"รัสเซีย" ขัดแย้งกับ "ยูเครน" เพราะอะไร

ต่างประเทศ
22 ก.พ. 65
14:25
85,876
Logo Thai PBS
"รัสเซีย" ขัดแย้งกับ "ยูเครน" เพราะอะไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดที่มาความขัดแย้งระหว่างยูเครน และรัสเซีย ว่าเกิดอะไรขึ้นบริเวณชายแดน ขณะที่สหรัฐฯ และนาโต มีความสำคัญยังไง หากเกิดสงครามแล้วจะส่งผลอย่างไร

วันนี้ (22 ก.พ.2565) "ยูเครน" เป็นประเทศที่คั้นกลางระหว่างรัสเซีย และยุโรป ด้านบน เป็นเบลารุส ด้านซ้ายเป็นโปแลนด์ ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทหารรัสเซียไปประจำการบริเวณชายแดน มีทั้งรถถัง ปืนใหญ่ เครื่องกระสุน และกำลังทางอากาศ แม้ว่าผู้นำรัสเซียจะยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจจะบุกยูเครน แต่นานาชาติกังวล และระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัสเซียจะบุกยูเครน

นักวิชาการมองรัสเซียรื้อฟื้น "จักรวรรดินิยม"

นายอดุลย์ กำไลทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย เปิดเผยว่า ทางยุโรปรู้ว่ารัสเซียกำลังคืบคลาน โดยการรื้อฟื้นระบบจักรวรรดินิยมแบบโซเวียตกลับมาใหม่อีกครั้ง และผลที่เห็นชัดคือได้ไครเมียไปแล้ว และอนาคตถัดไปอาจจะเป็นยูเครนตะวันออก หรืออาจจะเป็นยูเครนทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงมีความหวาดระแวงกัน

ขณะเดียวกัน ทางรัสเซียมีความไม่สบายใจ และคิดว่าเกมที่สหรัฐฯ และตะวันตกพยายามเข้ามา ทำให้ยูเครนเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะเป็นข้ออ้างสำคัญในการนำไครเมียมาให้ยูเครน

"ยูเครน" แยกตัวออกมาหลังโซเวียตล่มสลาย

ในอดีต รัสเซียและยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ต่อมาในปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลาย ทำให้ยูเครนประกาศอิสรภาพ แยกตัวออกมา แต่ยูเครน ถือว่าเป็นประเทศที่ไม่ได้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เพราะว่ามีนโยบายการต่างประเทศที่ไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนรัสเซีย หรือสนับสนุนยุโรป

ปี 2013 คือบททดสอบว่ายูเครนจะเข้าร่วมฝั่งตะวันตกอย่างยุโรป หรือจะกลับไปสู่อ้อมอกของรัสเซียอีกครั้ง ซึ่งในขณะนั้น ยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช กำลังจะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) แต่สุดท้ายไปลงนามกับรัสเซีย จับไม้จับมือกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ชาวยูเครนหลายคนเลยมองว่านี่อาจจะเป็นการกดดันจากรัสเซีย ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี วิกเตอร์ ที่ถูกมองว่าเข้าข้างรัสเซีย ที่กรุงเคียฟในยูเครน หากพูดให้เห็นภาพคือรัสเซียสนับสนุน วิกเตอร์ ยานูโควิช ส่วนสหรัฐฯ และยุโรป สนับสนุนผู้ประท้วง

ในปี 2014 กองกำลังความมั่นคงของยูเครน ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ ทำให้ประธานาธิบดี ยานูโควิช ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ สุดท้ายประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครน ได้ลงนามข้อตกลงกับอียู

"รัสเซีย" ใช้กำลังผนวกไครเมียในปี 2014

ในเวลาเดียวกัน ในเดือน มี.ค.2014 รัสเซียใช้กำลังผนวกเขตไครเมีย ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองชาวรัสเซียในเขตไครเมีย โดยคนส่วนใหญ่ที่ไครเมีย พูดภาษารัสเซีย

จากนั้น จัดการลงประชามติ ส่งผลให้ไครเมียประกาศอิสรภาพจากยูเครน และผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่นานาชาติไม่รับรองความชอบธรรมในการออกเสียงในครั้งนั้น

ยุโรปหวั่นเสียท่า "รัสเซีย-ปูติน" อีกครั้ง

นายอดุลย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ปี 2014 เป็นเหตุการณ์ที่ใครก็คิดไม่ถึงว่า ปูติน จะมามุกนี้ ซึ่งจริงๆ เหตุการณ์ปี 2014 เกิดจากการที่ก่อนปี 2014 รัฐบาลยูเครนเป็นรัฐบาลที่สนับสนุนรัสเซีย ขณะที่ตะวันตกสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลง

แต่พอได้ผู้นำใหม่ที่สนับสนุนตะวันตก ก็เกิดปะทะกันในสงครามการเมืองก่อน และรัสเซียใช้เหตุการณ์นี้เข้ามาเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวรัสเซียที่อยู่ในไครเมีย แล้วเลยกลายเป็นการประกาศเอกราชขึ้นมา และเข้ามาอยู่รวมกับรัสเซีย

สำหรับเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่คิดไม่ถึง แต่กลายเป็นว่าพอเกิดขึ้นแล้ว จึงกลายเป็นโดมิโน เอฟเฟกต์ กับแคว้นต่างๆ ทางตะวันตกไม่อยากให้มีการซ้ำรอย และมองว่ารัสเซียน่าจะใช้กลยุทธ์เดิมๆ

แต่มองว่าการกระทำของยุโรปตอนนี้กลัวว่าเสียท่ารัสเซียและปูตินอีกครั้ง เพราะรัสเซียน่าจะมีแผนอะไรบางอย่างที่สามารถที่จะยึดอะไรบางอย่างได้และหาความชอบธรรมเหมือนที่เคยทำแล้วในกรณีของไครเมีย

พลเรือนเสียชีวิตนับหมื่นจากเหตุบุกดอนบาส

นอกจากการสู้รบที่ไครเมีย รัสเซียส่งกำลังพลบุกเขตดอนบาสอย่างหนัก ซึ่งการสู้รบทางตะวันออกของยูเครนในปี 2014 ทำให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน และมีผู้คนที่พลัดถิ่นมากกว่า 1,000,000 คน

จากความขัดแย้งนี้นำไปสู่ข้อตกลงสนธิสัญญาที่กรุงมินสค์ ของประเทศเบลารุส ในปี 2015 หนึ่งในข้อตกลงคือการหยุดยิง แต่รัสเซียก็ยังมีการละเมิดข้อตกลงนี้หลายครั้ง

ปี 2019 ผู้นำของรัสเซีย ยูเครน เยอรมนี และฝรั่งเศส ร่วมประชุมอีกครั้งที่กรุงปารีส ย้ำถึงข้อตกลงที่เคยคุยกันในปี 2015

เปิดที่มา "นาโต" อีกตัวละครที่สำคัญ

ส่วนอีก 1 ตัวละครที่สำคัญ คือนาโต ซึ่งป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหารของประเทศประชาธิปไตย ฝั่งซีกโลกเหนือ ก่อตั้งขึ้่นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ ซึ่งในขณะนั้นคือสหภาพโซเวียต ซึ่งยึดถือหลักการว่าการโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด

นายวิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวว่า ตามกฎบัตรของนาโต ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิกนาโต ถูกรุกราน สมาชิกนาโตทั้งหมดจะเข้าช่วย

อย่างไรก็ตาม เบลารุส และยูเครน ไม่ใช่สมาชิกของนาโต การที่รัสเซียบุกเข้าไปในยูเครน ไม่เป็นผลทำให้นาโตต้องตอบโต้ในแง่ของนาโต แต่จะเป็นในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ ในแง่ของยูเครนเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งจะต้องโต้ในประเด็นนั้น

"ปูติน" หวั่นยูเครนเป็นสมาชิกนาโต

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า ลองนึกดูว่ายูเครนเป็นสมาชิกของนาโตที่เต็มไปด้วยอาวุธ พร้อมระบบโจมตีที่ทันสมัยในลักษณะเดียวกับโปแลนด์และโรมาเนีย ใครจะหยุดยั้งได้ และเริ่มดำเนินการในไครเมีย ผมยังไม่ได้พูดถึงในเขตดอนบาสด้วยซ้ำ นี่คืออาณาเขตของรัสเซียที่มีอำนาจอธิปไตย

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ประธานาธิบดีปูตินเพิ่งมาพูดเองล่าสุดว่า เขารู้เกมทันทีว่าพอยูเครนเป็นสมาชิกนาโตเมื่อไหร่ จะมีการปะทะกันทันทีว่ายูเครนจะต้องเอาไครเมียคืนมา ซึ่งจะเป็นสงครามครั้งใหม่ และไม่ยอมแพ้ ซึ่งรัสเซียไม่ยอมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นทันที ถ้ายูเครนเป็นสมาชิกของนาโต

แต่ว่านอกเหนือจากเหตุการณ์ความรุนแรง เป็นเรื่องของความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียด้วย เพราะว่าไครเมียเหมือนเป็นรั้วบ้านของรัสเซีย การที่คู่แข่งตลอดกาลของรัสเซียเข้ามาสหรัฐฯ และพันธมิตร คือเป็นการล้อมรั้วบ้าน

ซึ่งรัสเซียรู้สึกว่าไม่สามารถขยับไปไหนได้อีกแล้ว ซึ่งรัสเซียยอมไม่ได้ เพราะฉะนั้น จุดยืนตอนนี้คือมีทางเดียวที่ปูตินจะยอมก็คือต้องมีการลงนาม หรือยืนยันเป็นทางการว่าไม่ให้ยูเครนเป็นสมาชิกของนาโต

สาเหตุที่นาโตกำลังเป็นตัวละครสำคัญ เพราะนาโตได้ส่งกองกำลังไปประจำการบริเวณโดยรอบของยูเครน ซึ่งถ้าเทียบขุมกำลังของรัสเซีย และยูเครน จะเห็นได้ว่ายูเครนยังห่างไกลจากรัสเซียมาก นาโตจึงต้องส่งกองกำลังไปสนับสนุน ในขณะที่ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต

ประธานาธิบดีปูติน จึงกล่าวหาชาติตะวันตกว่ากำลังใช้นาโตเข้าปิดล้อมรัสเซีย และสหรัฐฯ กำลังละเมิดคำมั่นในปี 1990 ที่เคยบอกว่านาโตจะไม่ขยายอิทธิพลเข้าไปในโลกฝั่งตะวันออก

เทียบขุมกำลัง "ยูเครน" แพ้รัสเซียทุกประตู

จากข้อมูลของ Global Firepower, IISS Military Balance ระบุยูเครนมีกำลังพล 1,100,000 คน เครื่องบินโจมตี 98 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 34 ลำ รถถัง 2,596 คัน รถหุ้มเกราะ 12,303 คัน และปืนใหญ่แบบลากจูง 2,040 คัน ขณะที่รัสเซีย มีกำลังพล 2,900,000 คน เครื่องบินโจมตี 1,511 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 544 ลำ รถถัง 12,240 คัน รถหุ้มเกราะ 30,122 คัน และปืนใหญ่แบบลากจูง 7,571 คัน

ขณะนี้ สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปประจำการที่ประเทศพันธมิตร และจะส่งทหารเข้าไปในยูเครน ถ้านาโตตัดสินใจจะตอบโต้ฉับพลัน ซึ่งสหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะส่งทหารเข้าไปประจำการในยูเครนด้วยตัวเอง แตว่าได้ส่งอาวุธเข้าไปช่วยเหลือทั้งเครื่องกระสุนปืนขีปนาวุธต่อต้านรถถัง และอาวุธเจาะเกราะ

"ไบเดน" ขู่ปูตินจะมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อแรก ผมคิดว่าปูตินยังคงไม่ต้องการให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบ ข้อสอง ถามว่าผมคิดว่าเขาจะทดสอบตะวันตก ทดสอบสหรัฐฯ และนาโต ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือไม่ ใช่ ผมคิดว่าเขาจะทำ แต่เขาจะมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาลสำหรับมัน ซึ่งตอนนี้เขายังไม่ได้นึกถึงว่ามันต้องแลกกับอะไร
และผมคิดว่าเขาจะเสียดายที่ทำมัน

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้ารัสเซียบุกยูเครน คือนาโต และประเทศพันธมิตร จะตอบโต้ในสมรภูมิรบครั้งนี้ ประชาชนจำนวนมากอาจจะเสียชีวิต และอพยพหนีการสู้รบ รวมถึงอาจจะเกิดการคว่ำบาตรระหว่างกันด้วย

"ปูติน" อาจอ้างส่งกำลังไปปกป้องชาวรัสเซีย

ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวว่า ตัวหลักคือประธานาธิบดีปูตินเพียงคนเดียว เพราะว่าปัจจุบันนี้ สมมติว่ามีการส่งกำลังเข้าไปในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวรัสเซียอาศัยอยู่ด้วย ทางประธานาธิบดีปูตินอาจจะอ้างว่าเข้าไปปกป้องชาวรัสเซียด้วย ลักษณะการปะทะกันย่อยๆ กับยูเครน อาจจะเกิดขึ้นได้ก่อน ไม่ถึงขนาดจะเป็นการรุกรานข้ามประเทศโดยตรง

แต่ต้องได้รับการร้องขอจากยูเครนก่อน ทางสหรัฐฯ จึงจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือโดยตรงได้ หรือการกระทำของปูตินเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง เช่น เป็นการโจมตีอย่างร้ายแรง อาจจะออกภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ หรือว่าภายใต้มติขององค์การสหประชาชาติ

สำหรับรัสเซีย เป็นประเทศที่ครอบครองก๊าซธรรมชาติ 1 ใน 5 ของทั้่งโลก โดยแก๊สพรอม บริษัทด้านพลังงานของรัสเซีย ซึ่ยุโรปพึงพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย มากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งหมดต่อปี และยูเครนได้รับก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ร้อยละ 50 ของที่ใช้ในยูเครน ผ่านเครือข่ายท่อส่งก๊าซหลายประเทศในยุโรป

แต่ช่วงหลัง รัสเซียพยายามลดบทบาทของยูเครนลงด้วยการสร้างท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 และนอร์ด สตรีม 2 ยิงตรงไปยังเยอรมนี ผ่านทะเลบอลติก โดยเฉพาะนอร์ด สตรีม 2 ที่ยูเครนจะไม่ได้รับรายได้จากค่าผ่านทางในการเดินท่อส่งก๊าซต่อไป

ฟันธง "รัสเซีย" ใช้ท่าไม้ตายตัดแก๊สไปยุโรป

นายอดุลย์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่รัสเซียใช้เป็นเครื่องมือที่ได้ผลดีที่สุด คือนโยบายด้านพลังงาน การใช้พลังงานเป็นเครื่องมือทางการทูตในการกดดันชาติยุโรป ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่มีความขัดแย้งกันระหว่างรัสเซีย และยุโรป และรัสเซียก็มีการตัดแก๊สทันที และเลือกตัดในช่วงฤดูหนาวด้วย และทุกครั้งที่มีการตัดแก๊สตัดพลังงาน ยุโรปจะต้องเป็นฝ่ายมาอ้อนวอนขอร้องและคืนดีกับรัสเซียทุกครั้ง

ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ได้ผลมากๆ ซึ่งท่อแก๊สจะไปถึงทุกบ้านเหมือนน้ำประปา ถ้ามีการตัดแก๊สเหมือนไม่มีน้ำประปาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องของความอบอุ่นและการประกอบอาหาร เพราะฉะนั้น ชาวยุโรปยอมไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง ท่อนอร์ด สตรีม 2 จึงทางออกที่จะแก้ปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืนของยุโรป แต่วาต้องแลกมาด้วยการอาจจะเป็นเบี้ยล่างของรัสเซียในด้านพลังงานอย่างถาวร

ก๊าซธรรมชาติอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัสเซียบุกยูเครน เพราะรัสเซียกลัวว่ายูเครนไปสนิทสนมกับสหรัฐฯ มากเกินไป อาจจะเป็นการเปิดทางให้บริษัทพลังงานของสหรัฐฯ อย่างเชฟรอน และเอกซอน มีบทบาทในเชิงพลังงานมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของแก๊สพรอม ของรัสเซีย แต่ความหนักใจน่าจะไปตกอยู่ที่ประเทศปลายทางอย่างเยอรมนี

ผู้นำเยอรมนีบินไปสหรัฐฯ ต่อรองให้ได้ข้อสรุป

ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย กล่าวว่า เยอรมนีตอนนี้อาจจะคุยกับรัสเซียในลักษณะแบบเพื่อนมากกว่า คงไม่ได้เป็นการข่มขู่หรือบังคับ อาจจะเป็นในลักษณะขอร้อง แต่มองว่ารัสเซียหลังพิงฝาแล้ว ไม่ถอยแน่นอน

เพราะฉะนั้น ถ้าตัดแก๊สก็คือตัด ซึ่งรัสเซียอาจจะเดือดร้อนในการได้ค่าก๊าซน้อยลง แต่ไม่ได้เดือดร้อนเหมือนยุโรป นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมผู้นำของเยอรมนีจึงต้องไปด่วนที่สหรัฐฯ เพื่อต่อรองให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น ผลเสียเรื่องพลังงานจะไปตกอยู่ที่เยอรมนี

แนะคนไทยติดตาม-รับมือสถานการณ์

นายอดุลย์ กล่าวว่า ถ้าความรุนแรงเกิดขึ้น อย่างแรงมากที่สุด จะส่งผลในเรื่องของเศรษฐกิจแน่นอนในเรื่องของราคาพลังงาน และนอกจากเรื่องของราคาน้ำมันและก๊าซแล้ว จะส่งผลในเรื่องราคาทองคำจะเพิ่มสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อจะตามมาด้วย

ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น ยุโรปจะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง และยุโรปที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ก็จะส่งผลกระทบทั้งหมด ส่วนทางประเทศไทยและคนไทยต้องเตรียมความพร้อม หรืออาจจะต้องติดตามสถานการณ์ หรือพยายามระมัดระวังในเรื่องของการลงทุนในอะไรที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องพลังงานและทองคำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯ คว่ำบาตร "โดเนทสค์-ลูฮันสค์" หลังรัสเซียรับรองเอกราช

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง