สภาฯ ผ่านกฎหมายซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

การเมือง
26 ส.ค. 65
06:35
339
Logo Thai PBS
สภาฯ ผ่านกฎหมายซ้อมทรมาน-อุ้มหาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังจากนักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องมานาน สำหรับร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ไปด้วยมติ 287 เสียง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเวลา 120 วัน

ผ่านไปด้วยมติ 287 เสียง สำหรับร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีทั้งหมด 34 มาตรา ซึ่งผลักดันกันมาตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่ถูกตีตกไป ก่อนจะเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเมื่อปี 2564

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อธิบายว่า หลักการของกฎหมายฉบับนี้ คือ การป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดการทรมานในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว หรือ กรณีถูกทำให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี 2550

และลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ไทยเข้าเป็นสมาชิก แสดงเจตนารมณ์ว่า เห็นด้วย แต่กลับไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการร่างกฎหมายฉบับนี้ กระทั่งผ่านสภาไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา ยังคงปรากฏข่าวการซ้อมทรมานให้รับสารภาพ เช่น กรณีอดีตผู้กำกับโจ้ ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ต้องหาจนเสียชีวิต หรือกรณีบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หายตัวไป 8 ปีแล้ว ในทางปฏิบัติรู้ว่า ถูกอุ้มไปและคาดว่าน่าจะเสียชีวิตแต่ยังไม่สามารถพิสูจน์เอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญ ไม่เพียงแค่บัญญัติให้การทรมาน บังคับสูญหายเป็นความผิดอาญา แต่ยังมีมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อการทรมาน บังคับสูญหายได้และยังมีมาตรการที่จะดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันก็ปกป้องข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และเพื่อให้คุณผู้ชมเห็นภาพของกฎหมายฉบับนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น ลองไปดูบางมาตราที่น่าสนใจกันครับ

อย่างมาตรา 6 บัญญัติให้การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นความผิดทางอาญา มาตรา 7 การนับอายุความ จะยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้สูญหาย

มาตรา 23 ในระหว่างการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับกุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ไปจนถึงก่อนส่งตัวให้อัยการ

มาตรา 23 วรรคสอง ต้องแจ้งการจับกุมให้อัยการและฝ่ายปกครองในท้องที่รับทราบ เพื่อตรวจสอบการจับทันที หากการจับไม่ชอบด้วยกฎหมาย อัยการสามารถให้ปล่อยตัวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

มาตรา 33 ทั้งอัยการ ฝ่ายปกครอง ดีเอสไอ และตำรวจ มีอำนาจสืบสวน สอบสวนดำเนินคดีในความผิดฐานนี้ โดยอัยการสามารถตรวจสอบและกำกับการสอบสวนได้ตามมาตรฐานสากล

มาตรา 37 แม้คดีที่ผู้ต้องหากระทำความผิดจะอยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้ดำเนินคดีในศาลยุติธรรม และ มาตรา 45 หากผู้บังคับบัญชาทราบการกระทำความผิด แต่ไม่ป้องกันหรือระงับการกระทำนั้น จะต้องระวางโทษด้วยกึ่งหนึ่ง

นายคำนูณกล่าวด้วยว่า ในชั้นวุฒิสภา มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และปรับแก้ไขจากชั้นกรรมาธิการ ทำให้สามารถรักษาหลักการที่สำคัญไว้ได้ค่อนข้างมาก ซึ่งมาจากการเรียกร้องของประชาชน ที่ต้องการให้ร่างกฎหมายนี้ใช้ได้ผลจริง

และตรงกับอนุสัญญาที่ไทยเราร่วมลงนามก่อนหน้านี้ โดยหลังจากสภาฯ เห็นชอบแล้ว จะมีการประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเวลา 120 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง