วิเคราะห์ท่าที "มิน อ่อง หล่าย" หลังทูตพิเศษยูเอ็น เยือนเมียนมา

ต่างประเทศ
18 ส.ค. 65
20:07
465
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ท่าที "มิน อ่อง หล่าย" หลังทูตพิเศษยูเอ็น เยือนเมียนมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สื่อมวลชนอาวุโส วิเคราะห์การเยือนเมียนมาของทูตพิเศษสหประชาชาติ หลังเข้าพบ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา แนะจากนี้ยูเอ็นและอาเซียนต้องปรับเปลี่ยนแผนการรับมือกับเมียนมาใหม่ เพราะวิธีที่ทำอยู่ไม่ได้ผล

วันนี้ (18 ส.ค.2565) นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนอาวุโส ที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา กล่าวถึงกรณี นางโนลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เข้าพบปะกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาว่า สามารถมองได้ 2 ด้าน

สำหรับเมียนมา การเยือนครั้งนี้ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาในกรุงเนปิดอว์ได้อย่างชัดเจน วันนี้หนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมา หน้าหนึ่งเต็มไปด้วยรูปทูตพิเศษสหประชาชาติและ มิน อ่อง หล่าย นั่งคุยกัน อากัปกิริยาของการนั่งคุยคือ การเข้าพบ

มิน อ่อง หล่าย นั่งอยู่บนโซฟาตัวใหญ่ ขณะที่นางเฮย์เซอร์ นั่งโซฟาตัวเล็กกว่า อยู่ข้างหน้าเยื้องไปทางขวา ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่การสนทนาของคนที่อยู่ในระดับเท่าเทียมกัน

การเยือนของทูตพิเศษครั้งนี้ ยังตีความได้ว่า มิน อ่อง หล่าย กำลังบอกโลกว่า ในที่สุดยูเอ็นต้องง้อ มิน อ่อง หล่าย และคนที่มีอำนาจที่แท้จริงในกรุงเนปิดอว์ก็คือ กองทัพ หากมองในแง่นี้ถือว่า รัฐบาลทหารเมียนมาประสบความสำเร็จมาก ๆ

อย่างไรก็ตาม หากมองแบบยูเอ็น การเยือนครั้งนี้เป็นแค่การชิมลาง เพราะปกติทูตพิเศษจะไม่ค่อยได้รับเชิญง่าย ๆ มีหลายคนที่รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ ครั้งนี้จึงเป็นการชิมลางเพื่อนำสารจากเลขาธิการสหประชาชาติไปสู่ มิน อ่อง หล่าย โดยตรง

ที่น่าสนใจการเยือนครั้งนี้ ทูตพิเศษได้มอบกฎบัตรสหประชาชาติให้กับ มิน อ่อง หล่าย เพื่อรู้วิธีการอยู่ร่วมกันของชาวโลก และประชาชนชาวเมียนมามีสิทธิที่จะมีประชาธิปไตย

นางเฮย์เซอร์ เข้าไปเพื่อแนะนำตัว และดูปฏิกิริยาว่าในที่สุดแล้ว มิน อ่อง หล่าย จะตอบสนองอย่างไร

นายสุภลักษณ์ ระบุว่า นางเฮย์เซอร์ เป็นนักการทูตมืออาชีพชาวสิงคโปร์ ทำงานกับยูเอ็นมายาวนาน ประสานงานกับกลุ่มอาเซียนมาในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นเธอและนักการทูตทั้งหลายรู้และมองออกว่าจะถูก มิน อ่อง หล่าย ใช้เป็นเครื่องมือ

หลังจาก นางเฮย์เซอร์ พบ มิน อ่อง หล่าย ได้ออกแถลงการณ์ที่มีความยาวมาก และมีเนื้อหามากถึง 20 ประเด็น ทั้งหมดไม่ใช่การให้ความชอบธรรม แต่เป็นการเริ่มต้นทำงาน และบอกเมียนมาว่าต้องทำอะไรบ้าง

คิดว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวอย่างมืออาชีพ ที่ค่อนข้างฉลาดพอสมควร

นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โฆษกรัฐบาลทหารออกมาตอบโต้อาเซียน กรณีไม่เชิญตัวแทนทหารจากรัฐบาลเมียนมา เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคของอาเซียน ซึ่งระบุว่าจุดยืนนี้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน และละเมิดหลักการของอาเซียน การตอบโต้นี้มีความหมายมาก แสดงให้เห็นว่า เมียนมาไม่สนใจต่อแรงกดดันใด ๆ และนี่เป็นการเหยียดหยามอาเซียนที่รุนแรงที่สุด ที่เมียนมาเคยทำมา

จากนี้สิ่งที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกับยูเอ็นคือ ทบทวนแผนการรับมือกับ มิน อ่อง หล่าย ใหม่ทั้งหมด

สไตล์เดิมของกลุ่มอาเซียนคือ ประนีประนอม ยอมรับการมีอยู่ของผู้มีอำนาจ แบบนี้ มันไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง