เปิดแนวทางรักษา "พลายศักดิ์สุรินทร์" ฟื้นจิตใจบั้นปลายในไทย

สิ่งแวดล้อม
2 ธ.ค. 65
12:09
1,308
Logo Thai PBS
เปิดแนวทางรักษา "พลายศักดิ์สุรินทร์" ฟื้นจิตใจบั้นปลายในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัมภาษณ์พิเศษ น.สพ.สิทธิเดช มหาสาวังกุล หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ไทย บินไปรักษา "พลายศักดิ์สุรนทร์ ในศรีลังกา เตรียมรักษาขาที่ถูกล่ามโซ่จนพิการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เยียวยาจิตใจ ในบ้านหลังใหม่ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง

ความคืบหน้าการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยที่ศรีลังการ้องขอไปทำหน้าที่ทางการทูต ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนระหว่างรัฐบาล แต่เบื้องต้นบ้านใหม่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ หลังกลับมาในไทยน่า จะเป็นสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษนายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  ซึ่งบินไปตรวจสุขภาพให้แก่พลายศักดิ์สุรินทร์ บอกว่า ได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ให้ช่วยประเมินอาการพลายศักดิ์สุรินทร์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์

สัตวแพทย์ บอกว่า พบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ มีฝีที่สะโพกด้านซ้ายและขวา ลักษณะค่อนข้างเรื้อรัง ขาหน้าซ้ายแข็ง งอไม่ได้ ต้องเดินเหวี่ยงขา ฝ่าเท้าบางเพราะยื่นอยู่บนพื้นซีเมนต์เป็นเวลานาน 

นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยบาดแผลที่ขาหลังและขาหน้า คาดว่าเกิดจากการถูกมัดตึงด้วยเชือก และโซ่เป็นเวลานาน ทำให้มีรอยแผล ครั้งแรกที่เดินทางไปดูช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าสภาพช้างผอมมาก แต่ผอมน้อยกว่าที่ได้รับข้อมูลก่อนหน้านี้ เพราะหลังถูกร้องเรียน ทางสถานทูตฯ เข้าไปกำชับทางวัดให้เพิ่มปริมาณอาหารให้พลายศักดิ์สุรินทร์ แต่ยังถือว่าอยู่ในสภาพผอม

วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของศรีลังกา จะมัดขาหน้าและขาหลังของช้างโดยใช้โซ่สั้น หากควาญช้างเลี้ยงไม่เก่ง ก็จะมัด 2 ขาหลังติดกันคล้ายเป็นกุญแจมือ ส่งผลให้เดินไม่ค่อยสะดวก ต่างจากวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างในไทยที่ผูกโซ่ยาว 25-30 เมตร มัดเพียงขาหน้า ทำให้ช้างมีรัศมีในการเดินหากินหญ้าในธรรมชาติ

ศรีลังกา มัดทั้งขาหน้าขาหลัง และมัดสั้น ทำให้พื้นที่ในการเดินค่อนข้างจำกัด การนอน-ยืนอยู่ในพื้นที่เล็กๆ มองในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์นั้นวัฒนธรรมของเราค่อนข้างเลี้ยงช้างดีกว่า 

อ่านข่าวเพิ่ม เปิดใจ ควาญช้างไทย เจ้าของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” บินไปดูแลถึงศรีลังกา

ภาพ: RARE Sri Lanka

ภาพ: RARE Sri Lanka

ภาพ: RARE Sri Lanka

รักษาช้า-แผลฝีเรื้อรังนานกว่า 1 ปี

นายสัตวแพทย์สิทธิเดช กล่าวอีกว่า จากการสอบประวัติจากพระ และสภาพแวดล้อมจากควาญ พบว่าช้างเชือกนี้ ไม่เคยได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์ของศรีลังกา เพราะขาหน้าซ้ายงอไม่ได้มามากกว่า 10 ปี ควาญคนใหม่ที่มาเลี้ยงช้างมากกว่า 10 ปี ระบุว่าเห็นอาการนี้ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงต่อจากควาญคนเก่า

ส่วนฝีที่สะโพกเป็นมากว่า 1 ปี ทั้งที่การรักษาไม่ได้ยาก หรืออาจใช้การรักษาด้วยสมุนไพรตามวิถี นอกจากนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังด้อยกว่าไทย และสัตวแพทย์มีจำนวนจำกัด ทำให้อาการของพลายศักดิ์สุรินทร์เรื้อรังมานาน

ถ้าช้างได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่างทันท่วงที อาการไม่น่าจะเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน

พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกเลี้ยงในโรงเรือนเป็นระยะเวลานาน ทำให้สุขภาพทรุดโทรม ขณะนี้สถานทูตฯ ได้ย้ายช้างจากวัดมาอยู่ที่สวนสัตว์กรุงโคลัมโบ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลช้างได้ดีที่สุดในศรีลังกา แต่มีข้อจำกัดเพราะช้างยังถูกเลี้ยงในสถานที่จำกัด ไม่ได้ออกเดินในพื้นที่ธรรมชาติ

พลายศักดิ์สุรินทร์ อยู่ตรงนั้นกินทางมะพร้าวเป็นหลัก ไม่ได้เดินออกกำลังกาย ถูกมัดขาหน้าขาหลัง ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร

บ้านหลังใหม่-แนวทางรักษาถ้ากลับถึงไทย 

ไทยเหมาะสมในการรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างกึ่งธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือสุขภาพจิต เป็นการเยียวยาทางด้านจิตใจ เพราะช้างถูกเลี้ยงในสถานที่แคบ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับช้างเชือกอื่น ๆ

นอกจากนี้ นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มองว่า ส่วนฝีและขาที่งอไม่ได้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อถูกปล่อยให้ป่วยเรื้อรัง จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ที่พลายศักดิ์สุรินทร์จะกลับมาเดินได้เหมือนเดิม 100% หรือไม่ แต่เชื่อว่าหากถูกส่งกลับมารักษาในไทยก็น่าจะมีพัฒนาการที่ดีกว่านี้

แนวทางรักษากรณีที่พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกย้ายมาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ลําปาง น.สพ.สิทธิเดช กล่าวว่า จะเลี้ยงช้างแบบกึ่งธรรมชาติ มีพื้นที่เดินเล่น ออกกำลังกายในป่าธรรมชาติส่วนฝีเรื้อรังอาจไม่หายเป็นปกติ เพราะกลายเป็นเนื้อตายบางส่วน

การรักษาขาอาจกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ฝังเข็ม ใช้เลเซอร์ ซึ่งเทคโนโลยีของไทยค่อนข้างดีและมีความพร้อม สามารถระดมทีมสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ มาช่วยรักษา
ภาพ:ทองสุก มะลิงาม

ภาพ:ทองสุก มะลิงาม

ภาพ:ทองสุก มะลิงาม

ขั้นตอนการเคลื่อนย้ายช้าง

นายสัตวแพทย์สิทธิเดช กล่าวอีกว่า จากประเมินข้อแตกต่างของการเคลื่อนย้ายช้างกลับไทย ว่า ทางเรือใช้เวลา 7-10 วัน ส่วนเครื่องบินใช้เวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ต้องดูนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้มีควาญเก่าที่เคยดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์ตอนเด็กไปอยู่ที่ศรีลังกา โดยพยายามทำความคุ้นเคยให้มากที่สุด เพื่อให้เคลื่อนย้ายอย่างปลอดภัย

ถ้าจะย้ายจริง ๆ ต้องเอาควาญคนไทยไปเพิ่ม เพื่อจับ ฝึก และขนย้ายอย่างปลอดภัย

ไทยส่งช้างไปศรีลังกา 3 เชือก 

สำหรับช้างที่รัฐบาลไทยส่งให้ศรีลังกามีทั้งหมด 3 เชือก คือ พลายประตูผา ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ส่งไปเมื่อปี 2523 ขณะนี้อายุ 50 ปี โดยเครื่องบิน C-130 เพื่อไปแห่พระเขี้ยวแก้ว, พลายศักดิ์สุรินทร์ และพลายศรีณรงค์ ถูกส่งไปพร้อมกันเมื่อปี 2544 ขณะนี้อายุ 30 ปี ซึ่งการตรวจสอบล่าสุดพบว่าพลายประตูผา และพลายศักดิ์ณรงค์ สุขภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ จึงไม่เป็นประเด็นร้องเรียนจากเอ็นจีโอในศรีลังกา

สำหรับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ลําปาง มีช้างอยู่ในความดูแล 120 เชือก เป็นช้างบริจาคจากหน่วยงานรัฐและวัด ทั้งช้างชรา ช้างพิการ ช้างป่วย และช้างดุร้ายเคยทำร้ายคน โดยควาญที่นี่จะเลี้ยงช้างด้วยวิธีกึ่งธรรมชาติ เนื้อที่กว่า 1,000 ไร่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทวงคืน "พลายศักดิ์สุรินทร์" จากศรีลังกากลับไทย

คาดเลื่อนส่งกลับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" 1-2 เดือนยังบาดเจ็บ-ตกมัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง