ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศบค.ปรับพื้นที่เหลือ 2 สี "เหลือง-ฟ้า" ดื่มเหล้าในร้านได้ถึงเที่ยงคืน

สังคม
22 เม.ย. 65
13:35
2,740
Logo Thai PBS
ศบค.ปรับพื้นที่เหลือ 2 สี "เหลือง-ฟ้า" ดื่มเหล้าในร้านได้ถึงเที่ยงคืน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุม ศบค.เคาะปรับพื้นที่สถานการณ์โควิด-19 เพิ่มสีเหลืองเป็น 65 จังหวัดและสีฟ้า 12 จังหวัด เริ่มวันที่ 1 พ.ค.นี้ พร้อมคลายมาตรการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ไม่เกินเวลา 24.00 น.

วันนี้ (22 เม.ย.2565) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 (ศบค.) กล่าวถึงการพิจารณาปรับพื้นที่สถานการณ์โควิด-19 (ปรับสีพื้นที่) ของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า เห็นชอบให้วันที่ 1 พ.ค.นี้ จังหวัดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากเดิม 20 จังหวัด ปรับเป็น 0

ส่วนจังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จากเดิม 47 จังหวัด เพิ่มเป็น 65 จังหวัด และพื้นที่สีฟ้า (นำร่องท่องเที่ยว) จากเดิม 10 จังหวัด เพิ่มเป็น 12 จังหวัด (เพิ่ม จ.ระนอง-สงขลา)

ทั้งนี้ ไม่มีจังหวัดใดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง

สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค มีการปรับมาตรการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวและพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยจำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จากไม่เกินเวลา 23.00 น. เป็นไม่เกินเวลา 24.00 น. ต้องเป็นการอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น รวมถึงมาตรการ COVID Free Setting

พร้อมคงมาตรการสำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ตามมาตรการที่กำหนด โดยขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.

เร่งฉีดวัคซีนเด็กกลุ่มเป้าหมาย 5-17 ปี

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของคนทั่วไป เปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อในวัยเด็กถือว่ายังต่ำ ประมาณ 10% แต่อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มอายุ 0-5 ปีที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เสียชีวิตมากที่สุด 28 คน, ส่วนอายุ 6-18 ปี เสียชีวิต 17 คน จึงนำมาสู่การวางแผนมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน

นักเรียนอายุ 12-17 ปีควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ผ่านระบบการศึกษา และเร่งฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก

สำหรับสถิติเด็กได้รับวัคซีน กลุ่มอายุ 5-11 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เพียงร้อยละ 50, เข็ม 2 ร้อยละ 5.8 ส่วนกลุ่มอายุ 12-17 ปี ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุมร้อยละ 89.9, เข็ม 2 ร้อยละ 81.1 และเข็ม 3 ร้อยละ 1.6

เป้าหมายในขณะนี้จะพยายามให้เด็กเข้ารับวัคซีนมากขึ้น โดยเป็นเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปเพื่อให้ครอบคลุม ขณะที่แผนการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-17 ปี มีดังนี้

  • ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ที่ไม่ได้มารับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ตามนัด ผ่านระบบสถานพยาบาล
  • ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ในกลุ่มอายุ 5-11 ปี ผ่านระบบการศึกษา
  • ฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้น ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข้มตามเกณฑ์ ผ่านระบบการศึกษาและสถานพยาบาล

 

ขณะที่ผลการศึกษาวัคซีน "ไฟเซอร์" เข็มกระตุ้น ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี ที่มีประวัติได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม ซึ่งการวิจัยในเด็กอายุเฉลี่ย 15 ปีที่ได้รับวัคซีนครบแล้วเป็นเวลา 5 เดือน โดยการตรวจเลือดวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) เปรียบเทียบระหว่างวัคซีนครึ่งโดส (15 ไมโครกรัม) และวัคซีนเต็มโดส (30 ไมโครกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ผลศึกษาพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันชนิดลบล้างฤทธิ์ต่อเชื้อโอมิครอนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ทั้งการฉีดกระตุ้นขนาดเต็มโดสและครึ่งโดส ทั้งนี้การรับวัคซีนขนาดครึ่งโดส มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังการฉีดน้อยกว่าการรับวัคซีนขนาดเต็มโดส

เพราะฉะนั้นในที่ประชุม ศบค.เห็นชอบให้สามารถฉีดได้ในระดับครึ่งโดสให้เด็กอายุ 12-17 ปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง