ทีม "ชัชชาติ" เปิดผลงาน 99 วัน ฟื้นศก.-พลิกคุณภาพชีวิตคนกรุง-พนง.กทม.

สังคม
9 ก.ย. 65
10:31
670
Logo Thai PBS
ทีม "ชัชชาติ" เปิดผลงาน 99 วัน ฟื้นศก.-พลิกคุณภาพชีวิตคนกรุง-พนง.กทม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงผลการดำเนินงาน "99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง" ตามนโยบายของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ฟื้นเศรษฐกิจ-พลิกคุณภาพชีวิตคนกรุง

วันนี้ (9 ก.ย.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มอบหมาย 4 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลการดำเนินงาน 99 วันของผู้ว่าฯชัชชาติ  “99 วันส่งการบ้านคนกรุง” 

นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงถึงนโยบาย 3 ด้าน คือ ปลอดภัยดี ได้มีการจัดทำข้อมูลเพื่อจะนำไปสู่แผนที่ความเสี่ยง กทม. ในอนาคต และจัดทำข้อมูลของบัญชีทั้งหมดที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งเครือข่ายที่เป็นหน่วยอาสาสมัคร รวมถึงการจัดทำการปรับปรุงอุปกรณ์ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ

สุขภาพดี ได้มีการจัดตั้งคลินิกวันเสาร์ เพื่อเป็นการบริการให้ภาคประชาชน นอกจากนี้ยังมีโครงการลองโควิด-19 รวม 9 คลินิก 9 โรงพยาบาลหลัก ศูนย์บริการบัตรคนพิการเบ็ดเสร็จ รวมถึงการเปิดคลินิกความหลากหลายทางเพศ 6 แห่ง กระจายอยู่ 6 โซนเขต เปิดแซนด์บอกซ์สุขภาพเพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขคนเมืองครบวงจร เชื่อมบริการปฐมภูมิไร้รอยต่อผ่านระบบดิจิทัล

บริหารจัดการดี ระบบบริการ (SMART SERVICE) และคําขอออนไลน(BKK OSS) เพิ่ม 4 บริการงานทะเบียน 4 แบบฟอร์มออนไลน์ สนับสนุนความเท่าเทียมยอมรับความหลากหลายทางเพศ เพิ่มสวัสดิการครู และพนักงานเก็บและขนขยะ  

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำท่วมในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั้มน้ำ โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน การทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การขุดลอกคลองเปิดทางน้ำไหล รวมถึงการมีจุดน้ำท่วม ได้มีบริการจุดรับส่งประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง

 

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงถึง การบริหารจัดการจุดทำการค้า หาบเร่ แผงลอย โดยการหาสถานที่ให้ผู้ค้ามีจุดค้าขายมากขึ้น จากการสำรวจทั้ง 50 เขต มี 125 แห่ง รองรับได้ 8,300 ราย ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด มีผู้ค้า 3,817 ราย อยู่ระหว่างประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,602 ราย และเสนอขอทบทวนเจ้าพนักงานจราจร 9 จุด ผู้ค้า 629 ราย

การปรับปรุงทางม้าลายปรับปรุงแล้ว 1,286 จุด จาก 2,788 จุด ส่วนการดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงจาก 100 จุด ดำเนินการแล้ว 2 จุด และเตรียมปรับปรุงอีก 54 จุด

ทั้งนี้จะมีการยกระดับหาบเร่ แผงลอย ด้านคุณภาพสินค้า และบริการได้มาตรฐาน และการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ประชาชนได้รับการดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ในขณะที่ นโยบายสวน 15 นาที พื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที โดยจัดหาพื้นที่สวนให้มากขึ้น หาได้แล้ว 30 แห่ง จากทั้งหมด 21 สำนักงานเขต ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพูดคุยร่วมกันกับสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานเขตในการจัดหาพื้นที่ เมื่อประชาชนในพื้นที่ยินยอมแล้วจะมีการปรับปรุงใช้งบ กทม. เอง หรือภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุง และส่งมอบให้ กทม. ดูแล ซึ่งได้มีการเริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน

สำหรับโครงการลดและคัดแยกขยะตามประเภทแหล่งกำเนิดนั้นในปี 2565 มี 998 ชุมชน/องค์กรที่เข้าร่วม และได้ดำเนินการไปแล้ว 925 แห่ง ซึ่งเป้าหมายในปี 2566 ไว้ที่ 3,600 แห่ง

ขณะที่ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง นโยบายเมืองน่าอยู่ หรือกิจกรรมทำให้เมืองมีชีวิต หรือการเติมอัตลักษณ์ต่างๆ การสร้างเมืองให้มีชีวิตให้คนมีชีวิต โดย กทม. จัดกิจกรรมในสวนมากกว่า 60 ครั้ง เทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ถนนคนเดิน 39 แห่ง ใน 50 เขต มีทั้งหมด 1,855 ร้านค้า สร้างเศรษฐกิจกว่า 28.6 ล้านบาท

 

คนไร้บ้าน ไม่ไร้สิทธิ ไม่ไร้งาน โดยการเปิดพื้นที่บริการเฉพาะกิจ 4 จุด มีคนไร้บ้านมาใช้บริการ 150-250 คน/จุด/วัน รวมถึงการยกสวัสดิการคนพิการ พัฒนาให้งานมีคุณภาพ การสนับสนุนอาชีพ และเปิดพื้นที่ให้คนพิการเล่นดนตรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง