพาะเลี้ยง หรือบริจาคในภาพรวม แต่การเรี่ยไรต่าง ๆ ต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรภาครัฐ ซึ่งต้องขออนุมัติเป็นรายปี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติและต้องปิดบัญชีก่อน

2 เดือน ยึดสัตว์ของกลาง 10 คดี นก-ลิงมากสุด

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบคดีลักลอบค้าสัตว์ป่า เพียง 2 เดือน ของปี 2565 อย่างน้อย 10 คดี สัตว์ของกลางส่วนใหญ่เป็นนก ลิงแสม

  • 6 ม.ค.25565 ยึดนกกะรางคอดำ 5 ตัว
  • 11 ม.ค.2565 ยึดนกอีลุ้ม 12 ตัว นกอีล้ำ 5 ตัว นกกวัก 2 ตัว และนกเขาไฟ 1 ตัว
  • 14 ม.ค.2565 ยึดนกปรอดหัวโขน 32 ตัว นกปรอดคอลาย 7 ตัว นกปรอดตาแดง 7 ตัว นกปรอดศรีไพรตาแดง 2 ตัว นกกางเขนดง 3 ตัว นกเขียวก้านตองใหญ่ 1 ตัว นกเขียวก้านตองเล็ก 1 ตัว นกหกเล็ก 1 ตัว นกปรอดทอง 1 ตัว
  • 19 ม.ค.2565 ยึดนกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก 11 ตัว
  • 5 ก.พ.2565 ยึดลิงแสม 21 ตัว และเหี้ย 39 ตัว ถูกขังในโรงเรือนพื้นที่ จ.พิจิตร
  • 10 ก.พ.2565 ยึดนกกระรางหัวขวาน 9 ตัว เหยี่ยวขาว 1 ตัว นกแสก 2 ตัว นกเค้าจุด 4 ตัว ในพื้นที่กรุงเทพฯ
  • 14 ก.พ.2565 ยึดนกกางเขนดง 2 ตัว ในพื้นที่มีนบุรี กรุงเทพฯ
  • 15 ก.พ.2565 ยึดลูกแมวดาว 3 ตัว ในพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
  • 17 ก.พ.2565 ยึดลิงแสม 30 ตัว ถูกขังในบ้านร้าง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
  • 18 ก.พ.2565 ยึดลูกลิงกัง 1 ตัว ในพื้นที่กรุงเทพฯ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

วิกฤต! งบอาหารสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงฯ ถูกลด 60% 

ปรับเมนูใหม่ให้ "เสือ-ลิง-หมี" สถานีเพาะเลี้ยง ถูกหั่นงบฯ 60% 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง