จับตารัฐบาล! อนุมัติ 339 ล้าน เดินหน้า 7 กลยุทธ์ สกัดนักดื่มหน้าใหม่

การเมือง
16 ส.ค. 65
15:32
1,150
Logo Thai PBS
จับตารัฐบาล! อนุมัติ 339 ล้าน เดินหน้า 7 กลยุทธ์ สกัดนักดื่มหน้าใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครม.อนุมัติแผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (2565-2570) 7 กลยุทธ์ วงเงิน 339.30 ล้านบาท สกัดนักดื่มหน้าใหม่

วันนี้ (16 ส.ค.2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ระยะเวลา 6 ปี โดยเป็นแผนต่อเนื่องมาจากยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ 2554-2563 ที่สิ้นสุดลง

เพื่อควบคุมขนาดและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจาก ใน 4 เป้าหมาย ได้แก่ (1) ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของประชาชน (2) ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และควบคุมจำนวนผู้บริโภค (3) ลดความเสี่ยงจากการบริโภค ทั้งในมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบการบริโภค และพฤติกรรมหลังการบริโภค (4) จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ใน กรอบวงเงิน 339.30 ล้านบาท ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมและในประชากรกลุ่มเสี่ยง ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าราคาแพง หาซื้อยาก และเพิ่มสัดส่วนจำนวนประชากรต่อใบอนุญาต ในการเข้าถึงจุดจำหน่ายของประชาชนขึ้นจากปี 2562 เช่น โครงการควบคุมจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โครงการพัฒนาระบบและกลไกการบังคับใช้กฎหมาย งบประมาณ 96.70 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่ 2 ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะภายหลังการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โครงการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม โครงการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล กรณีเมาแล้วขับ งบประมาณ 15 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่ 3 คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา จัดการผู้มีปัญหาดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานที่เหมาะสม เช่น โครงการพัฒนาหลักเกณฑ์และระบบติดตามผลการบำบัด ฟื้นฟูสภาพ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการบำบัดและผู้ดูแลรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา โครงการพัฒนาและสนับสนุนการจัดบริการบำบัดรักษานอกระบบบริการสุขภาพ งบประมาณ 22.20 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่ 4 ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายและการให้ทุนอุปถัมภ์ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการโฆษณา และการสื่อสารการตลาด ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อคุ้มครองสังคมและเยาวชน ไม่ให้เป็นนักดื่มหน้าใหม่ เช่น โครงการติดตามเฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โครงการส่งเสริมการรับรู้ให้รู้เท่าทันกลยุทธ์การโฆษณาและสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชิงรุก โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งบประมาณ 141.20 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่ 5 ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี มีระบบการคิดภาษีที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และโปร่งใสตรวจสอบได้ มาตรการกำหนดราคาขั้นต่ำ ตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม การผูกอัตราภาษีกับเงินเฟ้อ เช่น โครงการสนับสนุนการพัฒนากลไกด้านมาตรการภาษี โครงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกระบบภาษี

กลยุทธ์ที่ 6 สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม เช่น โครงการสื่อสาร รณรงค์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แสดงถึงผลกระทบต่อตนเองและสังคมจากการดื่มแอลกอฮอล์ โครงการสร้างทางเลือก มาตรการเชิงบวก และเพิ่มโอกาสในการไม่ดื่ม งบประมาณ 47.60 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่ 7 ระบบสนับสนุนและบริหารจัดการที่ดี สร้างกลไกจัดการปัญหาแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดจำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนการดำเนินนโยบายในระดับต่าง ๆ โดยมีกิจกรรม เช่น พัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการควบคุมและลดปัญหาจากแอลกอฮอล์ พัฒนาช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว ชัดเจน โครงการพัฒนาองค์ความรู้และการติดตาม ประเมินผลเชิงระบบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศ งบประมาณ 16.60 ล้านบาท

นายธนกร ยังกล่าวว่า การควบคุมปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 จะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากโรคทุกโรคที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสูญเสียเนื่องมาจากโรคและความรุนแรงที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การลดการดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุทางถนนลดลงด้วย และ นอกจากนี้ ยังทำให้ ประเทศไทยได้รับการยอมรับการเป็นหนึ่งในผู้นำการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง