โซเชียลมีเดีย กับการทำงานของ "ชัชชาติ" ท่ามกลางน้ำท่วมกรุง

สังคม
14 ก.ย. 65
10:25
665
Logo Thai PBS
โซเชียลมีเดีย กับการทำงานของ "ชัชชาติ" ท่ามกลางน้ำท่วมกรุง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การทำงานของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญปัญหาเรื้อรังอย่างรถติดและน้ำท่วมไม่แปลกหากจะมีกระแสวิจารณ์จากหลายฝ่ายทั้งด้านบวกและด้านลบในสถานการณ์นี้

คงไม่แปลกหากการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะพบเจอประชาชนในพื้นที่ที่แสดงออกว่า ชื่นชอบ ชื่นชมในตัวผู้ว่าฯ คนนี้

และคงไม่แปลก หากจะมีภาพประชาชนในพื้นที่ ส่งเสียงสะท้อนการทำงานของผู้ว่าฯ คนนี้ ที่อาจจะยังไม่ถูกอกถูกใจมากนัก

อย่างกรณี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทีมชัชชาติไลฟ์สดขณะลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำท่วม บริเวณห้วยขวาง โดยขณะที่ ชัชชาติ กำลังพูดคุยและถ่ายรูปร่วมกับประชาชน มีชายขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างรายหนึ่ง ขี่เข้ามาจอด แล้วตะโกน บอกนายชัชชาติ ความว่า ให้ นายชัชชาติ ไปตรวจสอบดูน้ำท่วมพื้นที่ลาดพร้าว 64 หน่อยเนื่องจากน้ำท่วมนานแล้ว


วินมอเตอร์ไซค์ : ไปดูลาดพร้าวซอย 64 หน่อย น้ำท่วมนานแล้ว
ชัชชาติ : เดี๋ยวไป ๆ
วินมอเตอร์ไซค์ : มาตรงนี้บ่อยเหลือเกิน
ชัชชาติ : ท่วมนานแล้วใช่ไหม ได้ๆ ลาดพร้าว 64 นะ
วินมอเตอร์ไซค์ : ครับ เค้าถามหาผู้ว่าฯ อยู่


กว่า 100 วันของการทำงาน ชัชชาติ เผชิญทั้งดอกไม้ และก้อนหิน ปัญหา รถติด และ น้ำท่วม 2 โจทย์ใหญ่ ที่ผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนต้องเผชิญ ถาโถมเข้ามาแทบจะพร้อมกัน ในช่วง 100 วันนี้

แต่การทำงานไปพร้อมกับถ่ายทอดสดแทบทุกภารกิจ ยังสะท้อนผลลัพธ์ผ่านมุมมองของคนเมือง ที่ได้รับข่าวสารผ่านช่องทางที่ผู้ว่าฯ นำเสนอไว้

“คิดว่าเขาก็พยายามมากๆ แล้ว ทีมงานเขาด้วย เหมือนกับว่าทีมเวิร์กดี คนกรุงเทพเองก็ร่วมด้วยช่วยกันพร้อมสนับสนุน”
“ก็จะเห็นได้ชัดตามสื่อว่าท่านลงไปจริง สัมผัสจริง แม้แต่จะไปเจอพนักงานเก็บขยะ ท่านได้ไปสัมผัสคนรากหญ้าจริงๆ ก็เป็นบุคคลที่ทุกคนเข้าถึงได้”


ขณะที่ในช่องทางออนไลน์ บางกลุ่มแสดงออกชัดเจนว่า ไม่พึงพอใจต่อผลงานการบริหารของ ชัชชาติ มากนัก

บางคนนำไปเปรียบเทียบกับยุคของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่พวกเขาเชื่อว่า บริหารจัดการน้ำได้ดีกว่า

บางคนมองการถ่ายทอดสดระหว่างลงพื้นที่ของ ชัชชาติ เป็นภาพสะท้อนของการเน้นประชาสัมพันธ์ มากกว่าลงมือทำงาน

แม้ปรากฏภาพการโต้เถียงอย่างดุเดือดในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง นายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ยังเชื่อว่า การถูกจับจ้อง วิพากษ์วิจารณ์โดยผู้เห็นต่าง ยังส่งผลดีมากกว่า

“จริงๆ แล้ว ก็เป็นทั้งประโยชน์และโทษ แต่ในมุมผมเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ คือการถูกจับจ้องจับตาหรือการขัดแข้งขัดขาเป็นเรื่องปกติ ยิ่งจับจ้องจับตาเข้มข้นเท่าไหร่ ก็แปลว่าผลงานที่ออกมาถูกไฮไลท์มากเท่านั้น และยิ่งถ้าทำแล้วสามารถหลุดจากการจับจ้องจับตาจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นได้จริง ยิ่งเป็นตราประทับความสำเร็จ”


ทั้งนี้เพจเฟซบุ๊ก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เมื่อครั้งที่ชัชชาติ ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ปัจจุบัน ผู้ติดตาม 2.7 ล้าน

เพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เริ่มไลฟ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นวันที่เปิดรับสมัครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และหลังจากที่ได้รับตำแหน่งก็มีการถ่ายทอดสดถึงการทำงาน และการลงพื้นที่เรื่อยมา

และเพื่อให้ประชาชนได้ติดตามดูการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งในแต่ละครั้งมีผู้ชมไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น คอมเมนต์กันอย่างล้นหลามจากหลากหลายฝ่าย ดูเหมือนว่าจะยิ่งเป็นการส่งผลดีทั้งกับยอดและการเข้าถึงเพจ

นอกจากนี้ยังมีช่องทางการสื่อสารอย่าง Tiktok เพื่อนชัชชาติ มีผู้ติดตาม 545,400 คน โดยมีสโลแกนทำงานให้สนุก เพื่อกรุงเทพฯ ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าชัชชาติเข้าถึงง่าย และเข้าใจคนรุ่นใหม่

แม้เป็นระยะเวลาเพียง 100 วัน ยังไม่ถึง 1 ใน 10 ของวาระดำรงตำแหน่งทั้งหมด แต่คงไม่ต่างจากผู้ว่าฯ คนก่อนหน้า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะยังถูกจับตามอง การใช้ฝีมือบริหารเมือง สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่จะตามมาในอนาคตได้ดี มากน้อยขนาดไหน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง