"สวนใกล้บ้าน" ความฝันของคนกรุง จะดีแค่ไหนถ้าไม่ต้องเดินทาง

สังคม
5 ก.ค. 65
10:19
882
Logo Thai PBS
"สวนใกล้บ้าน" ความฝันของคนกรุง จะดีแค่ไหนถ้าไม่ต้องเดินทาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังเลิกงานได้พักผ่อนเดินเล่นในสวนสาธารณะ ออกกำลังกาย นัดเจอเพื่อน ยิ่งปัจจุบันมีกิจกรรมดนตรีในสวน เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายไม่น้อย สำหรับคนกรุง ฉะนั้นพื้นที่สีเขียวแม้เพียงไม่มากก็ยังพอเยียวยาความเคร่งเครียดในแต่ละวันลงไปได้บ้าง แล้วจะดีแค่ไหนหากใกล้บ้าน มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น

ย้อนไปมองนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “สวน 15 นาทีทั่วกรุง” ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. ที่มีเป้าหมายสร้างพื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที แนวคิดนี้ดีอย่างไร จะทำได้จริงแค่ไหนกับอีกหลายข้อจำกัด ฟังเสียงสะท้อนจากคนกรุงเทพฯ

 

สวนวชิรเบญจทัศ หรือ “สวนรถไฟ” มีเนื้อที่ 375 ไร่ เป็นสวนสาธารณะที่เปิดต้อนรับคนทุกกลุ่ม และถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่นิยมของคนกรุงเทพฯ เดินทางมาพักผ่อน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรม ถือเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่คนกรุงอยากให้พัฒนาสวนลักษณะนี้ ให้มีเพิ่มมากขึ้น

พื้นที่สีเขียว ไม่ใช่แค่เพียงให้อากาศที่บริสุทธิ์ แต่ยังช่วยให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น

นางสุภิดา หนองพุดชา ผู้ที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ บอกว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจจากที่บ้านจะใช้เวลาช่วงบ่าย 3 - 5 โมงเย็น มาออกกำลังกายอยู่ในสวนสาธารณะสัปดาห์ละ 5 วัน สวนจตุจักรกลายเป็นสวนที่ตอบโจทย์จึงเดินทางมาบ่อยสุด

ภายในสวนมีกิจกรรมหลากหลายให้เลือกทำ ทั้งเดิน วิ่ง หรือ แม้แต่การเต้นไลน์แดนซ์ ก็เป็นสิ่งที่ชื่นชอบไม่แพ้กัน สิ่งสำคัญคือได้พบกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ได้ใช้เวลา ทำกิจกรรมร่วมกัน

ที่นี่ทำให้มีความสุข ได้ผ่อนคลาย ออกกำลังกายในสถานที่ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ ดื่มด่ำกับธรรมชาติกลางเมือง เรียกได้ว่าสดชื่นและเป็นการเพิ่มพลังให้กับตัวเอง

สุภิดา หนองพุดชา ผู้ที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ

สุภิดา หนองพุดชา ผู้ที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ

สุภิดา หนองพุดชา ผู้ที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ

มาสวนสาธารณะ มีต้นทุนที่ต้องจ่าย

นางสุภิดา กล่าวว่า บ้านของตนอยู่ซอยวิภาวดี 16 ปกติใช้บริการแท็กซี่ เดินทางมาสวนออกกำลังกาย เพราะถึงจุดหมายเลย หากนั่งรถเมล์อาจต้องนั่งมอเตอร์ไซค์หรือเดินเข้ามาในพื้นที่อีก เรียกได้ว่าซื้อความสะดวก โดยแต่ละวันไป-กลับ จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 100 บาท แต่ก็ยอมเพราะชอบมาทำกิจกรรมในสวน ได้พบปะกับเพื่อนสังคมใหม่ ๆ ประกอบกับที่สวนรถไฟสะอาด และความปลอดภัย

ญาณัท สังขวาสี ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ (คนกลาง)

ญาณัท สังขวาสี ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ (คนกลาง)

ญาณัท สังขวาสี ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ (คนกลาง)

ขณะที่ ญาณัท สังขวาสี ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ บอกว่า บ้านอยู่ จ.นนทบุรี ปกติจะขับรถส่วนตัวมาออกกำลังกายที่สวนรถไฟทุกครั้ง เพราะสะดวก

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ใช่อุปสรรค ชอบที่จะมาออกกำลังกายใช้เวลาว่างสร้างสุขภาพให้แข็งแรง มีความสุขทุกครั้งที่ได้มา

อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มกิจกรรมรองรับกลุ่มผู้สูงอายุวัย ที่มาใช้งานสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น เช่น กิจกรรมโยคะ หรือกิจกรรมที่เสริมทักษะอื่น นอกจากการเดิน หรือ วิ่ง ยิ่งจะทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาในพื้นที่สวนได้อย่างคุ่มค่ายิ่งขึ้น

กีฬาทำให้สุขภาพดีขึ้น การรักษาพยาบาลลดน้อยลง และการได้ทำกิจกรรมในสถานที่ที่เหมาะ จะยิ่งทำให้ทุกเวลามีค่ามากขึ้น

เสริมหมอ-พยาบาล ตรวจสุขภาพสูงวัยในสวน

ขณะที่การมาสวนสาธารณะได้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของ ชายอายุ 70 ปี โดยเขาบอกว่า มาสวนรถไฟแถบทุกวัน แต่ละครั้งจะใช้เวลาอยู่ในสวน 1 ชั่วโมงครึ่ง สิ่งแรกที่ทำคือ ยืดกล้ามเนื้อ เดิน ตนมองว่า สวนจตุจักรตอบโจทย์ทุกด้าน เช่น อากาศ ความสะอาด มีเจ้าหน้าที่ที่ค่อยอำนวยความสะดวก

ตนอาศัยอยู่ย่านลาดพร้าว โซนนั้นก็มีสวนสาธารณะใกล้บ้านแต่พื้นที่สวนมีขนาดเล็กเรื่องความปลอดภัย ห้องน้ำไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรไม่สะดวกเท่าที่นี่ ที่มีพื้นที่กว้าง ต้นไม้สูงใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น

อย่างไรก็ตาม หากสวนใกล้บ้านมีการปรับปรุงให้มีความพร้อมกว่านี้ ก็จะไปใช้งานที่นั้นเพราะอยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล

ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ


อีกทั้งอยากให้มีการดูแลพื้นที่สาธารณะหรือสวนสาธารณะอื่น ให้มีความพร้อมให้มีมาตรฐานเดียวกัน หรือใกล้เคียงกับสวนที่มีพื้นที่ใหญ่ ๆ ทั้งในเรื่อง ระบบสาธารณูปโภค ความปลอดภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง กล้อง CCTV ด้วย

ที่ตามมาคือคนจะเข้าไปใช้ประโยชน์ในการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น พร้อมเสนออยากให้มีแพทย์ หรือ พยาบาล มาตรวจสุขภาพผู้สูงอายุในบางครั้ง

นอกจากนี้ อยากให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงเทพฯ เขตหนึ่งหลายแห่ง โดยเฉพาะย่านลาดพร้าว เพราะมีประชากรหนาแน่น ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล

พื้นที่ไม่กว้างไม่เป็นไร มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น คนในพื้นที่ ชุมชน หมู่บ้าน ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

เช่นเดียวกับ ชายวัย 80 ปี ที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ บอกว่า อยากให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ตนเดินทางมาจาก ถ.ราชพฤกษ์ มาออกกำลังกายที่สวนจตุจักร เป็นประจำหลายปีแล้ว การใช้เวลาว่างมาสวนสาธารณะถือเป็นกิจกรรมที่ชอบ ทำให้รู้สึกสดชื่น ได้สนทนากับเพื่อน
ขณะที่บรรยากาศสวนที่ชอบจะเป็นสวนที่เป็นพื้นที่กว้าง ต้นไม้ใหญ่ ร่มรื่น มาเดินออกกำลังยิ่งทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง

ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

10 สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวคนกรุง

กรุงเทพมหานคร สรุปจำนวนพื้นที่สวนสาธารณะ (ณ วันที่ 1 ก.ค.65) ว่า มีสวนสาธารณะหลักจำนวน 39 แห่ง โดยสวนสาธารณะขนาดใหญ่ นั้นอยู่ใน 8 เขต จากทั้งหมด 50 เขต กระจายอยู่ในเขตประเวศ จตุจัตร ปทุมวัน เป็นต้น โดยสวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน มีเนื้อที่มากที่สุด 644 ไร่


กทม.แบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง สวนชุมชน สวนถนน สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนหมู่บ้าน สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนไม่ได้ระบุประเภท รวมพื้นที่ 41,327,286.489 ตร.ม.

การจัดกลุ่มพื้นที่สีเขียวในลักษณะนี้แยกไม่ได้ว่าสวนไหนใช้งานได้หรือไม่ได้ ตัวอย่างเช่น สวนถนน นับรวมสวนไหล่ทาง สวนเกาะกลาง หรือ สวนหมู่บ้าน ซึ่งอาจไม่สามารถเข้าใช้ได้หรือเข้าใช้ได้น้อย แต่มีพื้นที่รวมกันมากถึง 18,602,682.9 ตร.ม. คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด

 
คนกรุงเทพฯ ใช้พื้นที่สวนสาธารณะ มากกว่าการออกกำลังกาย นั่งเล่นใต้ต้นไม้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นกิจกรรมดนตรีในสวน สร้างบรรยากาศให้สวนสาธารณะมีชีวิตชีวามากขึ้น อย่างเช่น ที่สวนลุมพินี และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ เกิดขึ้นด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สวนใกล้บ้าน-ลานอเนกประสงค์ "พื้นที่ปลอดภัย" สำหรับเด็กในกรุง

ดึงเอกชนร่วมรัฐ สร้าง "สวนใกล้บ้าน" เพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมสุขคนกรุง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง