1 สัปดาห์ ATK เป็นบวก รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก 1.43 แสนคน

สังคม
18 ก.ค. 65
12:22
5,912
Logo Thai PBS
1 สัปดาห์ ATK เป็นบวก รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก 1.43 แสนคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมควบคุมโรค เผย 1 สัปดาห์ มีผู้ป่วย COVID-19 เข้ารักษาแบบผู้ป่วยนอก 143,827 คน พร้อมจับตายอดติดเชื้อเพิ่มหลังหยุดยาว ขณะที่อัตราครองเตียงผู้ป่วยใน กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เริ่มตึงตัว แต่ยืนยันระบบสาธารณสุขยังดูแลผู้ป่วยหนักได้

วันนี้ (18 ก.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ (ตรวจ RT-PCR) เข้ารักษาใน รพ. 1,814 คน เสียชีวิต 17 คน ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ 794 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 369 คน ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPSI) หรือตรวจ ATK ผลเป็นบวก ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-16 ก.ค.) จำนวน 143,827 คน

ผู้ที่มีอาการหนัก หรือเสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันหยุดยาว ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และอาจพบการติดเชื้อในต่างจังหวัดได้ อีกทั้งเป็นช่วงเปิดเรียนหลังหยุดยาว 5 วัน ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์ต่อไป

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์) รวม 161 คน หรือ 98% ที่สำคัญในช่วงระยะหลังนี้ พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 ในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือสูงอายุ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังได้รับวัคซีนแล้วเกิน 3 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรฉีดเข็มกระตุ้นเข็มต่อไป ระยะห่างจากเข็มล่าสุด 3-4 เดือน

 

ขณะนี้การครองเตียงภาพรวมยังอยู่ในกลุ่มสีเขียว แต่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สัดส่วนการครองเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักเริ่มตึงตัว เพราะมีคนไข้เพิ่มขึ้น หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็ขยับเพิ่มเตียงได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบยังดูแลผู้ป่วยอาการหนักได้

การเข้าถึงการรักษาในกลุ่มเสี่ยง เป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยลดการเสียชีวิตให้มากที่สุดในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือหน่วยงาน สถานประกอบการ พิจารณาให้พนักงานที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ให้แยกกักตัวที่บ้าน 7 วัน และหลังจากกลับมาทำงานได้ ในช่วง 3 วันแรก ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดกินอาหารร่วมกับผู้อื่น เลี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก หรือ WFH 7+3 วันได้ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เลี่ยงร่วมกิจกรรมกับคนจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต หรือผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เพื่อช่วยลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง