นักวิชาการคาดศาลฯรับวินิจฉัย " 8 ปี ประยุทธ์" ทำสถานการณ์ชุมนุมคลี่คลาย

การเมือง
24 ส.ค. 65
14:15
350
Logo Thai PBS
นักวิชาการคาดศาลฯรับวินิจฉัย " 8 ปี ประยุทธ์"  ทำสถานการณ์ชุมนุมคลี่คลาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการ คาด ศาลรธน.รับวินิจฉัย "คดีวาระ 8 ปี นายกฯ" ทำสถานการณ์การชุมนุมคลี่คลาย แนะ ครม.เร่งหารักษาการนายกฯปฏิบัติหน้าที่แทน "พล.อ.ประยุทธ์" ชี้คำวินิจฉัยคดีบรรทัดฐานใหม่การเมืองไทย

วันนี้ (24 ส.ค.2565) รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว

โดยระบุว่า กรณีดังกล่าวตนมองว่า ค่อนข้างเหนือความคาดหมายโดยเฉพาะการให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ แต่กรณีรับคำร้องอาจไม่แปลกใจนัก ทั้งนี้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในการปฏิบัติหน้าที่แทน จะมีบุคคลใดขึ้นทำหน้าที่แทนในฐานะรักษาการนายกฯ

รศ.ยุทธพร มองว่า โอกาสที่จะเห็นการชุมนุมทางการเมือง จะไม่มีเพราะเป้าหมายของผู้ชุมนุม คือ การคัดค้านการดำรงตำแหน่งของนายกฯ และเมื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว การชุมนุมก็จะยุติลงก่อน ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาว่าผลเป็นอย่างไร 

ประเด็นปัญหาการเมืองจะไม่อยู่ที่การเมืองนอกสภาฯ แล้ว แต่จะอยู่ที่ ครม.และการเมืองในสภาฯ

ทั้งนี้ การที่จะยุบสภาฯในขณะนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก นายกฯถูกคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ รักษาการนายกฯ ก็ไม่สามารถยุบสภาฯ ได้ เพราะการยุบสภาฯ เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกฯ ซึ่งต้องรอไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาล

รศ.ยุทธพรกล่าวว่า จากนี้ไปประชาชนจะต้องจับตาว่า ศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวอย่างไร และทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะอยู่ในช่วงท้ายวาระของสภาฯ และของรัฐบาลแล้ว

รศ.ยุทธพร กล่าวต่อว่า นายกฯ ครบวาระ 8 ปีแล้ว แต่หากยึดตาม มาตรา 254 ซึ่งมีการตีความ 2 แบบ โดยตีความทั้งการนับวาระนายกฯ ต่อเนื่องจากวาระเดิม ก่อนปี 2560 คือ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 หรือ อาจตีความว่า ความเป็น ครม.จะนับภายหลังรัฐธรรมนูญ 60 มีผลบังคับใช้ เมื่อ 6 เม.ย.2560 ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่ถ้านับในทางข้อเท็จจริงก็ครบ 8 ปีแล้วในวันนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะตีความข้อกฎหมายอย่างไร

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยในคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญทางการเมือง เนื่องจากมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ซึ่งเพิ่งมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ยังไม่มีรายละเอียดในการนับอายุว่าจะนับอย่างไร

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้ชัดเจนว่า จะนับอย่างไร รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรก และเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะส่งผลต่อการวินิจฉัยและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในลักษณะที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่ ครม.ที่เหลือต้องเร่งหาผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ รักษาการนายกฯ ต่อไป รวมถึงแถลงถึงข้อเท็จจริงและสิ่งที่จะดำเนินต่อไปนับจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง