แบตเตอรี่กระดาษ ชาร์จไฟด้วยหยดน้ำ พร้อมใช้ภายใน 20 วินาที

Logo Thai PBS
แบตเตอรี่กระดาษ ชาร์จไฟด้วยหยดน้ำ พร้อมใช้ภายใน 20 วินาที
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แบตเตอรี่ใช้แล้วทิ้งรูปแบบใหม่ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่สะสมและมีจำนวนมากขึ้น โดยวัสดุที่ใช้ทำมาจากกระดาษ และชาร์จไฟได้ด้วยหยดน้ำเพียงไม่กี่หยด ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ในวันที่เทคโนโลยีแบบ Smart Living เข้ามาเติมเต็มชีวิตประจำวัน อุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ต ความจำเป็นในการใช้งานแบตเตอรี่ก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีอุปกรณ์มากมายที่ใช้แบตเตอรี่แบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในระยะยาว คงจะดีหากมีการใช้งานแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้พัฒนาการแบตเตอรี่กระดาษที่ใช้พลังงานจากน้ำ หลังการทดลองแล้วพบว่าสามารถจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้พลังงานต่ำได้หลากหลายชนิด เช่น นาฬิกาปลุกหน้าจอ LCD เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ติดตามพัสดุ เป็นต้น

แบตเตอรี่กระดาษพลังน้ำผลิตจากกระดาษที่พิมพ์ด้วยหมึก 3 ชนิด ด้วยการพิมพ์หมึกที่มีเกร็ดแกรไฟต์ (Graphite) ด้านหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เป็นแคโทด (Cathode) คือบริเวณที่รับอิเล็กตรอนจากปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีหรือทำหน้าที่เป็นขั้วบวก อีกด้านพิมพ์ด้วยหมึกที่มีผงสังกะสีทำหน้าที่เป็นขั้วลบ และด้านบนของหมึกทั้ง 2 ชนิดถูกพิมพ์ด้วยหมึกที่มีแกรไฟต์และคาร์บอนแบล็ก ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมปลายขั้วบวกและขั้วลบของแบตเตอรี่เข้ากับสายไฟ 2 เส้นที่วางอยู่ปลายกระดาษที่ถูกเคลือบด้วยขี้ผึ้ง และแถบกระดาษชุบด้วยเกลือเพื่อสร้างอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)

เมื่อต้องการให้แบตเตอรี่ทำงาน เพียงแค่เติมน้ำปริมาณเล็กน้อยเพื่อละลายเกลือในกระดาษ และปล่อยไอออนที่มีประจุให้กระจายไปทั่วกระดาษ เป็นการกระตุ้นการทำงานของแบตเตอรี่ และทำให้สังกะสีปลายด้านลบของแบตเตอรี่ปล่อยอิเล็กตรอน โดยการต่อสายไฟเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อปิดวงจร จะสามารถถ่ายโอนอิเล็กตรอนจากปลายขั้วลบไปยังปลายขั้วบวก และถ่ายโอนไปยังออกซิเจนในอากาศโดยรอบ ปฏิกิริยาเหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างกระแสไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟให้แก่อุปกรณ์ขนาดเล็กได้

การทดลองในครั้งนี้ นักวิจัยได้สร้างแบตเตอรี่จากเซลล์กระดาษ 2 เซลล์ ทดลองจ่ายไฟให้กับนาฬิกาปลุกที่มีจอแสดง LCD 2.4 โวลต์ได้สำเร็จ โดยแบตเตอรี่จะเปิดใช้งานได้ภายในเวลาเพียง 20 วินาที หลังจากได้รับน้ำเพียง 2 หยด ทำให้มีแรงดันไฟฟ้าที่มีความเสถียร ขนาด 1.2 โวลต์ สามารถใช้งานได้เป็นเวลาถึง 1 ชั่วโมง โดยแบตเตอรี่จะหยุดทำงานเมื่อกระดาษแห้ง แต่สามารถเติมน้ำเพิ่มเพื่อรักษาแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ให้คงที่ที่ 0.5 โวลต์ เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง

แบตเตอรี่ที่ผลิตด้วยกระดาษและสังกะสีสามารถนำมาย่อยสลายทางชีวภาพได้ โดยจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใช้แล้วทิ้งได้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนที่มีแนวคิดรักษ์โลก

ที่มาข้อมูล: nature, newscientist, sciencealert, techtimes
ที่มาภาพ: nature
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง