จับตา! ทิศทางคราบน้ำมันดีเซล ร.ล.สุโขทัยเข้า "หาดทุ่งวัวแล่น" ชุมพร 26 ธ.ค.นี้

สังคม
25 ธ.ค. 65
10:36
281
Logo Thai PBS
จับตา! ทิศทางคราบน้ำมันดีเซล ร.ล.สุโขทัยเข้า "หาดทุ่งวัวแล่น" ชุมพร 26 ธ.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดแบบจำลองคราบน้ำมันดีเซลจากเรือหลวงสุโขทัย มีทิศทางเข้าชายหาดทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร พรุ่งนี้ (26 ธ.ค.) ชี้อาจน้อยกว่า 1,000 ลิตร จากน้ำมันทั้งหมด 15,000-20,000 ลิตร คาดสลายตัวได้เองไม่ต้องใช้ Dispersant กำจัด

วันนี้ (25 ธ.ค.2565) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จากการติดตามสถานการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางลงทะเลอ่าวไทย ร่วมกับ ทีม ศรชล. และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพื่อติดตามทิศทางคราบน้ำมันและผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล

โดยกองทัพเรือระบุว่า มีน้ำมันดีเซล ราว 15,000-20,000 ลิตร ที่อยู่ในเรือหลวงสุโขทัย จึงได้ประสานขอให้ คพ. ประเมินการคาดการณ์แนวทางการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (OILMAP) ซึ่งตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า คราบน้ำมันจะมีแนวทางการเคลื่อนตัวไปในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า จากข้อมูลจำลองทิศทางของครบน้ำมันอาจจะเริ่มเข้าสู่ชายฝั่งในบริเวณตั้งแต่หาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร จนถึง ต.ด่านสวี อ.สวี จ.ชุมพร โดยจะเริ่มเข้าสู่ชายฝั่งในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ ในเวลา 21.00 น. โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ํามัน เข้าสู่ชายฝั่งทั้งหมดน้อยกว่า 1,000 ลิตร

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา เริ่มพบคราบน้ำมันสีเงินเป็นทางยาว และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในวันที่ 23-24 ธ.ค.นี้ ประมาณ 17 ตัน ยังอยู่ในระดับ (Tier I ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ)

น้ำมันที่รั่วไหล เป็นน้ำมันดีเซล แต่ระเหยเร็วผลกระทบจะต่างกับน้ำมันดิบและกองทัพเรือยังไม่ขออนุมัติใช้สาร Dispersant ในการกำจัดคราบน้ำมัน

ชี้น้ำมันจะสลายในช่วง 5 วัน

ข้อมูลจาก คพ. ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้การขจัดคราบน้ำมันด้วยวิธีการกักและเก็บน้ำมัน หรือการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน แต่ควรเร่งให้มีการแตกตัวของน้ำมันเพื่อเพิ่มอัตราการสลายตัว เช่น การโปรยน้ำ การตีน้ำกรณีที่คลื่นลมสงบ

เนื่องจากคุณสมบัติของคราบน้ำมันที่พบจะสามารถสลายตัวได้ในระยะเวลาไม่นาน พบว่าน้ำมันดีเซลจะสลายตัวได้ร้อยละ 40 ภายในเวลา 48 ชั่วโมง และจะสลายตัวเกือบหมดภายใน 5 วัน

ส่วนน้ำมันดีเซลก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จากการประเมินลักษณะคราบน้ำมันที่พบ คาดว่า สัตว์ในกลุ่มหอย หมึก สัตว์มี ข้อปล้อง (กุ้ง,ปู) และไส้เดือนทะเลมีความอ่อนไหวต่อน้ำมันที่รั่วไหล เช่น ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก สัตว์กลุ่ม ไส้เดือนทะเลพบว่ามีอัตราการตายสูง

ในส่วนของสัตว์มีข้อปล้อง พบมีการสะสมในตัวสัตว์เพิ่มขึ้นสัตว์กลุ่มหอย หมึก โดยเฉพาะในกลุ่มหอยพบว่ามีปริมาณน้ำมันดีเซลสะสมในตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์กลุ่มอื่นๆ ในระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เคลื่อนที่ช้า บางชนิดเป็นสัตว์ที่อยู่กับที่ และมีพฤติกรรมการกินส่วนใหญ่แบบกรองกิน

ทั้งนี้ คพ. ได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 14 ติดตาม เฝ้าระวัง ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง