วิเคราะห์ "เพโลซี" เยือนไต้หวัน สะเทือนสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ?

ต่างประเทศ
3 ส.ค. 65
19:40
405
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ "เพโลซี" เยือนไต้หวัน สะเทือนสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขึ้นมาอีกระลอก ซึ่งนักวิชาการมองว่าอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศในระยะสั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วสหรัฐฯ กับจีนจะประคับประคองความสัมพันธ์และลดความตึงเครียดได้

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา วัย 82 ปี บุคคลสำคัญที่จุดชนวนความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

เส้นทางการเมืองของเพโลซี เริ่มต้นจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต เมื่อปี 1987 เป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นสมัยที่ 4 เมื่อต้นปี 2021

ยิ่งไปกว่านั้น เพโลซี มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมนิสต์จีน เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 1991 เพโลซีเคยเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง และถือป้ายแสดงความเห็นใจเหยื่อที่ถูกปราบปรามอย่างหนักที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

สำหรับการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเชิดชูจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยในไต้หวันอย่างมั่นคงของสหรัฐฯ สร้างความเดือดดาลให้จีน จนนำไปสู่การสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากไต้หวันไม่ต่ำกว่า 2,000 ชนิด และการเตรียมซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในวันที่ 4-7 ส.ค.นี้ ครอบคลุมพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร รอบๆ เกาะไต้หวัน

จุดซ้อมรบหลายจุดถือเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก เนื่องจากจุดซ้อมรบบางจุดรุกล้ำน่านน้ำไต้หวัน ขณะที่ทางการไต้หวันสั่งห้ามเรือประมงและเครื่องบินพาณิชย์สัญจรผ่านพื้นที่นี้ เพื่อความปลอดภัยจากความพยายามข่มขวัญของจีน

แม้ว่าโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ จะยืนยันหนักแน่นว่า การเดินทางเยือนไต้หวันไม่ขัดต่อจุดยืนต่อหลักการจีนเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติในไต้หวัน สั่นคลอนหลักการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กำเนิดหลักการจีนเดียว

สำหรับหลักการจีนเดียว ย้อนกลับไปในปี 1949 เมื่อเจียง ไค เช็ก ผู้นำพรรคกั๋วมินตั่ง เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง ในสงครามกลางเมือง และต้องหนีไปจัดตั้งรัฐบาลอิสระขึ้นที่ไต้หวัน ต่อมาในปี 1992 คณะผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องการรวมชาติในอนาคต แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในการตีความนิยามของจีนเดียว

คำว่า "จีนเดียว" ในมุมมองของจีน หมายถึง สาธารณรัฐประชาชนจีนและไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งที่ต้องกลับมารวมกันในวันข้างหน้า แม้ว่าไต้หวันมีองค์ประกอบในการเป็นรัฐ แต่หลักการนี้ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกสถาปนาความสัมพันธ์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เลือกที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1979 แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน เพื่อเปิดทางให้สามารถช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตนเอง ซึ่งการดำเนินยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันในลักษณะนี้ เรียกว่า Strategic Ambiguity หรือ ความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์

ขณะที่การเดินทางเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนอย่างไรนั้น

รศ.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ทิศทางความสัมพันธ์ของ 2 ชาติมหาอำนาจ ว่า ในระยะยาวความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมานานกว่า 40 ปี แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะตระหนักดีว่ามีความขัดแย้งกัน แต่ก็มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง

ความตึงเครียดที่เกิดจากการเยือนไต้หวันของผู้นำระดับสูงจากสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องแสดงท่าที แต่ในระยะยาวทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องพยายามลดความตึงเครียดซึ่งกันและกัน

ปัจจุบันมีเพียงนครรัฐวาติกันและอีก 13 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ส่วนไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน จึงไม่มีสถานทูต แต่มีเพียงสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในไทเปเท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"แนนซี เพโลซี" ประธานสภาสหรัฐฯ เดินทางถึง "ไต้หวัน"

จีนเรียกพบทูตสหรัฐฯ ประท้วง "เพโลซี" เยือนไต้หวัน

ไม่หวั่นภัยคุกคาม "ผู้นำไต้หวัน" ย้ำปกป้องประชาธิปไตย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง