The Exit : ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ สำคัญอย่างไร

สังคม
10 พ.ค. 65
14:00
1,126
Logo Thai PBS
The Exit : ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ สำคัญอย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ที่จะมีผลบังคับใช้ปีหน้าจะช่วยให้ประชาชนปลอดภัยจากผู้กระทำผิดที่มีลักษณะของความรุนแรง อุกฉกรรจ์ หรือมีสภาพจิตผิดปกติ รวมถึง มีความเสี่ยงสูงในการกระทำผิดซ้ำ ได้อย่างไร

เดือนธันวาคม 2556 นายหนุ่ย หรือ ติ๊งต่าง ชายสัญชาติเมียนมา ถูกจับ หลังก่อเหตุลวงเด็กหญิงอายุ 6 ขวบจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสแบริ่งไปฆ่าข่มขืน คำรับสารภาพของเขาทำให้รู้ว่า ในปีเดียวกัน มีเด็กอีก 2 คน ถูกนายหนุ่ยล่วงละเมิดทางเพศและใช้ความรุนแรงจนเสียชีวิต

ย้อนกลับไปปี 2551 นายหนุ่ยเคยก่อคดีอนาจารเด็กหญิงวัย 7 ขวบที่ จ.ขอนแก่น ครั้งนั้นเขาถูกจำคุก 3 ปี 8 เดือน 11 วัน หลังจากพ้นโทษในปี 2555 จึงออกมาก่อคดีซ้ำมีเด็กเสียชีวิตถึง 3 คน

รูปแบบพฤติกรรมการกระทำผิดซ้ำของนายหนุ่ย เป็นหนึ่งในกรณีศึกษา เพื่อวางแนวทางการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจงกับผู้กระทำความผิด ในคดีทางเพศ ชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ หรือความผิดลักษณะกระทำรุนแรง

ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อยู่ระหว่างวุฒิสภาลงมติรับหลักการ และ เตรียมความพร้อมบังคับใช้กฎหมาย ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ก่อนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ไทยพีบีเอสพูดคุยกับ ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ถึงความจำเป็น ความสำคัญ และ เป้าหมายของร่างกฎหมายนี้

 

มาตรการป้องกันกระทำผิดซ้ำ กลไกปกป้องประชาชน

กฎหมายมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ เป็นความพยายามอุดช่องโหว่ของกฎหมายปัจจุบัน ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะของความรุนแรง อุกฉกรรจ์ หรือมีสภาพจิตที่ผิดปกติจากคนทั่วไป รวมถึงผู้กระทำความผิดที่มีความเสี่ยงสูงในการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อให้มีกลไกเฝ้าระวังติดตามผู้กระทำความผิดภายหลังพ้นโทษต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 

กฎหมายฉบับนี้เสนอให้ติดตามกำกับพฤติกรรมต่อได้ถึง 10 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สำหรับบางคนที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด อาจกำหนดให้เขาทำตามเงื่อนไขบางอย่าง เช่น รับการบำบัดแก้ไข หรือ ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย หรืออาจต้องใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามสถานที่อยู่ ซึ่งอาจช่วยให้คนที่อาจจะตกเป็นผู้เสียหายในอนาคต รู้สึกมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นี่เป็นเป้าหมายสำคัญ

นักโทษส่วนใหญ่ที่ศาลพิพากษาให้จำคุกจำนวนมากกว่าครึ่งเมื่อพ้นจากเรือนจำแล้ว เรียกว่า พ้นแล้วพ้นเลย หมายความว่าไม่มีใครไปกำกับดูแลพฤติกรรมของเขาได้ และนักโทษส่วนหนึ่งในคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงจะกระทำผิดซ้ำ ภายในระยะเวลา 3 ปี ในลักษณะคดีคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้น แม้ว่าเขาอยู่ในเรือนจำจนครบกำหนดเวลาที่ศาลพิพากษาแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อเขาต้องออกจากเรือนจำ เขายังมีความเสี่ยงสูงกระทำซ้ำอยู่

กฎหมายนี้จะช่วยคุ้มครองทางสังคมโดยการให้อำนาจฝ่ายรัฐเข้าไปกำกับดูแลพฤติกรรมของเขา และกำหนดเงื่อนไขในการใช้ชีวิต อาจจะเป็นการห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามเข้าใกล้สถานที่บางอย่าง หากผิดเงื่อนไขจะมีบทลงโทษบางอย่าง

หัวใจของกฎหมาย : การคุ้มครองทางสังคม

กรณีหลังจากผู้กระทำความผิดพ้นโทษไปแล้ว กำหนดให้ต้องได้รับการแก้ไขฟื้นฟูระหว่างที่เขารับโทษอยู่ในเรือนจำด้วย เพราะเราเห็นแล้วว่า คนกระทำผิดเหล่านี้ไม่เหมือนคนทั่วไป เขาจะมีความผิดปกติบางอย่าง เช่น สุขภาพจิต หรือรสนิยมทางเพศผิดปกติ มีอาการทางจิตเวช มีอาการคลุ้มคลั่ง หูแว่ว ประสาทหลอน

เรามองว่าถ้าถึงวันใกล้ปล่อยตัวแล้ว การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการแก้ไขฟื้นฟูระหว่างรับโทษอยู่ในเรือนจำ เพราะฉะนั้น ถ้ากรณีป่วยจิตเวช หากได้รับยาที่ถูกต้อง ความเสี่ยงที่จะกระทำผิดซ้ำหลังจากพ้นโทษก็ลดลง

หลักเกณฑ์จะมีตั้งแต่ต้นทาง คือ เมื่อมีผู้กระทำผิดรับเข้า หากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงหรือมีความผิดปกติ ตำรวจจะต้องไปหาข้อมูลเชิงลึก เช่น ความเป็นอยู่ ที่มาที่ไป เรื่องของสังคมสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร เพื่อส่งประเมินเพิ่มเติมกับจิตแพทย์ หลังรวบรวมข้อมูลส่งพิจารณาต่อศาล

ที่ผ่านมา ศาลพิพากษาผู้กระทำผิดที่มีความผิดปกติเหล่านี้ตามหลักเกณฑ์ปกติเหมือนผู้กระทำผิดทั่วไป แต่กฎหมายฉบับใหม่บอกว่า ผู้กระทำผิดตั้งแต่รับเข้ามีความเสี่ยงทำความผิดร้ายแรงต่อเด็ก เช่น เป็นโรคใคร่เด็ก หรือพีโดฟีเลีย ถ้าไม่ได้รักษา ศาลอาจสั่งว่าให้อยู่ในเรือนจำ 20 ปีพร้อมรับการรักษาโดยมาตรการทางการแพทย์ เช่น การรับยาปรับฮอร์โมนทางเพศ มีเรื่องการเข้ารับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม จนสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความเสี่ยงลดลงแล้วจึงจะสามารถได้รับการปล่อยตัว

แนวคิดคุมขังต่อเนื่องหลังพ้นโทษ

 

ในการพิจารณาการพักโทษ ลดโทษ และอภัยโทษ ของกรมราชทัณฑ์ ต้องมีผลการรักษาของผู้ต้องขังประกอบการพิจารณาด้วย หมายความว่าถ้าผู้กระทำผิดไม่ดีขึ้น ไม่ให้ความร่วมมือหรือยังมีปัญหาความเสี่ยงสูงอยู่ คณะกรรมการจะไม่ได้พิจารณาการลดโทษให้ จึงต้องอยู่ระยะยาวจนครบตามคำสั่งศาล

เมื่อครบแล้วจะมีคณะกรรมการคัดกรองอีกรอบหนึ่งว่าบุคคลนั้นหายดีจริงหรือไม่ หากยังไม่ดีแต่หมดเวลาที่ศาลพิพากษาแล้ว คณะกรรมการสามารถพิจารณาต่อว่าจะสั่งคุมขังภายหลังการพ้นโทษหรือไม่แต่ไม่เกิน 3 ปี และให้รายงานสถานะทุกปี คือ ได้รับการรักษา และประเมินความปลอดภัย จึงปล่อยตัว

หากใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ 3 ปี ก่อนปล่อยตัวจะมีการประเมินอีก 1 รอบ ซึ่งมาตรการเฝ้าระวังหลังพ้นโทษ มีตั้งแต่กรณีเบา คือ รายงานตัวไปจนถึงสั่งห้ามเข้าใกล้เขต หรือ พื้นที่บางอย่าง ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการทำผิดซ้ำ เช่น ดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติด นอกจากนี้ต้องเข้ารับการรักษาประจำโดยต้องรายงานตัว พร้อมแนบผลการรักษาตามกำหนด เพื่อทำให้สังคมปลอดภัยจากผู้กระทำความผิดซ้ำ

แม้กฎหมายฉบับนี้มีจุดเด่น คือ เน้นคุ้มครองสังคมให้เกิดความปลอดภัยจากลุ่มคนที่มีความผิดปกติ เช่น ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ต้องใช้มาตรการควบคุมจากภายนอก และ เน้นแก้ไขฟื้นฟู ให้ได้รับการรักษามากกว่าการคุมขัง โดยผู้ต้องขังต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำสูงจึงจะใช้มาตรการนี้ แต่ถูกตั้งคำถามเรื่องการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังด้วยเช่นกัน

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ระบุว่า ผู้ต้องขังมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เพราะมาตรการทางยาต้องได้รับความยินยอมเพื่อให้มีความคืบหน้าในการบำบัด นอกจากนั้น ยังมีหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาสำหรับผู้กระทำผิดที่มีพฤติกรรมซ้ำซาก หมายความว่า อัยการจะเสนอต่อศาลตั้งแต่ก่อนมีคำพิพากษา ให้ใช้วิธีการเพิ่มระยะเวลากักกันหลังพ้นโทษ แต่การกักกันก็ต้องสั่งไปพร้อมคำพิพากษา และ จะต้องมีการกระทำผิดซ้ำ

กระทำผิดแม้เพียงครั้งแรก แต่หากตรวจสอบแล้วว่ามีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำซากซึ่งที่ผ่านมาเรื่องไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่กฎหมายนี้ทำให้ศาลใช้ดุลพินิจประกอบข้อมูลสั่งให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ แก้ไขฟื้นฟู รวมถึงมาตรการคุมขังหลังพ้นโทษได้กระทรวงยุติธรรม คือผู้เสนอร่างนี้ เราจะไม่เริ่มกระบวนการในผู้ต้องขังรายใหม่เท่านั้น แต่จะเริ่มคัดกรองตั้งแต่ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้

ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีนักโทษเด็ดขาดมากกว่า 200,000 คน ทั้งหมดจะถูกประเมินคัดกรองโดยเฉพาะนักโทษที่กระทำความผิดในมาตรา 3 คือ ฐานความผิดเกี่ยวกับการฆ่า ข่มขืน อนาจารเด็ก การทำร้ายร่างกาย หรือ มีความผิดต่อเสรีภาพ และ คดีอุกฉกรรจ์ผิดปกติ

กรณีที่ผู้ต้องขังกำลังจะพ้นโทษ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบันนี้ คือ คุ้มครองสังคมให้เร็วที่สุด จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า ไม่ใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นมาตรการคุ้มครองสังคม คัดกรองเฉพาะผู้กระทำความผิดที่มีความเสี่ยงสูงจริงๆ และคนกลุ่มนี้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ พบว่า ผู้ต้องขังอยู่ระหว่างรับโทษในเรือนจำที่เข้าหลักเกณฑ์พฤติกรรมอุกฉกรรจ์ ตามมาตรา 3 มีอยู่กว่า 10,000 คน หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ กรมราชทัณฑ์จะต้องเตรียมความพร้อมในการคัดกรองผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ และมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งในจำนวนนี้มีคดีที่ร้ายแรง เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

ถอดบทเรียนคดีติ๊งต่าง ผู้ต้องหาฆ่าและอนาจารเด็ก 3 ศพ

 

หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ก่อนที่ นช.ติ๊งต่างใกล้ถูกปล่อยตัว จากทั้งเหตุพักโทษ ลดโทษ อภัยโทษ หรือครบกำหนดโทษ เขาอาจต้องเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ว่า มีภาวะทางจิตเวชด้านใด เพราะก่อนหน้านี้ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องประเมินทางการแพทย์เพื่อระบุสาเหตุการกระทำผิดว่าเกิดจากทางกาย ทางสมอง หรือ ทางสติปัญญา หรือ จิตใจที่ผิดปกติ

จากนั้นจึงออกแบบการรักษา ผ่านข้อเสนอแนะของคณะกรรมการภายใต้การเฝ้าระวังภายหลังการพ้นโทษ ก่อนส่งให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษได้ถึง 10 ปี และ เงื่อนไขอื่นๆ เช่นสร้างประโยชน์ต่อสังคม เข้ามาตรการส่งเสริมอาชีพอาชีพ หรือ อาจมีคำสั่งห้ามทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เป็นต้น

 

กรณีนักโทษชายติ๊งต่างเขาได้รับการปฏิบัติเหมือนนักโทษทั่วไป หากการกระทำผิดนั้นเกิดจากสาเหตุป่วยจิตเวช และ ไม่ได้รับการรักษา หรือ รักษาไม่ถูกโรค เนื่องจากไม่ได้รับการประเมินตามระบบ ความเสี่ยงนั้นก็ยังคงอยู่ หรือ อย่างเช่นกรณีผู้กระทำความผิดที่แทงเด็กนักเรียนย่านสาทร หญิงคนนั้นป่วยทางจิตชัดเจนมาก เพราะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน อ้างว่ามีคำสั่งจากเบื้องบนให้ไปก่อเหตุ ซึ่งระหว่างรับโทษในเรือนจำ ก็ได้รักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วสาเหตุนี้เกิดจากการขาดยา และ เคสนี้เราได้โอกาสในการดูแลเขาในเรือนจำ หากมีการวินิจฉัยรักษาโรคอย่างถูกต้อง รวมทั้งการติดตามเฝ้าระวังก็อาจลดโอกาสกระทำเหตุการณ์รุนแรงซ้ำได้

มีข้อมูลว่า ผู้กระทำความผิดทุกคดีที่พ้นโทษแล้วพ้นเลยไม่มีการติดตาม มีมากกว่าร้อยละ 50 ในปีที่แล้วมีการศึกษาข้อมูลมากถึงร้อยละ 80 คือจบกระบวนการรับโทษและไม่สามารถไปติดตามกำกับดูแลพฤติกรรมได้ จึงมีความเสี่ยงสูงมาก คนกลุ่มนี้ต้องการคนที่ไปกำกับพฤติกรรมของเขาประกอบกับสถิติการกระทำความผิดซ้ำในปีแรกของผู้ต้องขังทุกคดี จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ปีที่ 2 เพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 20 และในปีที่ 3 มากกว่าร้อยละ 30

ส่วนนักโทษคดีทางเพศแล้วมาทำซ้ำคดีเพศอีกก็จะมีน้อย เพราะหลายเหตุปัจจัย ผู้เสียหายบางส่วนจะไม่รายงานถ้าเป็นคดีที่กระทำทางเพศกับเด็กเล็ก เพราะบางครั้งเด็กไม่รู้ว่าตัวเองถูกกระทำก็ไม่มีการแจ้งความแต่มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง หรือ หากเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกละเมิดทางเพศก็ไม่มีการรายงานทุกเคสไป เพราะฉะนั้น ข้อบ่งชี้จำนวนการกระทำผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศจึงไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

หลายครั้งพบการกระทำผิดซ้ำในข้อหาอื่น แต่พฤติกรรมความผิดปกติทางเพศที่ไม่ได้รับการรักษาก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น เป็นความท้าทายว่า คำจำกัดความของความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ คือ ซ้ำคดีเดิมหรือซ้ำคดีใหม่ แต่ในองค์ความรู้ของด้านอาชญวิทยา บ่งชี้ว่าคนบางคนจะทำผิดในทุกเรื่องเลย คือ เป็นพวกต่อต้านสังคม บุคลิกภาพผิดปกติ คืออะไรที่ละเมิดสิทธิคนอื่นได้ทำหมด

ถ้าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็กเล็ก จะพบว่าชอบที่จะข่มขืนอยู่เหมือนเดิม หากถามว่าจะโฟกัสอยู่ที่คดีประเภทนี้ ทำไมเหตุใดจึงไม่ทำคดีภาพใหญ่ อย่างเช่นเรื่องยาเสพติด ในคดีทางเพศและหากมีการกระทำซ้ำ มันเป็นคดีสะเทือนขวัญร้ายแรง และเกิดแผลทางใจกับผู้ที่เป็นผู้เสียหายและกินระยะเวลายาวนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญ ถ้าจะออกกฎหมายสักฉบับหนึ่งและคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กและสตรีให้ได้รับความปลอดภัยคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ

เบื้องต้นมีผู้กระทำความผิดเข้าหลักเกณฑ์พิจารณาตามมาตรการแก้ไขและฟื้นฟูผู้กระทำผิดซ้ำ ที่อยู่ระหว่างการรับโทษในเรือนจำ มากกว่า 15,000 คน

มีการศึกษาทบทวนแนวปฏิบัติที่ดีของหลายประเทศรวมกัน ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีกฎหมายเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ ทันทีที่เข้าข่ายกระทำผิดทางเพศจะมีการใส่รายชื่อเข้าไปในฐานระบบทั่วประเทศ และ เมื่อพ้นโทษข้อมูลส่วนบุคคลจะปรากฏทั้งหมด บางรัฐมีการประกาศแจ้งเตือนคนในชุมชนหากผู้ต้องหาพ้นโทษกลับมา ส่งผลให้อยู่ในชุมชนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเป้าหมายคืออยากให้กลับตัวเป็นคนดี เราไม่ใช้การประจาน การขึ้นทะเบียนดังกล่าวจึงยังไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจน สิ้นเปลือง และไม่มีผลในการป้องกันการกระทำผิดทางคดีเพศ

ต่อมาในเรื่องของการรักษาด้วยยา มันจะมีบางประเภทที่เริ่มใช้ฮอร์โมนรักษากับผู้กระทำผิดทางเพศที่ซ้ำซากและรุนแรง และเป็นอาชญากรต่อเนื่อง แต่กรณีนี้ก็เป็นบทเรียนว่าจะไม่สามารถบังคับรักษาใครได้ ผู้กระทำผิดจะต้องยินยอม โดยแลกกับหลักเกณฑ์อะไรบางอย่าง

 

แนวทางกฎหมายของเราคือต้องรักษาด้วยความสมัครใจ หรือ คัดกรองตั้งแต่ระหว่างคำพิพากษา รวมทั้งการคุมขังฉุกเฉินก็เป็นต้นแบบมาจากประเทศออสเตรเลียที่ใช้วิธีนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าเจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่จะคุ้มครองทางสังคมได้ ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุ แล้วค่อยจับ ถ้าเรามีเหตุบ่งชี้ที่จะหยุดพฤติกรรมเขาได้ สามารถจับกุมไว้ชั่วคราวก่อนได้เพื่อยับยั้งพฤติกรรมที่ร้ายแรงกว่า ก็จะทำให้สังคมเกิดความรู้สึกมีที่พึ่ง และสามารถเข้าไปจัดการกับคนเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที

ก่อนที่ร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ จะมีเรื่องของการเตรียมความพร้อม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข และศาลอาจจะต้องออกข้อบังคับ กฎกระทรวงเพื่อรองรับข้อบังคับต่างๆ หรือศาลจะพิพากษาอย่างไรให้มีเรื่องมาตรการของทางการแพทย์และเรื่องของการฟื้นฟู ประกอบพร้อมกันไป เป็นเรื่องใหม่มากๆ อย่างเช่นทางกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีสถานที่ในการคุมขังฉุกเฉิน กรณีที่มีการส่งตัวเข้ามา หรือเรื่องการควบคุมตัวภายหลังพ้นโทษ ก็อาจจะต้องมีสถานที่รองรับหรือกระบวนการคัดกรองกลุ่มคนเสี่ยงสูงจะใช้ข้อบ่งชี้อย่างไร รวมถึงการออกแบบระบบการรักษาบำบัดและฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้มีกระบวนการเชื่อถือและมั่นใจได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง