ช่องโหว่ค่าธรรมเนียมอุทยานรั่วไหล ดัน "E-ticket" นำร่อง 6 แห่ง

Logo Thai PBS
ช่องโหว่ค่าธรรมเนียมอุทยานรั่วไหล ดัน "E-ticket" นำร่อง 6 แห่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดช่องโหว่เก็บเงินค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติรั่วไหล ใช้ระบบตั๋ววน จนต้องนำร่องใช้ระบบ E-ticket ใน 6 อุทยานชื่อดัง ทั้งหมู่เกาะทางทะเลฝั่งอันดามัน เขาใหญ่ เอราวัณ เริ่มใช้เข้าพื้นที่ 7 ม.ค.นี้

กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการจัดเก็บเงินรายได้เข้าอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ป.ป.ช.ที่เสนอให้ปฏิบัติตามมติ ป.ป.ช. ที่ให้ใช้รูปแบบ E-ticket เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จนทำให้เกิดการจัดเก็บเงินสดที่บริเวณหน้าแหล่งท่องเที่ยว 

วันนี้ (3 ม.ค.2566) นายสิทธิชัย เสรีแสงส่ง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ที่ผ่านมาได้จัดทำข้อ มูลชี้แจงป.ป.ช.ที่มีข้อเสนอ 7 ด้าน ให้ต้องตรวจสอบและปรับปรุง โดยสรุปสาระสำคัญ ก็คือ เรื่องการตรวจสอบเงิน และจำนวนนักท่องเที่ยว

พยายามเดินหน้าจัดทำระบบ E-ticket บัตรเครดิต และคิวอาร์โค้ด เปิดใช้ระบบเมื่อ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อจะใช้เข้าพื้นที่ตั้งแต่ 7 ม.ค.นี้ นำร่องใน 6 แห่ง โดยที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เนื่องจาก ต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์ตรวจสอบ QR โค้ดของนักท่องเที่ยว

อ่านข่าวเพิ่ม กรมอุทยานฯ ตอบ 7 ประเด็นข้อสงสัย ป.ป.ช.

นำร่องแก้ตั๋ว E-ticket นำร่องใน 6 แห่ง

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ  กล่าวว่า ได้ปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษา โดยเพิ่มช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดบัญชีประเภทกระแสรายวัน หรือสะสมทรัพย์ เพื่อรับเงินโอน และให้ใช้ใบเสร็จเป็นหลักฐาน เว้นแต่ค่าบริการที่ไม่ได้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ใช้บัตรค่าบริการ

การใช้ E-ticket นำร่องใน 6 พื้นที่ได้เริ่มใช้วันที่ 7 ม.ค.นี้ ที่ผ่านมามีการศึกษาและทดสอบระบบ และระเบียบการเก็บรักษาการนำไปใช้ต้องหารือกรมบัญชีกลาง เพราะเงินที่เก็บต้องเข้าไปที่เอกชนผ่านระบบแอป QueQ จากนั้นถึงจะโอนจากแอป QueQ เข้ากรมอุทยานฯ ทำให้ระบบช้า 

ไม่มีการทบทวนโครงการ เพราะป.ป.ช.ต้องการให้ E-ticket เพื่อไม่ให้เงินสดผ่านมือเจ้าหน้าที่ และอุทยานฯ พยายามเร่ง แต่ก็ช้าอยู่นำร่องแค่ 6 แห่งเหมือนการทดลองใช้ ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาพราะบางแห่งไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต 

ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น การเปิดเผยการอนุมัติงบประมาณ และการจัดเก็บรายได้ มีคำชี้แจงว่า มีขั้นตอนการนำเสนอผ่านอธิบดี หากไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้แจ้งต่อคณะกรรมการในการประชุม ซึ่งในวันนี้จะมีการประชุมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เปิดช่องโหว่เก็บค่าเข้าอุทยาน

นอกจากนี้ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า เรื่องนี้เกิดปัญหามาหลายปีแล้ว โดยมีเสียงเรียกร้องจากผู้ปฏิบัติงานว่า ไม่ควรจะให้เจ้าหน้าที่ถือเงินสด เนื่องจากเกิดการรั่วไหล

โดยเกิดปัญหาได้ ทั้งอุทยานทางบกหรือทางทะเล เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาก แต่ที่น่าจับตากลุ่มอุทยานทางทะเล เนื่องจากมีทางเข้าได้หลายแห่ง มีความซับซ้อนในการจัดการ

ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นักวิชาการที่เสนอเรื่องระบบการจัดการรายได้อุทยานแห่งชาติทางทะเล และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการจัดหารายได้ของกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า เสนอเรื่องนี้มา 7-8 ปีแล้ว และในการประชุมของกรมอุท ยานฯ ก็มีการรายงานความคืบหน้ามาโดยตลอด ที่ผ่านมา มีข้อจำกัดเรื่อง การตีความทางกฎหมายในชั้นอัยการ เนื่องจากไม่มีระเบียบรองรับ ทำให้มีการดำเนินการมา

จนถึงตอนนี้ที่เริ่มดำเนินการใน 6 อุทยาน ฯ อย่างตามที่กรมรายงาน ก็คือที่อุุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

แต่ถ้าจะทำเรื่องนี้ให้ได้ผล ต้องมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย ก็คือ เรือลาดตระเวน และเรือที่เข้าอุทยานต้องติดจีพีเอสทุกลำ เนื่องจาก เกาะต่างๆ มีทางเข้าหลายทาง มีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเกาะ มีกิจกรรมทางน้ำที่เกิดขึ้นมากมาย

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า เรือนำเที่ยวไม่ได้เปิดเผยใบงาน หรือรายละเอียดการบรรทุกจำนวนคนเข้าสู่เกาะ ทำให้เกิดการสมประโยชน์ระหว่างกัน

ก่อนหน้านี้ เคยมีข้อเสนอจาก ผู้ประกอบการในแถบอันดามัน เพื่อหาทางออกเรื่องความโปร่งใส ก่อนที่จะมีโควิด-19 เช่น การขอผ่อนผันค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานในบางแห่ง และให้นักท่องเที่ยวเป็นผู้ชำระ และลดช่องว่างการเรียกรับเงิน

แก้ปัญหาการปลอมแปลงตั๋วอุทยาน ไม่ให้วนตั๋วซ้ำ และทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเป็นผู้จำหน่ายตั๋ว และเปิดให้จำหน่ายแบบจองล่วงหน้าผ่านระบบอัตโนมัติ หรือ ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เงินโอนตรงเข้าสู่กรมอุทยานฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง