สพฉ.-สุวรรณภูมิ ยืนยันแจ้ง 1669 รับผู้ป่วยในสนามบินได้ไม่เก็บเงิน

สังคม
27 เม.ย. 65
16:43
2,366
Logo Thai PBS
สพฉ.-สุวรรณภูมิ ยืนยันแจ้ง 1669 รับผู้ป่วยในสนามบินได้ไม่เก็บเงิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สพฉ.-สนามบินสุวรรณภูมิ ชี้แจงรถฉุกเฉิน 1669 เข้ารับผู้ป่วยในสนามบินได้ หลังเกิดกรณีในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุพ่อ ซึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ เกิดภาวะช็อก ระหว่างเข้าส่งผู้โดยสารที่สนามบิน แต่ต้องใช้รถรพ.เอกชนไปส่ง สุดท้ายพ่อเสียชีวิต ถูกเรียกเก็บเงิน 13,000 บาท

การเจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่สนามบิน กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจากที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก โพสต์เล่าเรื่องของพ่อ ที่เป็นคนขับแท็กซี่ เกิดภาวะช็อก ขณะเข้าไปส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยต้องใช้รถพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐใกล้กับสนามบิน สุดท้ายพ่อเสียชีวิต และยังถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอีก 13,000 บาท

วันนี้ (27 เม.ย.2565) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยืนยันว่า หากมีเหตุฉุกเฉิน สามารถแจ้งสายด่วน 1669 ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นำรถฉุกเฉินเข้ามารับผู้ป่วยในพื้นที่ได้ และไม่ได้มีนโยบายห้ามไม่ให้รถฉุกเฉินเข้ามาในพื้นที่

เคสดังกล่าวเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน ทีมแพทย์จึงนำส่งผู้ป่วยเพื่อรักษาต่อที่รพ.สิรินธร โรงพยาบาลของรัฐที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด ส่วนการเรียกเก็บเงิน ขอให้รพ.เอกชนที่เป็นผู้นำส่ง ชี้แจงเรื่องการจัดเก็บค่ารักษาพยาบาล 

ยันรถฉุกเฉิน 1669 รับผู้ป่วยในสนามบินได้ 

ขณะที่นายการันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษก สพฉ.กล่าวว่า สนามบินถือเป็นพื้นที่พิเศษ ที่มีระเบียบเฉพาะในการรักษาความปลอดภัย หากเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ในสนามบินมีทีมแพทย์ฉุกเฉินดูแล แต่ยืนยันว่าสามารถโทรสายด่วน 1669 ได้เช่นกัน เพื่อประสานทีมที่รับผิดในพื้นที่โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ต้องไปดูระเบียบของพื้นที่นั้น สพฉ.ไม่มีข้อมูล

การชี้แจงเกิดขึ้นหลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก โพสต์เล่าเรื่องของพ่อที่เป็นคนขับแท็กซี่ แล้วเกิดภาวะช็อก ขณะเข้าไปส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เมื่อโทร.1669 ได้รับแจ้งว่าเป็นเขตปกครองพิเศษ รถพยาบาลในระบบหรือมูลนิธิ เข้าไปรับไม่ได้

โดยทีมกู้ภัยของโรงพยาบาลเอกชนในท่าอากาศยาน เป็นผู้ส่งตัวไปรักษาต่อ แต่สุดท้ายพ่อเสียชีวิต และถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 13,000 บาท อ้างว่าเป็นค่ารักษาและค่าอุปกรณ์ก่อนนำตัวส่ง รพ. จึงตั้งคำถามว่า เหตุใดพื้นที่เกิดเหตุ จึงไม่สามารถใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินผ่าน 1669 ได้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง