สปสช.เลิกรักษาโควิด HI ใช้ตามสิทธิแทนเริ่ม 1 ก.ค.นี้

สังคม
30 มิ.ย. 65
11:55
35,569
Logo Thai PBS
สปสช.เลิกรักษาโควิด HI ใช้ตามสิทธิแทนเริ่ม 1 ก.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันสุดท้าย! 30 มิ.ย.นี้ สิ้นสุดระบบรักษาพยาบาลโควิด HI หากตรวจเจอ 2 ขีดให้รักษาตามสิทธิที่มีอยู่ทั้งบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ส่วน ATK รับตามร้านขายยา เพิ่มเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง-มีอาการ ขณะที่ตัวเลขติดเชื้อเพิ่ม 2,695 คน เสียชีวิต 14 คน

วันนี้ (30 มิ.ย.2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่าจะให้บริการระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ถึงวันนี้ 30 มิ.ย.) เท่านั้น โดยจะใช้ระบบเจอแจกจบแทน ขณะเดียวกันบอร์ดสปสช.เตรียมพิจารณายกเลิกแจกชุดตรวจ ATK ในร้านขายยา เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค การตรวจ ATK จะทำต่อเมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น ไม่ต้องมีการตรวจบ่อยครั้งเหมือนในอดีต โดยจะประชุมในวันที่ 4 ก.ค.นี้

ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่ไทยพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ ระบบการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 จะกลับสู่ภาวะปกติ ให้ยกเลิกระบบการรักษาพยาบาลที่บ้าน (HI)  ทั้งนี้หากเจ็บป่วยก็ให้รักษาพยาบาลตามสิทธิรักษาที่มีอยู่ของแต่ละคน ได้แก่ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะสามารถไปใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้าน 

ยกเลิกรักษา HI แต่รักษาพยาบาลปรับใช้ตามสิทธิ หากถ้าตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด รับยาต่อที่โรงพยาบาลได้ ที่เรียกว่าเจอแจกจบ แต่กรณีอาการหนัก ก็ยังรักษาตัวในโรงพยาบาลตามปกติ เหตุผลการระบาดมีอยู่ แต่อาการรุนแรงลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ 

รับ ATK ได้แต่เพิ่มเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง-มีอาการ

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า สำหรับการแจก ATK จะปรับตามที่กรมควบคุมโรค ให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และมีอาการ ซึ่งแพทย์จากโรงพยาบาลจะตรวจให้รอบแรก หรือรับผ่านร้านขายยาที่ร่วมในแอปฯเป๋าตัง แต่ปรับเกณฑ์ใหม่คือต้องมีอาการด้วยถึงจะรับ ATK ได้ 

ขณะที่ กรมการแพทย์ ออกข้อสั่งการการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล และสถาบันสังกัดกรมการแพทย์ โดยระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ขอให้บุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติตามวิธีป้องกันการติดเชื้อ คือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ล้างมือสม่ำเสมอ เว้นระยะห่าง หรืองดการรวมกลุ่ม

โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน และสำรวจการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบุคลากรในหน่วยงาน หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเป็นระยะเวลามากกว่า 4 เดือน แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ

"สาธิต" แนะเร่งชี้แจงเกณฑ์ใหม่

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า มอบหมายให้เร่งชี้แจงประชาชน หลังราชกิจจาประกาศ 1 ก.ค. ยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565 มีผลยกเลิกยูเซ็ป พลัส  และ HI  ให้กับกลับรักษาตามสิทธิ  

ขณะที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 2,695 คน ผู้ป่วยสะสม 2,299,480 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65) หายป่วยกลับบ้าน 1,779 คนผู้ป่วยกำลังรักษา 23,931 คนเสียชีวิต 14 คนเสียชีวิตสะสม 8,950 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยปอดอักเสบในโรงพยาบาล 684 คน

แนวโน้มคนติดเชื้อโควิดเข้ารพ.เพิ่ม 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิดว่า หากเลื่อนประกาศพ้นการระบาดใหญ่ออกไปจาก 1ก.ค.2565 ก็น่าจะดี เนื่องจากขณะนี้ทุกโรงพยาบาลใน กทม.รับคนไข้โรคโควิดเพิ่มขึ้น

โรงพยาบาลวิชัยยุทธต้องกลับมาเปิดหอผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 1 วอร์ด หลังจากที่เคยปิดไปแล้ว ผู้ป่วยที่รับมาการรักษาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้ จึงขอให้ทุกคนระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ

ส่วนการพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้น นพ.มนูญ ยกตัวอย่างกรณีของตัวเองที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ที่ผ่านมาได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าเซเนกา 1 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม รวมทั้งหมด 4 เข็ม เข็มสุดท้ายปลายเดือนพ.ย.2564 และเดือนม.ค.2565 ได้ตรวจภูมิคุ้มกันพบว่ามีภูมิสูง

แต่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2565 ตรวจภูมิคุ้มกันแอนติบอดีล่าสุดลดลงมาก จึงตัดสินใจเข้ารับเข็มกระตุ้นโมเดอร์น่า เป็นเข็มที่ 5 และจะไม่ฉีดวัคซีนรุ่นปัจจุบันต่อจากนี้ จะรอวัคซีนป้องกันโรคโควิดรุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม อาจจะมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

1 ก.ค.นี้ สปสช.ยกเลิกจ่ายค่าตรวจโควิด รพ.นอกระบบบัตรทอง

สธ.เล็งหารือฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเด็ก 6 เดือน หากผ่านอนุมัติ อย.

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง