กำเนิด "ทศกัณฐ์" : เมื่ออำนาจถูกใช้ในทางที่ผิด

Logo Thai PBS
กำเนิด "ทศกัณฐ์" : เมื่ออำนาจถูกใช้ในทางที่ผิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รามเกียรติ์ฉบับย่อยวันนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์เสนอตอน "นารายณ์ปราบนนทก" ความแค้นของยักษ์ที่ถูกเทวดากลั่นแกล้ง จนทำให้กลับมาเกิดใหม่และตามแก้แค้นเหล่าเทวดาคืนในร่างของ "ทศกัณฐ์"

นนทก คือ ยักษาตนหนึ่งอยู่ที่เชิงเขาไกรลาส มีหน้าที่ล้างเท้าให้เทวดา ที่ต้องการเข้าเฝ้าพระอิศวร นนทกเป็นยักษ์ที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่ได้ดูดีแบบเทวดา แล้วหน้าที่ก็แค่ล้างเท้าให้ จึงถูกเหล่าเทวดากลั่นแกล้งเป็นประจำ บ้างก็เตะ บ้างก็ถีบ บ้างก็ลูบหัว ดึงผมจนหัวตรงกลางกบาลเริ่มล้าน

วันหนึ่งความอดทนที่มีมานานแสนนานก็หมดลง นนทกตัดสินใจขอเข้าเฝ้าพระอิศวร กราบทูลถึงความดีที่ตนเฝ้าเพียรทำมาตลอดเวลา โดยมิได้เคยขออะไรจากพระอิศวรเลยแม้แต่สิ่งเดียว ครั้งนี้จึงทูลขอ “นิ้วเพชร” ที่หากชี้ไปที่ใคร ผู้นั้นจักถึงชีวาวางวาย

ด้วยความสงสาร พระอิศวรมอบพรนั้นให้ โดยไม่ได้คิดว่า สิ่งที่ให้นนทกไปนั้น นนทกจะนำไปใช้ในทางที่ผิด เพราะเมื่อเทวดามากลั่นแกล้งนนทกอีก นนทกก็ใช้นิ้วเพชรชี้ปลิดชีวาของเทวดาเป็นว่าเล่น

ความล่วงรู้ถึงพระเนตรพระกรรณพระอิศวร พระอิศวรโกรธมากที่นนทกนำพรของตนไปใช้ในทางที่ผิด จึงสั่งให้พระนารายณ์ลงไปปราบนนทกเสียให้สิ้น

พระนารายณ์จึงแปลงกายเป็น “นางสุวรรณอัปสร” นางอัปสรแสนสวย มาเกี้ยวพาราสี นนทก พยายามหลอกล่อให้นนทกฟ้อนรำตามตนไปเรื่อยๆ จนถึง “ท่านาคาม้วนหาง” มือที่จีบลงทำมุมชี้เข้ากับขาตนเอง นิ้วเพชรก็ทำงานโดยการปล่อยแสงเข้าใส่ขาของนนทกทันที

เมื่อนนทกล้มลง นางสุวรรณอัปสร จึงแปลงกายกลับร่างเดิมคือ พระนารายณ์ร่างเขียว 4 กร เหยียบอกนนทก พร้อมกับเอ่ยวาจาสั่งสอนถึงความผิดในการกระทำของนนทก

แทนที่จะสำนึก นนทกกลับยอกย้อนพระนารายณ์คืนว่า

ดูเอาเถิด ตัวมีถึงสี่กร
ยังต้องแปลงกายเป็นนางอัปสร มารังแกเราได้
หรือแท้จริงคือเกรงกลัวนิ้วเพชร
จึงมิกล้าสู้กันซึ่งหน้า

พระนารายณ์ได้ยินเข้า จึงสาปนนทกไว้ว่า

ชาตินี้มึงมีแต่สองหัตถ์
ลงไปอุบัติเอาชาติใหม่
ให้สิบเศียรสิบพักตร์เกรียงไกร
เหาะเหินเดินอากาศได้ในอัมพร
กูจะเป็นมนุษย์แต่สองกร
ตามไป ราญรอน ชีวีมึง

สิ้นคำสาป พระนารายณ์จึงใช้พระแสงตรีตัดเศียรของนนทกขาดกระเด็นเสีย

เมื่อสูญสิ้นนนทกนิ้วเพชรในกาลนั้นแล้ว กาลถัดมา นนทกได้กลับชาติมาเกิดเป็นยักษา ลูกท้าวลัสเตียน เจ้าเมืองลงกา มี 10 หัว 10 หน้า 20 มือ มีแม่ชื่อ นางรัชฎา พร้อมพี่น้องร่วมอุทรอีก 6 ตน ภายใต้ชื่อ “ทศกัณฐ์”

ส่วนพระนารายณ์ได้อวตารลงมาเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาในนาม “พระราม” มี 2 มือ 2 ขา และจะตามฆ่าเอาชีวาของทศกัณฐ์อีกต่อไป

 

“ไม่ผิด” ที่นนทกจะขอให้ตนมีอำนาจวิเศษจากพระอิศวร หากสิ่งที่นนทกขอนั้น ขอเพื่อใช้ในการป้องกันตัวเอง

แต่ “ผิด” ที่เมื่อตนได้อำนาจนั้นมาแล้ว กลับหลงไหลในอำนาจ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ยิ่งเมื่อใดก็ตามที่คิดว่าตนถูกรังแก ความอดทน ไตร่ตรอง การยับยั้งชั่งใจจะหยุดทำงานขึ้นมาทันที และมันมักจะลงท้ายด้วยหายนะเสมอ นนทกคิดว่าตนทำงานล้างเท้าให้เทวดาเพื่อเข้าเฝ้าพระอิศวรมานานแสนนาน โดยที่มิเคยขอรางวัลใดๆ นั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นนทกคิดว่า สิ่งที่ตนต้องการจะเป็นจริงอย่างแน่นอน และพระอิศวรก็ต้องให้ รวมถึงเข้าข้าง เพราะตนรับใช้มานาน

แต่ผู้มีอำนาจที่เจริญแล้ว ย่อมมองออกเสมอว่า อะไรดีหรือแย่ อะไรควรปราม ให้โอกาส หรือลงโทษ

เพราะการหลงในอำนาจ
เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคมต้องเดือดร้อนไปด้วย

หมายเหตุ :
กัณฐ์ แปลว่า คอ
กรรณ แปลว่า หู
“นาคาม้วนหาง” เป็นชื่อท่ารำแบบหนึ่ง โดยมือข้างหนึ่งจีบหงาย งอข้อศอก หักข้อมือเข้าหาแง่ศีรษะ มืออีกข้างหนึ่งจีบหงายระดับชายพก เอียงศีรษะข้างเดียวกับมือต่ำ

อ้างอิง : บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง