วันนี้ (13 ก.ย.2565) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 50,510 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ของความจุอ่างฯ ยังรับน้ำได้อีก 25,579 ล้าน ลบ.ม.
โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,035 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 56% ของความจุอ่างฯ ยังรับน้ำได้อีก 10,836 ล้าน ลบ.ม.
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น
อ่านข่าวเพิ่ม กทม.เตือน 12 เขตฝนตกช่วงเลิกงาน "ชัชชาติ" ประสานเครื่องสูบน้ำ ทส.
เตือน 11 จว.รับมือระบายน้ำสูง 40-60 ซม.
ขณะนี้กรมชลประทาน มีหนังสือแจ้งเตือน สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 7 ไปยังผู้ว่าราชการ 11 จังหวัด ลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกทม.ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่ภาคเหนือ ลงมาเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นระหว่าง 2,100-2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เริ่ม 15 ก.ย.นี้ ในอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 40-60 ซม.ช่วง 16-17 ก.ย.นี้
ขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 12 มีหนังสือแจ้งเตือนการควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ว่างเหนือ
เขื่อนเจ้าพระยาชะลอน้ำไว้ เป็นการชั่วคราวในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย.นี้ ที่จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อน ยกตัวสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 40 ซม. แต่จะรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนไม่เกิน 17 เมตร จากระดับดับน้ำทะเลปานกลาง
ปรับแผนลุ่มน้ำ 20 ปี-ชี้สภาพอากาศแปรปรวน
นายสุรสีห์ กิตติมงคล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ลักษณะของฝนที่ตกหนักพบปัญหาเฉพาะจุด แตกต่างจากปี 2554 โดยจะเร่งปรับแผน เกาะติดสถานการณ์ ทำงานเชิงรุก ซึ่งคาดจะมีพายุจรอีก 1-2 ลูก
จะสรุปแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ และปรับปรุงใหม่ เน้นการมีส่วนรวมภาคประชาชน เสนอต่อคณะกรรมการน้ำแห่งชาติในเดือน ต.ค.นี้
อ่านข่าวเพิ่ม เตือน! 7 เขตกทม.ฝนถล่มซ้ำเย็นนี้ "คลองประเวศ" น้ำไม่ลด
กรมอุตุนิยมเตือนฝนตกต่อเนื่อง 14-18 ก.ย.นี้
ขณะที่การคาดการณ์ของกรุมอุตุนิยมวิทยาวันที่ 12-13 ก.ย.นี้ ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศกัมพูชา
ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 14-18 ก.ย.นี้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ท่วมเกือบทั้งเส้น ถ.ลาดกระบัง ปชช.ลงรถกลางน้ำ เดินลุยไปทำงาน