"อยากเป็น เลขาฯยูเอ็น " ความฝันสูงสุด "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"

การเมือง
23 พ.ย. 65
11:19
4,428
Logo Thai PBS
"อยากเป็น เลขาฯยูเอ็น " ความฝันสูงสุด "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พิธา" เปิดเผยครั้งแรกความฝันอยากสูงสุดทางการเมือง อยากเป็น เลขาฯยูเอ็น คนไทยคนแรก รับเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวไม่ง่าย แต่ลูกสาวเหมือนเป็นเพาเวอร์แบงค์ช่วยเติมพลังให้

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยการเข้าสู่สนามการเมืองและเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง ที่เปิดเผยเป็นครั้งแรกกับ "ไทยพีบีเอส" ในรายการ "มุมการเมือง"

เข้าสู่แวดวงการเมืองได้อย่างไร ?

พิธา : เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลครั้งแรกในปี 2548 ขณะนั้นอยู่ในภาคธุรกิจ โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา โดยได้พบกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยทำงานให้กับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีในขณะนั้น

แต่หากย้อนไปก่อนหน้านี้ เริ่มหลงใหลการเมืองในช่วงอายุประมาณ 12 -13 ปี ขณะนั้นถูกส่งไปเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์ และแม่บ้านที่ไปอยู่ด้วยชอบการเมืองอย่างมาก โดยแม่บ้านนั่งดูการอภิปรายของประเทศนิวซีแลนด์ตลอด ในช่วงราวปี 1992 -1993 ราวปี 2535

ขณะนั้นประเทศนิวซีแลนด์มีทีวี 3 ช่อง มีทางเลือกคือ จะดูรักบี้ คริกเก็ต หรือ รัฐสภาฯ โดยมีนายจิม โบลเจอร์ ดำรงตำแหน่งนายกฯที่ขณะนั้นได้อภิปรายขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ในสภาฯ เราในตอนนั้นที่เป็นเด็กก็นั่งทำการบ้านไปพร้อมกับแม่บ้านไปด้วย ก็ฟังไปก็เริ่มมีความเข้าใจถึงความสำคัญของรัฐสภา

อะไรที่ทำให้หลงใหลการเมือง ?

พิธา : การได้ทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ในช่วงของการทำรัฐประหาร จากนั้นไปทำงานที่ กมธ.ต่างประเทศ สภาฯ ในช่วงปี 2552 -2553 จึงเห็นบทบาทนักธุรกิจ ข้าราชการ บทบาทในทำเนียบรัฐบาลและสภาฯ

หน้าที่ของผมคือ จดโพยอยู่ข้างหลัง ร่างคำปราศรัยให้เจ้านายทั้งนั้น แต่ก็ได้เห็นตั้งแต่ระดับล่างถึงบน หรือ เตรียมการสัมภาษณ์ต่าง ๆ จึงรู้สึกว่า เราเห็นเหรียญครบด้าน ด้วยความที่มันครบวงจร จึงทำให้รู้สึกว่าไม่ตื่นเต้น พอไม่ตื่นเต้น ก็สนุก เพราะได้เป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ และทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

ไอดอลทางการเมืองคือใคร ?

พิธา : บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 42 ก็เป็นอีกคนที่ทำได้ดี หรือ นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกฯญี่ปุ่น ก็เป็นคนที่ต่อสู้หนัก เป็นนายกฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกป่วยมะเร็งลำไส้ อยู่ในตำแหน่งได้ 1 ปีครึ่งก็ออก และกลับมาใหม่ จนกระทั่ง 6-7 ปี และร่างกายไม่ไหว ก็เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อประเทศของเขา

มีไอดอลทางการเมืองที่เป็นคนไทยหรือไม่ ?

พิธา : ไม่ได้ยึดติดตัวบุคคล ก็จะอยู่ในพวกนโยบาย ช่วงของคุณทักษิณ ชินวัตร ก็มีคุณูปการต่อการเมืองไทยพอสมควร และในปี 2022 นี่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศก็อาจจะไปไกลกว่านั้น

จุดสูงสุดทางการเมือง คืออะไร ?

พิธา : บอกที่นี่ที่แรก ก็คือ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เป็นคนไทยคนแรกของโลก ก็มีโอกาสโดยขณะนั้น คุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย  อดีต รองนายกฯ อดีต รมว.ต่างประเทศ และ อดีต รมว.คลัง และเคยถูกเสนอชื่อเพื่อเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ

ตนเองมีโอกาสใกล้ชิดท่าน และได้อยู่ในรัฐบาลไทยรักไทยตอนนั้น โดยได้พบกับนายบัน คี มุน ที่ชนะไป ขณะนั้นมีการรัฐประหารในไทยด้วยจึงทำให้เกาหลีใต้ชนะไป

รวมถึงได้มีโอกาสเจอนายบันคีมุน ที่มหาวิทยาลัยโดยนายบันคีมุน จบหลักสูตรเดียวกัน และจบที่ John F. Kennedy School of Government เหมือนกัน โดยท่านล้อว่า JFK ย่อมาจาก Just Form Korea เพราะท่านก็เป็นชาวเกาหลีใต้ ซึ่งก็รู้สึกว่าคนไทยก็ทำได้ ศักยภาพคนไทยทำได้ จึงหวังว่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุด ในการเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คนแรกของไทย

ทำงานการเมืองแล้ว แบ่งเวลาให้กับครอบครัวอย่างไร ?

พิธา : ลูกสาวตอนนี้ อายุ 6-7 ขวบ ก็ทำให้มีเวลาในการทำงานการเมืองมากขึ้น ตอนเป็น ส.ส.ปีแรก อายุ 2-3 ขวบ ตอนนั้นก็หนักเหมือนกัน ซึ่งการเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเป็น ส.ส.ด้วย

ยังจำได้ว่า ตอนอภิปรายกระดุม 5 เม็ด อุ้มไปเขียนคำอภิปรายไป ก็ยอมรับว่าเหนื่อยพอสมควร แต่เขาก็โตขึ้นเรื่อย ๆ และปรับตัวได้ ก็เป็นเหมือนเพาเวอร์แบงค์ให้ผม รู้สึกว่า ภูมิใจว่าเขาเติบโตขึ้นมาไม่แพ้ครอบครัวไหน

ไม่ว่าผมจะงานยุ่งแค่ไหน เวลาลงพื้นที่ ไม่ใช่ง่าย ๆ ทั้ง จ.ชัยภูมิ อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องขับรถไปไกล ๆ ขึ้นไปหาพี่น้องชาติพันธุ์ ที่ จ.ลำพูน ก็ไปด้วยหมด เป็นการสอนไปในตัว การเรียนรู้มากกว่าที่ห้องเรียนสอน เขาก็สามารถปรับตัวได้มากพอสมควร แต่ว่าก็ยังมีความเป็นเด็กในตัว ไม่อยากให้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามาจนเกินอิสรภาพของเด็กที่เขาควรจะมี

สอนอะไรในเรื่องการเมืองให้กับลูกบ้าง ? 

พิธา : ส่วนใหญ่จะเล่าผ่านนิทาน ไม่มีอะไรดีเท่านิทาน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกัน ถึงแม้ว่าผมจะยุ่ง สภาฯจะปิด 4 - 5 ทุ่ม แต่อย่างน้อย ก็จะหาเวลาอ่านนิทานให้เขาฟัง บางทีอ่านผ่านระบบซูม

บางทีก็รีบกลับบ้านก่อน ถ้าทำงานเสร็จ ก็ต้องขอโทษเพื่อน ๆ ที่ไม่มีเวลาสังสรรค์แบบนักการเมืองคนอื่นเขา ก็ต้องรีบกลับบ้าน และเขาก็เข้าใจ แต่อย่างน้อยมีเวลาอ่านนิทานสัก 15 นาทีต่อวัน แค่นี้ก็ทำให้เรามีความใกล้ชิดกับลูกได้ ซึ่ง นิทานเดี๋ยวนี้ก็สอดแทรกความเป็นจิตสาธารณะเยอะพอสมควร

ลูกเคยฟังการปราศรัย หรือ การอภิปรายของคุณพิธาหรือไม่ ?

พิธา : เคยเห็นเขามาชูป้ายหน้าเวที ก็หวังว่าจะเป็นฟีดแบ็กที่ดี และเมื่อมีอภิปรายในทีวีเขาก็นั่งดู ไปลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก ครั้งก่อน ก็ขึ้นปราศรัยเขาก็มาชูป้ายไฟ แต่ก็คงไม่เข้าใจหรอกว่าพ่อพูดอะไรบ้าง ก็เป็นคนที่บริสุทธิ์ คิดอย่างไร ก็พูดอย่างนั้น ก็ติดพ่อหนักพอสมควร ไปไหนก็ให้กอดให้อุ้มตลอดเวลา ก็มีความสุขดี ความสุขของคนเป็นพ่อ 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง