"โคลนาซีแพม" ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง ใช้ผิดเสี่ยงอันตราย

สังคม
12 เม.ย. 65
17:03
908
Logo Thai PBS
"โคลนาซีแพม" ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง ใช้ผิดเสี่ยงอันตราย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์ เตือนผู้ใช้ "โคลนาซีแพม" รักษาโรคลมชัก ช่วยคลายกังวล ย้ำต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ การนำไปใช้ในทางที่ผิด มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพและมีความผิดตามกฎหมาย

วันนี้ (12 เม.ย.2565) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โคลนาซีแพม (Clonazepam) หรือชื่อทางการค้า เช่น Convulsil, Prenarpil, Povanil, Clonaril, Ancoril และ Rivotril เป็นยาในกลุ่ม เบ็นโซไดอาเซพีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 4 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ออกฤทธิ์ กดประสาทส่วนกลาง

ในทางการแพทย์ใช้เป็นยากันชัก (Anticonvulsant) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชัก ช่วยคลายกังวลสำหรับผู้ที่เป็นโรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) และช่วยรักษาอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหว (Akathisia) โดยยาจะออกฤทธิ์ ยับยั้งการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท มีผลทำให้ผู้ใช้ยาลดอาการวิตกกังวลและตื่นตระหนกลงได้ ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ต้านอาการชัก

ผลข้างเคียงใช้ "โคลนาซีแพม" ง่วงซึม มึนศีรษะ สับสน 

สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้โคลนาซีแพมจะทำให้มีอาการง่วงซึม มึนศีรษะ สับสน จดจำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ อาจทำให้เกิดอาการใจสั่นหรือมีชีพจรเต้นเร็วในผู้ใช้บางราย มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจช้าลง หรือหายใจสั้นๆ หูแว่ว เห็นภาพหลอน มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวและการทรงตัว อารมณ์ไม่คงที่ เช่น ตื่นเต้นผิดปกติ พูดไม่หยุด โมโห โดยจะออกฤทธิ์นานประมาณ 8 ชั่วโมง ในผู้ที่ใช้ยานี้หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้หากมีการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ หรือใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้เสริมฤทธิ์การกดระบบประสาท หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า โคลนาซีแพมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งห้ามมิให้มีการจำหน่ายเว้นแต่ได้รับอนุญาต หรือมีใบสั่งจากแพทย์ เป็นยาที่ต้องควบคุมการใช้ เนื่องจากอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย หรือทำให้เกิดอาการติดยาได้หากไม่ระมัดระวังการใช้ หากมีการลักลอบจำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย

ใช้ในขนาดสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการดื้อยา-ติดยา

การใช้โคลนาซีแพมในขนาดสูงเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการดื้อยาและติดยาได้ ถ้าหยุดใช้ยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจเกิดอาการชัก

ทั้งนี้ โคลนาซีแพมสามารถละลายน้ำได้ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ทำให้ถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำไปใช้เพื่อหวังผลให้เกิดการมึนเมา หรือหมดสติ เป็นสาเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงต่างๆ ขอให้ระมัดระวังที่จะดื่มเครื่องดื่มจากผู้อื่น

นพ.สรายุทธ์ กล่าวย้ำเตือนกลุ่มผู้ใช้ยานี้เพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยต้องใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น ในกลุ่มผู้ที่คิดจะใช้โคลนาซีแพมไปในทางที่ผิดโดยไม่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในเรื่องการรักษาพยาบาลจะมีความผิดตามกฎหมายและให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง