"ผำ" Super Food รังสรรค์เมนูอาหารอนาคตใหม่ของคนไทย

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ย. 65
18:16
1,753
Logo Thai PBS
"ผำ" Super Food รังสรรค์เมนูอาหารอนาคตใหม่ของคนไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเทศไทยพูดถึงแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และขับเคลื่อนมาแล้ว โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ในที่ประชุม APEC ปีนี้ก็หยิบยกมาพูดคุยกันต่ออย่างจริงจัง เพราะคาดการณ์ว่า ใน 30 ปีข้างหน้า "ภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก" จะหนักขึ้น ความต้องการอาหารจะพุ่งสูงถึงร้อยละ 60

ประเทศไทยอาจยังไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"

แต่ความมั่นคงทางอาหาร ไม่ได้หมายความถึงความมีอยู่ของอาหารเท่านั้น แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO กำหนดไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหารประกอบด้วย 4 ประเด็น ดังนี้

1.ประชากรทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยมีอาหารกินได้ทุกเวลา เพียงพอ ตรงตามโภชนาการและมีอาหารที่ปลอดภัย

2.รายได้ของคนมีพอในการเข้าถึงอาหาร

3.การใช้ประโยชน์จากอาหารอย่างคุ้มค่า 

4.ความมั่นคงระยะยาว เพราะทรัพยากรอาจไม่เพียงพอกับการผลิตอาหารแบบเดิมแล้ว

Future Food หรือ อาหารอนาคต จึงเป็นคำตอบ แต่หลายคนก็จะถามว่า Future Food คืออะไร สั้นๆก็คือ อาหารที่ ดีต่อใจ-ดีต่อสุขภาพ-ดีต่อโลก

ยกตัวอย่างการประชุมผู้นำ APEC ในปีนี้ มีการจัดการประกวดค้นหาตัวแทนประเทศไทย รังสรรค์เมนูอาหารอนาคต ภายใต้แนวคิด BCG เพื่อโชว์ศักยภาพ Soft Power ของไทย ในการจัดการประกวดนี้มีผู้ร่วมประกวดกว่า 200 ทีม คัดจนได้ 21 ทีม ที่จะนำเสนอ 21 จานเด็ด สู่สายตาตัวแทนผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ เช่น

ขนมชั้นในอนาคต เป็นขนมชั้นสูตรลดน้ำตาล เสริมใยอาหารและโพรไบโอติกพันธุ์พิเศษ มีใยอาหารสูง ราดด้วยซอสโปรตีนมะพร้าวรสเค็มหวาน นุ่มหนึบ กรุบกรอบ หอมมัน ตามเอกลักษณ์ขนมไทย ส่วนสีชมพูของขนม ก็ได้มาจากสารสกัดเปลือกแก้วมังกร ที่เสถียรต่อความร้อน ช่วยลด Food-Waste หรือขยะอาหาร

ขนมไข่ผำชูกำลัง มูสเต้าหู้ไข่ผำ เจลลี่น้ำผึ้งไข่ผำ กราโนล่า ครีมเต้าหู้ผำสด สูตรไม่มีเจลาตินจากสัตว์ ได้แนวคิดมากจากความชอบทานเต้าหู้ ผักและขนมหวาน ให้โปรตีน วิตามิน กรดอะมิโนและสารอาหารสูง ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์และผักสลัด

ผำ หรือ ไข่ผำ เป็นพืชดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดและโตไวที่สุดในโลก เป็นพืชพื้นถิ่นของไทย สตาร์ตอัปไทยร่วมกับนักวิจัยพบว่า มีสารอาหารระดับ Super Food ที่ใช้น้ำน้อย พื้นที่น้อย และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก สามารถกินได้ทั้งต้นไม่สร้างของเสีย

ปกติคนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานจะนำมาประกอบอาหารปรุงสุก ใส่ไข่เจียว หรือแกงต่างๆ แต่หลังผ่านการวิจัย นำผำมาเลี้ยงในระบบปิดแล้ว ผำ ก็สามารถกินแบบสดได้ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

ในสมัยก่อน ชาวบ้านจะไปตักผำตามบึงธรรมชาติ ราคาขายอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 10 กว่าบาท แต่เมื่อผ่านการวิจัย และรับรองโดย อย. แล้ว ทำให้ตอนนี้ราคาขายอยู่ 150 กรัม ราคา149 บาท หรือ 400 กรัม 299 บาท

และตอนนี้ "ผำ" ผลิตไม่พอขาย หากจะมีเกษตรกรหรือผู้ประกอบการมาผลิตเพิ่ม ทางเกษตรกรผู้ผลิตก็ยินดี เพราะมองว่า เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย ที่จะมาจับเทรนด์ของธุรกิจอาหาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง