เตือน "กินเนื้อวัว-ควายดิบ” เสี่ยงพยาธิตัวตืด หลังโซเชียลโชว์หลากเมนู

สังคม
4 ส.ค. 65
12:33
1,327
Logo Thai PBS
เตือน "กินเนื้อวัว-ควายดิบ” เสี่ยงพยาธิตัวตืด หลังโซเชียลโชว์หลากเมนู
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนกินเนื้อวัว-ควายดิบ เสี่ยงโรคพยาธิ ทั้งตืดวัวควาย โรคโปรโตซัวในลำไส้ ซาร์โคซิสติส และแบคทีเรีย หลังโซเชียลรีวิวการกิน-เมนูอาหาร ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ส้า จิ้นส้ม

วันนี้ (4 ส.ค.2565 ) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกระแสโซเชียลมีเดีย ได้รีวิวการกินและวิธีทำเมนูนิยมอาหารประเภทเนื้อวัว-ควายสด เช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ซอยห่าง แหนมดิบ ลาบดิบ ส้า จิ้นส้ม

โดยคนกินอ้างว่า เป็นมรดกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลเพื่อการเตือนภัยโรค สำหรับคนที่อยากลอง หรือคนที่ชอบความหวานของการกินลาบวัว-ควายดิบ

ข้อมูลเตือนภัยโรคพยาธิที่พบบ่อย คือ โรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิเรียกว่า เม็ดสาคูในเนื้อ ตัวอ่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว 5-10 เมตร อาจยาว 25 เมตร มี 1,000-2,000 ปล้อง

ปล้องสุกจะหลุดออกมา 3-4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคืบคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน อายุอยู่ในลำไส้คน 10-25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้ คนติดโรคจะมีอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้

 

ขณะที่ นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า โรคซาร์โคซิสติส มีลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสาร ในวัว-ควายมีอัตราการเป็นโรคสูงมาก สำหรับในคน มีรายงานโดยพบซีสต์ในกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้ออื่น ๆ ผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากมีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย บวมใต้ผิวหนัง ข้ออักเสบ และเม็ดโลหิตขาวอีโอซิโนฟิลสูง

สำหรับเชื้อแบคทีเรียอื่น เช่น โรคแอนแทรกซ์ เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร คือ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ย่อมรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้, เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มักมีการปนเปื้อนมากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร มักจะมีอาการอาเจียน ท้องร่วง

เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของ วัว และสัตว์อื่น ๆ อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย, เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง

บางครั้งอาจมีเลือดปน, ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า หากนำเนื้อวัว-ควายที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมากิน แล้วไปพบวัวควายที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนทำอาหาร ไปจนถึงคนกินดิบ เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้

ทั้งนี้ แนะนำประชาชนให้ใช้หลักมาตรฐานอาหารปลอดภัย ควรจะเลือกซื้อเนื้อวัว-ควายที่ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์แล้วเท่านั้น กินอาหารต้ม ปิ้งย่างเนื้อสัตว์ให้สุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกด้วยความร้อน หรือผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี หรือเก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20 ˚c นานเกิน 12 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง