โรงคั่วกาแฟ 23 ROASTER “ร้านกาแฟ” ฝ่าวิกฤต - “โควิด” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ไลฟ์สไตล์
7 ธ.ค. 65
20:14
607
Logo Thai PBS
โรงคั่วกาแฟ 23 ROASTER  “ร้านกาแฟ” ฝ่าวิกฤต - “โควิด” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ที่นอกจากเกษตรกรรมแล้ว การท่องเที่ยว เป็นแหล่งรายได้หลักของท้องถิ่น

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 จึงเป็นความหวังว่า การ "ฟื้นอันดามัน" จะกลับมา โดยเฉพาะใน จ.กระบี่ และภูเก็ต

“ไทยพีบีเอสออนไลน์” ไป จ.กระบี่ เพื่อดูการฟื้นตัวทางธุรกิจของที่นั่น ก่อนงาน "ไทยพีบีเอสสัญจรอันดามัน" ในวันที่ 10-11 ธ.ค. ซึ่งเป็นกิจกรรมสัญจร เพื่อไปดูวิถีการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของทั้ง 2 จังหวัด

เราไปดูธุรกิจร้านกาแฟ ที่ตั้งขึ้นก่อนเกิดโควิดระบาดเพียง 4 เดือน เจ้าของยังไม่ทันเข้าใจวิธีทำกาแฟ ชงกาแฟ อย่างเชี่ยวชาญ ประเทศเราก็ปิดลง ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา มีแต่คนต่างชาติจำนวนหนึ่งที่ตกค้างในพื้นที่

แหล่งท่องเที่ยวปิด อุทยานแห่งชาติปิด คนไทยก็ไม่เดินทาง เพราะมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

“เอ๋” ฌณินญา นฤโชควนินทร เจ้าของร้านโรงคั่วกาแฟ 23 อ.เมือง จ.กระบี่ เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นก่อนมาทำร้านกาแฟ และการต่อสู้ที่ผ่านวิกฤตในวันนั้นมาได้จนถึงวันนี้

เอ๋เล่าย้อนไปตั้งแต่เธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกลับมาช่วยงานธุรกิจของทางบ้าน

ตอนเรียนจบคุณแม่เปิดร้านอาหารที่หาดนพรัตน์ธารา จึงกลับมาช่วยทำร้านอาหารที่บ้าน ก่อนไปช่วยงานโรงแรมของญาติ จากนั้นมาเปิดธุรกิจท่องเที่ยว ขายทัวร์ และโฮสเทล เป็นของตัวเอง และเปิดร้านกาแฟ เปิดได้ 4 เดือน โควิดก็มา

ทำไมจึงอยากมาเปิดร้านกาแฟ

ไทยพีบีเอสอนไลน์ : อะไรคือแรงบันดาลใจให้มาเปิดร้านกาแฟ
เอ๋ : ตอนที่เปิดโฮสเทล เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเฉพาะช่วงไฮซีซั่น จากนั้นก็คิดว่าจะทำธุรกิจอื่นเพิ่มอีก เพราะเราชอบงานบริการ เราจะมีเพื่อนชาวต่างชาติมาก จึงคิดกับแฟนว่า ถ้าเราจะทำอีกอาชีพ แล้วเราต้องลงทุน เราต้องทำอะไร ก็เลยตั้งกรอบไว้ว่า ต้องเป็นสิ่งที่เราชอบ ทำแล้วมีความสุข สองก็คือมีโอกาสได้ทำงานทั้งโฮสเทล แล้วก็โรงคั่วกาแฟด้วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : เมื่อตัดสินใจทำร้านกาแฟแล้วเริ่มยังไง

เอ๋ : คิดแค่ 15 นาที ไปเรียน 15 วัน แล้วห้าเดือนเปิดคะ คือคิดในเวลาอันรวดเร็วมาก เรารู้สึกว่า มันมีแรงมีพลังอยู่ในในใจเรา ว่ามันเป็นอาชีพที่น่าจะทำแล้วมีความสุข เพราะตอนนั้น มุ่งเน้นเรื่องอาชีพที่สอง ด้วยความคิดที่ว่า เราจะทำอาชีพนี้ไปจนอายุแก่เฒ่า คิดไว้อย่างนี้ก็มีความสุขแล้ว เดี๋ยวสิ่งดีดีก็จะตามมาเอง ตอนนั้นคิดแค่นั้นคะ

ตอนที่ทำโฮเทล เราก็เสิร์ฟอาหารเช้าเอง ก็เลยอยากจะหากาแฟที่มีคุณภาพมาเสิร์ฟให้แขกที่มาพัก เพราะส่วนใหญ่ 90 % เป็นชาวต่างชาติ ก็เลยนึกถึงกาแฟไทย แล้วบังเอิญก็หาข้อมูลไปเจอคุณครูกาแฟกำลังเปิดทริป ที่จะไปท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องกาแฟ

ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าจะทำธุรกิจกาแฟ ก็แค่รู้สึกว่าดูน่าศึกษาดี แล้วเราก็อาจจะได้มีเสน่ห์ ความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ นำกาแฟไทย มาเสิร์ฟแขกถึงที่พัก หลังจากที่ได้เสิร์ฟกาแฟไทย ลูกค้าต่างชาติชอบและประทับใจมาก กลายเป็นว่า เวลาลูกค้ามาเช็กอินจะถามถึงกาแฟ เพราะมีลูกค้าไปรีวิวใน Booking.com เรื่องกาแฟ เราก็เลยยิ่งรู้สึกประทับใจในเรื่องกาแฟมากขึ้น

เอ๋เล่าต่อว่า แล้วก็คิดว่า จะทำยังไงที่จะช่วยส่งเสริมเกษตรกร เพราะเริ่มรู้จักเกษตรกรที่ปลูกกาแฟ ก็อยากจะสนับสนุนเขา เกษตรกรที่ตั้งใจทำกาแฟไทยดีดี และด้วยคำพูดของแขกที่มาพัก มันเหมือนเป็นเสียงที่ก้องในหูอยู่ตลอดว่า

เขาไม่รู้มาก่อนว่า เมืองไทยปลูกกาแฟ เป็นอะไรที่สะดุดใจมากเลยนะคะ และลูกค้าขอซื้อเมล็ดกาแฟไทยกลับไป นี่แหละค่ะที่ทำให้ตอนที่เลือกที่จะทำอาชีพนี้ แล้วก็มาสำรวจตัวเองว่า เอ๊ะทำไมเราถึงอยากเดินทางไปท่องเที่ยวกาแฟ เราคงรักกาแฟมั้ง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ตอนนั้นทำร้านกาแฟหรือยัง
เอ๋ : ยังคะ ตอนนั้นเดินทางไปเที่ยวชมไร่กาแฟกับพี่อ๊อด ซึ่งเป็นครูสอนกาแฟ พี่อ๊อดทำให้รู้สึกประทับใจกาแฟ และทำให้รู้สึกว่า กาแฟเป็นเรื่องง่ายที่เข้าถึงง่าย

เราต้องเสิร์ฟกาแฟที่มีคุณภาพ สะอาด ตรงนี้เป็นจุดที่คิดว่า กาแฟสะอาดคืออะไร ก็เป็นจุดที่ทำให้สนใจที่จะเรียนรู้ เลยหันไปถามพี่แมวว่าคั่วกาแฟได้มั้ย หรือว่าเปิดโรงคั่ว ซึ่งตอนนั้นน่ะไม่มีความรู้เราไม่รู้เลยว่า จริง ๆ แล้วสิ่งที่ยากที่สุดคือ การคั่ว

คิดไปแต่สิ่งที่ดี รู้สึกว่าเราน่าจะทำได้ ก็ได้ส่งกาแฟให้ถึงคนดื่ม เพราะกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวท้องถิ่น และคนไทยที่อยู่ใกล้เคียงก็มาเที่ยวกระบี่

ต่อมามาเจอพี่ที่เขาเป็นศิลปินวาดรูป เขาบอกว่า คนกระบี่ไม่ได้อินดี้พอจะมากินกาแฟในร้านห้องกระจก มีเครื่องคั่วกาแฟ แล้วมานั่งชิล ๆ

เราก็เลยใช้ที่ดินตรงนี้ ซึ่งเป็นที่ดินของญาติ เขาทำเป็นโรงเก็บไม้ที่ทิ้งร้างไว้ 20 ปี เราไปเรียนทำกาแฟ 15 วัน กลับมาก็สร้างตรงนี้เลยคะ ใช้เวลา 5 เดือน คนอื่นเขางงมากว่าจะทำอะไร คนในวงการกาแฟก็งง

“โควิด” เหมือนวิกฤต แต่กลับเป็นโอกาส

ตอนแรกคิดว่าตั้งใจจะขายเมล็ดอย่างเดียว ให้พี่แมว (แฟน) คั่วไปนะ เอ๋ก็จะชงกาแฟชิล ๆ อดทนซัก 2-3 ปี ค่อยมีคนรู้จัก เพราะเราคิดว่าจะไม่ซื้อสื่อโฆษณาอะไร และทำไปเรื่อย ๆ แต่พอเกิดวิกฤตการณ์โควิดนี่แหละ อาชีพอื่นที่เรามีรายได้ กลายเป็นศูนย์หมดเลย คือกาแฟกลายเป็นเลี้ยงชีพ เพราะโฮสเทลมันก็เป็นศูนย์

เดิมที่เราคิดว่า 2-3 ปี ค่อยเป็นที่รู้จัก ปรากฏว่า 2-3 เดือนคนก็มาแล้ว ชงไม่ทันแล้วคะ เริ่มรับลูกค้าไม่ทัน ตกใจกับคนมากเพราะเราก็คิดว่า ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป แล้วเมล็ดกาแฟก็เริ่มขายได้ มีร้านคาเฟ่ที่ให้การสนับสนุนเราตั้งแต่แรก ซื้อเมล็ดกาแฟของเราไปใช้เสิร์ฟในร้านที่เป็นคาเฟ่

เอ๋เล่าต่อว่า ตอนนั้นตั้งใจว่า เราจะขายเมล็ดกาแฟ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำคาเฟ่แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาเปิดจริง ๆ มันกลับด้าน ทั้งที่ตอนแรกคือไม่อยากจะรับพนักงานเลย เราอยากทำชิล ๆ แต่พอมันกลับด้านคือลูกค้าเข้ามาแล้ว ถ้าเรารับไม่ทันเขาก็จะเสียความรู้สึก

ก่อนโควิดระบาด โซเชียลมีเดียมันกระจายไปไกลมากแล้ว ทำให้ร้านเราเริ่มเป็นที่รู้จัก ระหว่างที่เขาล็อกดาวน์ ร้านเราก็ไม่ได้ปิด คนเลยเที่ยวกันในจังหวัด บางคนมาจากไกลๆ ต่างอำเภอ บางคนมากันเป็นครอบครัว เราเริ่มชงไม่ทันแล้ว บางทีลูกค้า หรือพี่ๆ ก็มาช่วยชง เลยตัดสินใจเปิดรับบาริสต้าเพิ่มขึ้นมา 1 คน และน้องช่วยทำความสะอาด

ตอนแรกก็ทำกันสองคนกับแฟน ซักพักหนึ่งเริ่มทำไม่ไหว เพราะไม่มีวันหยุด และไม่ชิลอย่างที่เราคิดแล้ว

ร้านเราอยู่ที่บ้านช่องพลี อ.เมือง จ.กระบี่ เหมือนประตูต้อนรับสู่สถานที่ท่องเที่ยวคือ ทางไปที่อ่าวนาง ใคร ๆ ก็รู้จักอ่าวนาง ลูกค้าของเราในช่วงโควิดมีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่กลับประเทศไม่ได้ ต้องพักพิงอยู่เมืองไทย เป็นเวลาหลายเดือน หลายคนเริ่มทำงาน WFH ทำให้เรามีลูกค้าประจำมากขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ส่งเสริม-เชื่อมโยงกับเกษตรกรปลูกกาแฟ

เอ๋เล่าต่อถึงอีกมุมหนึ่งในช่วงที่ต้องติดอยู่กับการระบาดของโควิด-19 ว่า ในช่วงเวลานั้น เป็นช่องทางที่ทำให้เราได้พบกับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟมากขึ้น แม้แต่กาแฟของกระบี่ ที่เกษตรกรบอกว่า อยากพัฒนาให้ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังสนับสนุนกาแฟจากอีกหลายแหล่ง ทั้งของภาคเหนือหลายจังหวัด ที่เราสลับหมุนเวียนไปซื้อเมล็ดพันธุ์อยู่ กาแฟกระบี่ กาแฟระนอง เชียงใหม่ เชียงรายตาก ฯลฯ ยิ่งทำให้รักกาแฟมากขึ้น และรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำแค่อาชีพ หรือทำเป็นธุรกิจอย่างเดียว

เหมือนความคิดตั้งแต่แรกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ทำให้มีแรงผลักดันที่จะทำตรงนี้ รวมไปถึงการเรียนรู้เรื่องกาแฟ เพราะคนดื่มมีความรู้ บางคนรู้มากกว่าเราอีก บางคนอยากไปเปิดร้านเอง เราก็แนะนำเมล็ดกาแฟให้ หรือการนำไปชงดื่มเองที่บ้าน ซึ่งตอนโควิดทำให้หลายคนเรียนรู้การดื่มกาแฟแบบชงเองที่บ้านมากขึ้น ส่วนธุรกิจก็ได้อาศัยช่วงเวลาตอนนั้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองไปด้วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : เมล็ดกาแฟในร้านมาจากไหนบ้าง
ตอบ : มาจากหลายที่ทั่วประเทศ แต่โรงคั่วทุกโรงจะต้องเสนอความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตนของโรงคั่ว หรือที่เราเรียกว่า สูตร House Blend หรือสูตรประจำโรงคั่ว ของเราก็เป็น Red Bird ตั้งใจไว้ว่า ให้มีโรบัสต้าเข้ามาผสมผสาน มีการปรุงรสชาติมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ระดับการคั่วที่แตกต่าง หรือแตกต่างของแหล่งที่มา ซึ่ง Red Bird คั่วไม่เข้มมาก เป็นคาราเมล มีฟรุตตี้บาง ๆ ที่สำคัญอยากปูพื้นฐานโรบัสต้า ที่เป็นกาแฟของภาคใต้ และกระบี่ ซึ่งก่อนหน้านี้เราใช้โรบัสต้าของเชียงราย มาผสมด้วย

วันหนึ่งมีน้องเกษตรกร ที่สวนภูตะวัน อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ เขามาหา เขาเพิ่งเริ่มต้นทำกาแฟ ก็เลยบอกไปว่า ถ้าน้องทำพี่จะรับซื้อ แล้วตอนนี้น้องเขาก็ทำได้ และขยายฐานเพื่อรับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย เช่น คั่วเอง ไปออกงานต่าง ๆ และยกคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา

ตรงนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจว่า เราก็จะสนับสนุนเกษตรกร และชุมชน ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพกาแฟ และเราก็ได้สนับสนุนรายอื่น ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปทุกปี แต่เราก็เป็นแค่ฟันเฟืองเล็ก ๆ ในวงการกาแฟ

ตอนที่จะทำโรงคั่วคิดว่าเป็นกาแฟแห่งความหวัง ความหวังของตัวเอง และความหวังของเกษตรกร เขาดีใจกันมากเลย ที่กาแฟจากภาคเหนือ จากพื้นที่กันดารมาก แล้วเรานำมาคั่วที่กระบี่ ส่งภาพไปให้เขาดูว่า ลูกค้าชาวต่างชาติและคนไทยชอบกาแฟเขามาก เขาดีใจ เหมือนเป็นการส่งต่อสิ่งดี ๆ กำลังใจดีร่วมกัน แต่พอเกิดโควิดขึ้น ทุก ๆ อาชีพ ที่เกิดปัญหาเราก็ให้กำลังใจกันว่า เราก็เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

ก่อนโควิดระบาด ทุกคนกำลังเจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อเกิดวิกฤตเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาตัวเอง อย่าวางกรอบให้ตัวเอง ว่าฉันชอบ ฉันไม่ชอบ ลองเปิดใจบางทีเราจะเห็นโอกาสหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น แล้วก็อย่าลืมพัฒนาตัวเอง เพราะมันเป็นอาชีพของเรา สิ่งดี ๆ ก็จะตอบกลับมาให้เราเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง