วันนี้ (7 มี.ค.2565) กองทัพรัสเซียใช้เวลานับสัปดาห์กว่าที่จะประกาศความสำเร็จในการควบคุมเหนือน่านฟ้ายูเครน แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง ประเมินว่า แม้ยูเครนจะเพลี่ยงพล้ำ แต่การป้องกันทางอากาศยังพอใช้การได้บ้าง
ภาพที่กองทัพยูเครนเผยแพร่ออกมา โดยอ้างว่าทหารยูเครนได้ยิงจรวดโจมตีเฮลิคอปเตอร์ของรัสเซีย ซึ่งภาพการโจมตีในลักษณะนี้ถูกยูเครนเผยแพร่ออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ รวมทั้งข่มขวัญคู่ต่อสู้
หากเปรียบเทียบขีดความสามารถทางการทหารของ 2 ประเทศแล้ว เรียกว่าเทียบกันไม่ติด และปัจจุบันเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียส่งกำลังพลเกือบทั้งหมดเข้าไปรบในยูเครนแล้ว ยังไม่นับทหารรับจ้างรัสเซียอีกหลายพันคนที่จะเข้าไปสมทบอีก ส่งผลให้คำถามในขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะชนะศึก แต่กลับเป็นคำถามว่ารัสเซียจะโค่นกองทัพยูเครนได้เมื่อใด
เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เคยกล่าวเอาไว้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นการปรามสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามในยูเครนโดยตรง ดังนั้นข้อเรียกร้องของยูเครนเรื่องประกาศเขตห้ามบินจึงเป็นไปไม่ได้
ส่วนสิ่งที่ชาติตะวันตกทำได้และทำมาตลอดตั้งแต่สถานการณ์เริ่มคุกรุ่น คือ การส่งอาวุธเข้าไปสนับสนุนกองทัพยูเครน สูงสุดถึงวันละ 17 เที่ยวบิน จาก 14 ประเทศ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น มีหลายชาติไม่เว้นแม้แต่เยอรมนี ที่กลับลำนโยบายที่จะไม่ส่งอาวุธไปในพื้นที่ขัดแย้ง นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสวีเดนที่พยายามมีจุดยืนเป็นกลางมาก่อนหน้านี้ แต่ที่ต้องจับตามองมากที่สุด หนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า นับตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ สหรัฐฯ อนุมัติการจัดส่งอาวุธไปให้ยูเครนไปแล้ว มูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ามากที่สุดที่เคยให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง
ช่วงความตึงเครียดเริ่มทวีความรุนแรง สหรัฐฯ อนุมัติเงินช่วยเหลือทางการทหารให้ยูเครนไปแล้ว 3 ระลอก และล่าสุด คือ 2 วัน หลังจากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน ซึ่งการจัดส่งอาวุธรอบนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากและจะส่งให้ครบภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้
อาวุธที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกส่งให้ยูเครน ที่น่าจับตามองอย่างมาก คือ ขีปนาวุธต่อต้านรถถังจาเวลินและขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานสติงเงอร์ ที่กลายมาเป็นเขี้ยวเล็บหลักในการต้านทานกองทัพรัสเซีย
ในการต่อกรกับรัสเซีย ล่าสุด ผู้นำยูเครนออกมาร้องขอเครื่องบินรบจากสหรัฐฯ ด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ยูเครนส่งทหารไปรอรับเครื่องบินรบจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่มีใครยอมมอบให้ เนื่องจากกังวลว่าหากสงครามบานปลาย ก็จะไม่เครื่องบินปกป้องตัวเอง
เครื่องบินรบที่ทหารยูเครนคุ้นเคย คือ เครื่องบินรบรุ่นที่ผลิตจากอดีตสหภาพโซเวียต หรือรัสเซีย และประเทศที่มีเครื่องบินรบรุ่นนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออก เช่น บัลแกเรีย สโลวาเกีย และโปแลนด์
สหรัฐฯ ระบุว่า กำลังหารือกับโปแลนด์เกี่ยวกับแนวทางที่พอจะเป็นไปได้ คือ การให้โปแลนด์ส่งเครื่องบินรบรุ่น MiG 29 ไปให้ยูเครน และสหรัฐฯ จะส่ง F16 ไปให้โปแลนด์แทน และแม้ว่าท่าทีของสภาคองเกรสหลังพูดคุยกับผู้นำยูเครนในเรื่องนี้จะเป็นไปในทิศทางบวก แต่การส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครนก็ยังคงเผชิญอุปสรรคหลายด้าน
ประการแรกสอดคล้องกับคำเตือนของโฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ที่ย้ำว่า ประเทศไหนยอมให้ยูเครนใช้ประโยชน์ เพื่อการสู้รบทางอากาศโจมตีรัสเซีย รัสเซียจะถือว่าประเทศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งไปด้วย
ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกอย่าง คือ สหรัฐฯ ยังไม่มีเครื่องบินรบ F16 ที่จะพร้อมส่งให้โปแลนด์ในเร็วๆ นี้ ดังนั้น เมื่อบวกรวมกับความกังวลถึงภัยคุกคามที่โปแลนด์อาจต้องเจอหลังจากนี้ ก็มีโอกาสที่แนวทาง 3 ฝ่ายนี้อาจจะต้องพับไป หรือต้องประเมินเงื่อนไขกันใหม่
ความช่วยเหลือทางการทหารที่หลั่งไหลเข้าไปในยูเครน นับได้ว่าเป็นการจัดส่งอาวุธครั้งประวัติศาสตร์ แต่เมื่อหันมาดูความคืบหน้าของสถานการณ์ รัสเซียกำลังใช้ยุทธวิธีแบบเดียวกับสมัยรบในเชชเนีย ปี 1999 และซีเรีย เมื่อปี 2016 ตอนนั้น รัสเซียใช้ความได้เปรียบในการรบทางอากาศและใช้การทิ้งระเบิดกดดันคู่ต่อสู้ จนนำไปสู่การสูญเสียในฝั่งพลเรือนเป็นจำนวนมาก