นักวิจัยเยอรมัน ใช้ AI ถอดรหัสภาษาสัตว์

Logo Thai PBS
นักวิจัยเยอรมัน ใช้ AI ถอดรหัสภาษาสัตว์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คนรักสัตว์คงชอบใจ หากวันหนึ่งสามารถคุยกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรดรู้เรื่อง เพราะนักวิจัยชาวเยอรมันได้ใช้ระบบ AI ถอดรหัสภาษาสัตว์เพื่อสื่อสารให้เข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้น

สื่อสารข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่มนุษย์ยังคงปรารถนาที่จะเข้าใจภาษาสัตว์อยู่เรื่อยมาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ทั้งการอยากเข้าใจความต้องการของสัตว์เลี้ยง อยากมีเพื่อนคุยคลายเหงา ตลอดจนการศึกษาพฤติกรรมสัตว์ ซึ่งการเข้าใจภาษาของสัตว์จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เมื่อนักวิจัยจากประเทศเยอรมนีได้ทดลองใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถอดรหัสภาษาสัตว์เพื่อศึกษาพฤติกรรม

นักวิจัยชาวเยอรมันใช้ AI ถอดรหัสรูปแบบเสียงที่ไม่ใช่เสียงของมนุษย์ เช่น การเต้นโยกเยกของผึ้ง เสียงความถี่ต่ำของช้าง หรือเสียงของวาฬ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการสื่อสาร ซึ่งออกแบบให้เข้ากับสัตว์แต่ละประเภทและคอยสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

Robo Bee ออกแบบมาเพื่อเลียนแบบการเต้นของผึ้งซึ่งเป็นการสื่อสารกันตามธรรมชาติของผึ้ง ตัวหุ่นยนต์มีลักษณะเป็นฟองน้ำที่มีปีกติดอยู่กับแท่งที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหว และฝึกให้หุ่นยนต์เลียนแบบการเคลื่อนไหวของผึ้ง เช่น การไหลเวียนของอากาศ การสั่นสะเทือน ซึ่งหุ่นยนต์ก็สามารถหลอกให้ผึ้งทำตามคำสั่งได้สำเร็จ ด้วยคำสั่งที่ให้ผึ้งบินเข้าไปในรัง หรือคำสั่งให้หยุดทำกิจกรรมบางอย่าง

การมีเสียงคำรามอันทรงพลังและมักจะเงยหน้าให้งวงชี้ขึ้นไปในอากาศของช้าง นอกจากเสียงที่ดังกึกก้องแล้ว พวกมันยังปล่อยเสียงที่มีความถี่ต่ำที่หูของมนุษย์ปกติไม่สามารถได้ยิน นักวิจัยจึงใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการรับฟังเสียงอินฟราโซนิก ซึ่งทำให้นักวิจัยสามารถได้ยินเสียงอินฟราซาวน์ ซึ่งคล้ายกับการสั่นที่หน้าอก ที่สื่อถึงความรู้สึกไม่สบายใจ

นอกจากนี้ ยังมี Project CEIT (Cetacean Translation Initiative) โครงการเพื่อการรับฟังและแปลการสื่อสารของวาฬสเปิร์ม หรือ วาฬหัวทุย โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารกับสัตว์ทะเล โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตีความหมายของเสียงคลิก หรือ codas ที่วาฬสเปิร์มใช้ในการสื่อสารกัน โครงการนี้เปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ในตอนนี้อยู่ระหว่างการประมวลผล โดยจะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชื่อมโยงแต่ละเสียงของวาฬสเปิร์มกับบริบทเฉพาะ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับวาฬสเปิร์มได้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี ในการบรรลุเป้าหมายนี้

การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับสัตว์ดูเหมือนจะมีข้อดีที่จะทำให้เข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของพวกมันได้ดียิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการนำเทคโนยีนี้มาใช้ก็มีความน่ากังวลอยู่สูง โดยเฉพาะในประเด็นด้านจริยธรรม เพราะอาจมีคนนำมาใช้งานในทางที่ผิด เช่น การหลอกให้ผึ้งมาทำรังเฉพาะจุดเพื่อตีรังผึ้งไปขาย หรือการเข้าใจการสื่อสารและอารมณ์ของช้างเพื่อหวังฆ่าช้างเอางา เป็นต้น และที่สำคัญอาจทำให้มนุษย์ควบคุมหรือบงการชีวิตของพวกมันได้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ควรทำเพื่อเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ก็เพียงพอแล้ว

ที่มาข้อมูล: dailymail, thenationalbulletin, natureworldnews, vox
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง