ฝังทำลายหมูเถื่อน 7 แสน กก.มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

เศรษฐกิจ
12 ม.ค. 66
13:25
5,634
Logo Thai PBS
ฝังทำลายหมูเถื่อน 7 แสน กก.มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝังทำลายหมูเถื่อนของกลางในคดีที่สิ้นสุด จำนวน 723,786 กก.คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท มากสุดในประวัติศาสตร์ ชี้รอบปีสกัดหมูเถื่อนลอบนำเข้าจากบราซิล เยอรมนี และอิตาลี

วันนี้ (12 ม.ค.2566) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องใน และเนื้อสุกรของกลางลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายมากที่สุดครั้งแรกในประวัติการณ์จำนวน 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท 

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องใน และเนื้อสุกรอย่างเข้มข้น เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคระบาดต่อสัตว์ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภควมทั้งทำลายกลไกราคาหมูภายในประเทศ 

ภาพ:กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพ:กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพ:กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลาง 723,786 กก.คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยดำเนินการมา  

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกรมศุลกากร ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรจำนวนทั้งสิ้น 42 คดีปริมาณน้ำหนักรวม 1,089,514 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 219 ล้านบาท การดำเนินการกับซากสุกรของกลาง แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนที่ 1 ทำลายไปแล้ว 179,612 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 71 ล้านบาท
  • ส่วนที่ 2 อยู่ในระหว่างดําเนินคดี 186,116 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาทเมื่อคดีสิ้นสุดจะได้ดำเนินการทำลายต่อไป
  • ส่วนที่ 3 รวบรวมเพื่อทำลายในวันนี้ จำนวน 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท ชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลาง ส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตมาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศบราซิล ประเทศเยอรมนี ประเทศอิตาลี 

ทั้งนี้ วิธีการฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลางเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการทำลายซากและของเสียจากสัตว์ปริมาณมากที่สามารถทำได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง