บทวิเคราะห์ : เรื่องเลือกตั้งกับสงคราม (ข่าวลวง)

การเมือง
25 ก.พ. 65
16:17
260
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เรื่องเลือกตั้งกับสงคราม (ข่าวลวง)
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ถ้าไม่ใช่คนหูเบา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ สามารถบอกได้ว่า เป็นไปตามคาด ร่างกฎหมาย(พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ) ว่าด้วยเลือกตั้งส.ส.ผ่านวาระ 1 รับหลักการ ตั้งกรรมาธิการแปรญัตติไปเรียบร้อย

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ร่างกฎหมาย (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ) ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็คงจะผ่านวาระรับหลักการ สู่ชั้นแปรญัตติเช่นกัน แต่จะครบทั้ง 6 ฉบับหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะทั้งร่างของพรรคเพื่อไทย เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และคณะ กับร่างของพรรคประชาชาติ เสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ล้วนเรียกแขกชัดเจน กรณี ม.28 และ 29 ทำให้ตกเป็นเป้าจะโดน 'จัดหนัก' จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก

มองในมุมบวก ถือได้ว่า เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย คนที่มีความเห็นต่าง สามารถใช้เวทีสภาในการอภิปรายชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ก่อนจะใช้ลงมติโหวตเสียง ดีกว่าจะใช้กลไกอื่น เช่น การปิดล้อม สร้างความรุนแรง กระทั่งต้องลงสู่ท้องถนน เข่นฆ่าประหัตถ์ประหารกันไม่จบสิ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ในช่วงรอยต่อสำคัญ ในอีกด้านหนึ่ง ได้ปรากฏข้อมูลข่าวสารที่สร้างความสับสน และไม่แน่ใจในสถานการณ์การเมืองช่วงเวลานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เสพสื่อพึงต้องระมัดระวังและกลั่นกรองให้รอบคอบ

โดยเฉพาะข่าวลือ ส.ว.เตรียมโหวตคว่ำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งในทางปฏิบัติ ไม่อาจเป็นไปได้แล้ว เนื่องจากเพิ่งผ่านการแก้ไขรัฐธรรนูญ มาตรา 83 และ 91 มาได้ไม่นาน

ถึงจะโหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฉบับ ก็จะไม่มีผลทำให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวได้ เพราะกฎหมายแม่หรือรัฐธรรมนูญผ่านการแก้ไขแล้ว การจะกลับใช้บัตรใบเดียวได้ มีทางเดียวคือต้องกลับไปแก้รธน.ใหม่อีกรอบหนึ่ง

แต่กรณีนี้ จะหาเหตุผลอะไรไปอ้างกับประชาชนเพื่อแก้รัฐธรรมใหม่อีกรอบขณะเดียวกัน จุดยืนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้ ยังจะมีประชาชนศรัทธาหรือสนับนุนอีกหรือ?

กับอีกหนึ่งกระแสที่อ้างว่า ในการประชุมครม.ที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีจากพรรคแกนนำรัฐบาล พูดในที่ประชุมอยากให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวเหมือนเดิม แม้อาจจะมีการพูดในที่ประชุมครม.จริง แต่ฝ่ายบริหารก็ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้เช่นกัน ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่การแก้ไขรธน.อยู่ดี

มองในอีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการโหมกระพือของฝ่ายค้าน เพื่อตีกัน ไม่ให้ส.ว.โหวตคว่ำร่างกฎหมายลูก โดยเฉพาะ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่เปิดช่องคนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค สามารถชี้แนะ ชี้นำ และให้คำปรึกษาได้ โดยเพิ่มสาระในมาตรา 28 และ มาตรา 29 เดิม

ส่งผลให้กระแสข่าวเรื่องล้มกฎหมายลูก เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ทั้งที่ยังไม่สามารถทำได้ และในชั้นแปรญัญัติก็ไม่สามารถทำได้เกินกว่ากรอบหลักที่ผ่านการรับรองในวาระที่ 1

การบริโภคข้อมูลข่าวสารจึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จริงด้วยว่า สามารถเป็นไปได้หรือไม่ หาไม่แล้ว ข่าวผิด ข่าวลือ ข่าวปั่นหวังสร้างความสับสน จะเกิดขึ้นแบบไม่จบไม่สิ้น

ที่สำคัญต้องไม่แชร์ต่อในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือเรื่องที่ไม่แน่ใจ เพราะนอกจากจะทำให้โกลาหลเข้าใจผิดๆถูกๆ หรือเข้าทางคนที่หวังปั่นข่าวแล้ว

ยังมีสิทธิ์ผิดพ.ร.บ.ปี 60 ฐานนำเข้าข้อมูลอันเท็จอีกต่างหาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง