บทวิเคราะห์ : “ชัชชาติ” ฟีเวอร์

การเมือง
3 มิ.ย. 65
10:42
1,891
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : “ชัชชาติ” ฟีเวอร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ตอนนี้ หันไปทางไหน มีแต่ “ชัชชาติ” กับ “ชัชชาติ” ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ยังรวมถึงผู้คนในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย

ชื่นชม ศรัทธา และอยากรู้ ถึงขั้นติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวทุกอย่างของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่ ชนิดนาทีต่อนาทีจากสาระพัดสื่อที่มีนำเสนอ

ดูแล้วเป็นกระแสฟีเวอร์ มากกว่าคดีหวย 30 ล้านบาท ระหว่าง ครูปรีชา ใคร่ครวญ กับ ร.ต.ท.จรูญ วิมูล และจะมากกว่าคดีน้องชมพู่ที่มี “ลุงพล” นายไชย์พล วิภา หรือ และ “ป้าแต๋น” น.ส.สภาพร หลาบโพธิ์ เป็นตัวละครในข่าวคนสำคัญอีกต่างหาก

 

เข้ารับงานเสร็จ แนะนำตัวทีมงานแล้ว จากนี้ไปคือการเริ่มต้นทำงานบริหารกทม. และขับเคลื่อนตามนโยบาย 214 ข้อที่หาเสียงไว้ในช่วงรณรงค์เลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายที่เป็น “เมืองน่าอยู่” สำหรับทุกคน

นอกจากจะเป็นผู้ว่าฯ ทำตัวติดดิน เดินตะลอนดูไปทั่ว ทักทายพบปะคนกรุง รับฟังปัญหาพร้อมถ่ายรูปและเซลฟี่กับผู้คน หรือแม้แต่พนักงานทำความสะอาดของกทม.เองแล้ว ยังให้คำมั่นสัญญากับข้าราชการกรุงเทพฯ ทุกคนว่า จะให้ความเป็นธรรมเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง และห้ามเรียกเขาว่า “นาย”

นายชัชชาติเคยย้ำว่า นโยบาย 214 ข้อส่วนใหญ่ทำได้เลย ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย คนทั่วไปจึงได้เห็นทีมงานผู้ว่าฯคนใหม่ นำทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) กลับมาใช้ใหม่ สำหรับเป็นช่องทางร้องเรียนสะท้อนปัญหาของกรุงเทพฯ ที่ใคร ๆสามารถมีส่วนร่วมได้

 

นอกจากนี้ ยังเตรียมสร้างสัมพันธภาพกับชาวแฟลตดินแดง ที่อยู่ใกล้เคียงกับกทม.2 (ดินแดง) ที่เขาเล็งจะย้ายส่วนงานต่าง ๆ ของกทม. ไปอยู่ที่นั่นเกือบทั้งหมดในอนาคตอันใกล้

โดยเชิญชวนให้ไปออกกำลังกายในศูนย์กีฬาเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง รวมทั้งจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่ง สำหรับเป็นที่ค้าขายทำมาหากินของคนที่สนใจ ตามแนวคิด ”เมืองแบ่งปันพื้นที่สาธารณะ”

ขณะที่นโยบายเร่งด่วน 4 ประการที่จะทำทันที คือ 1.แก้ปัญหาน้ำท่วม 2.ความปลอดภัยบนท้องถนน รวมทั้งทางม้าลายที่ปลอดภัย ประเดิมจากการเปิดทางม้าลายสีรุ้งที่บริเวณสามย่านมิดทาวน์ 3.เรื่องหาบเร่แผงลอย และ 4.เรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งต้องมีการหารือกับรัฐบาลกลาง รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลกทม.โดยตรง

ปัญหาสำคัญเรื่องนี้ คือความเห็นต่างของ 2 ฝ่าย คือรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย พยายามเดินหน้า ทั้งส่วนต่อขยายการเดินรถ และขยายเวลาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี

 

จากเดิมครบสัญญาปี 2572 ไปเป็นปี 2602 และคงตัวเลขค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายที่ 65 บาท แต่การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ผ่านมาของนายชัชชาติ ประกาศคัดค้านการต่ออายุสัมปทานรถออกไป เพื่อให้มีรายอื่นเข้าร่วมแข่งขัน กับต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือชื่อเต็ม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์โครงการแรก ที่นายชัชชาติต้องตัดสินใจและฝ่าฟัน หากยังต้องการรักษาจุดยืนและแนวทางของตนเองไว้

หากสาระพันเรื่องเล็กที่เขาเรียกว่า นโยบายเส้นเลือดฝอย และเรื่องใหญ่คือสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รับรองได้ว่า กระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” จะกระหึ่มกว่านี้อีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง