“คำต่อคำ” คนในเปิดโปงซื้อขายตำแหน่งในกรมอุทยานฯ

สังคม
15 ม.ค. 66
12:56
1,383
Logo Thai PBS
“คำต่อคำ” คนในเปิดโปงซื้อขายตำแหน่งในกรมอุทยานฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“คนใน” กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตบเท้าออกมาเปิดเผยเส้นสนกลในภายในกรมฯ ทั้งการสอบเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง รักษาตำแหน่ง ล้วนมีประเด็นเรียกรับเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง

“คำต่อคำ” เปิดโปงซื้อขายตำแหน่งในกรมอุทยานฯ

หนังสือเวียน ทส.0901.304/ว.3952 เป็นประเด็นหนึ่งที่แหล่งข่าวพูดถึง โดยบอกว่า หลังจาก มีหนังสือแจ้งเวียนฉบับนี้ออกมาทำให้รู้ว่า “ต้องจ่าย” นอกจากนั้น ยังยกตัวอย่าง กรณีการสอบแข่งขันเลื่อนขั้นภายในกรมฯ ที่จะมีหน้าม้าหรือแมวมองมาสังเกตการณ์ว่าคนไหนจ่ายได้ หรือ ไม่จ่ายแน่ๆ

ยกตัวอย่าง กรณีเปิดสอบตำแหน่งชำนาญการพิเศษ จากชำนาญการ ซี 7 ขึ้น ซี 8 และ เจ้าพนักงานป่าไม้ขึ้นเป็นอาวุโส แหล่งข่าวอย่างน้อยสองคนยืนยันตรงกันว่า ต้องจ่ายทุกคน แต่จำนวนเงินที่จ่ายมากหรือน้อยขึ้นกับว่าเป็นเด็กใคร

ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ น่าจะเกือบทั้งหมดที่จะต้องจ่าย อาจจะมีเด็กฝากบ้างแต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ยังไงก็ต้องจ่าย ต่อให้ตั๋วเด็กแค่ไหนก็ต้องจ่าย

“จำนวนเงินที่จ่ายตั้งแต่ 4 แสนบาท – 1 ล้าน 5 แสนบาท คนในกรมฯ จะรู้กันว่า เงิน 1 ล้านบาทคือ 1 กิโลกรัม ถ้า 1,500,000 บาท คือ 1.5 กิโลกรัม หากสอบได้แต่ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด การขอย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมก็ต้องจ่ายอีก”

ยุคนี้ 1.5 กิโลกรัม 1.5 ล้านบาทมาตรฐาน ส่วนตั๋วเด็กอาจจะล้านต้นๆ ต่ำกว่านั้นหน่อย ตั๋วผู้ใหญ่ก็ 1.5 ล้านบาท มีแบบแพ็คเกจด้วยสมมุติว่าเป็นชำนาญการพิเศษแล้วได้เป็นหัวหน้า หน่วยงานภาคสนามด้วย ก็อาจสัก 1.7 ล้านบาท

แหล่งข่าวอธิบายช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ที่มีอำนาจใช้เป็นช่องทางเรียกรับสินบนว่า มาจากกระบวนการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับบริหารที่มีโควตาจำกัด

“ระบบราชการตอนนี้มีตั้งแต่ปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เพื่อจะขึ้นเป็นระดับบริหาร จากชำนาญการเป็นชำนาญการพิเศษจะต้องมีการสอบ และเปลี่ยนเลขที่ตำแหน่ง ถ้าไม่ผ่านชำนาญการพิเศษก็ไม่สามารถเป็นผู้บริหารได้ หมายความว่าตรงนี้มันมีจำนวนจำกัด ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นข้าราชการตั้งแต่ปฏิบัติการจะสามารถขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษได้ มันมีกล่อง หรือโควตาจำกัด ฉะนั้นโควตาตรงนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง สามารถที่จะเรียกรับตรงนี้ได้”

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า คนติดต่อที่เป็นตัวแทน เป็นผู้ติดตามใกล้ชิดกลุ่มที่เคยทำงานด้วยกันมา ย้ายมาพร้อมกันเป็นแผง เหมือนดาวน์ไลน์ในธุรกิจขายตรง ลักษณะการเชื่อมือกัน มารับตำแหน่ง ผอ.ใหญ่ในกรมฯ

สำหรับ คนที่จ่ายเงินไปแล้ว ถ้าไม่ได้ตำแหน่งก็ไม่ได้เงินคืน เพราะเป็นระบบประมูล คือ ถ้าตำแหน่งนี้จ่ายเท่านี้ แต่หากมีคนให้สูงกว่าคุณก็ไม่ได้ และที่จ่ายมาคุณก็ไม่ได้คืน ซึ่งมันน่ารังเกียจ มันเป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่งที่คนพวกนี้มาเอาเงินของชาติไปเล่นปู้ยี้ปู้ยำ

ในช่วงที่มีการเรียกรับ ถ้ากลับไปดูข้อมูลการกู้ยืมเงินสหกรณ์ฯ ของข้าราชการกรมฯ จะพบว่า ตัวเลขกับเส้นทางการเงินบอกอะไรได้ชัดเจน

สมการสินบน ตำแหน่ง = สมบัติส่วนตัว อยากได้ต้องจ่าย

การเรียกรับสินบนเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ผ่านมาอาจไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่เป็นในรูปแบบการดูแลมากกว่า ส่วนเรื่องการทำงานก็มีโอกาสให้คนทำงานได้เติบโตขึ้นบ้าง

แต่ในยุคนี้ แหล่งข่าวบอกว่า จำเป็นต้องจ่ายร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่จ่ายก็ไม่มีทางอยู่ เพราะผู้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษคิดว่าตำแหน่งเป็น “สมบัติส่วนตัว” มีอำนาจให้ “ตำแหน่ง” ได้ ใครอยากได้ก็ต้องจ่าย “ค่าตอบแทน”

“กรณีหัวหน้าอุทยานฯ ขึ้นอยู่กับเกรดของอุทยานฯ ถ้าเกิดเป็นเกรดเอ อาจต้องมีค่ารักษาตำแหน่ง และค่าเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า เพราะว่างบประมาณก็ได้มาสูง ดูจากจำนวนนักท่องเที่ยว มันก็จะสอดคล้องกันไปตามเกรดของแต่ละพื้นที่”

ในช่วงที่อธิบดีคนล่าสุดเข้ารับตำแหน่ง แหล่งข่าวระดับหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามบางคนขอย้ายจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีรายได้สูงสุด ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติมากที่สุด

สาเหตุที่ขอย้าย เพราะมีดีลเลอร์ที่เป็นคนใกล้ชิดข้าราชการระดับสูงในกรมฯ เสนอให้จ่ายสินบน 2 แสนบาท แลกกับการได้ทำงานในพื้นที่เดิม แต่เจ้าตัวตัดสินใจไม่จ่าย เพราะมองว่า หากมีการจ่ายครั้งนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีครั้งต่อไปอีกแน่นอน

เริ่มมีคนมากระซิบว่า ให้เข้าไปรายงานตัว เพราะว่ามีอีกคนวิ่ง อยากจะมาอยู่พื้นที่เราในตอนนั้น คนที่ดูแลอยู่ตรงนั้น คือเป็นตัวแทนอธิบดี ก็บอกว่าถ้าอยากจะอยู่ต่อ มันก็ต้องดูแลกันด้วย คือมีค่าใช้จ่าย 2 แสนบาท เป็นตัวเลขที่เขาเสนอมา นี่คือระยะเวลาครึ่งปี คือถ้าสิ้นปีงบประมาณ ต้องมาพูดคุยกันใหม่อีกรอบ

แต่การเรียกรับเงินยังตามมาถึงพื้นที่ใหม่ แหล่งข่าวบอกว่า ปัญหาการเรียกรับเข้าสู่ตำแหน่งก็ส่วนหนึ่ง ปัญหาการหักเปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายรายเดือนก็อีกส่วนหนึ่ง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณที่แต่ละพื้นที่ได้รับ แม้ไม่มีใครต้องการจ่าย แต่จำเป็นต้องจ่าย

“การที่เราเป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่าง จะทำให้คนที่อยู่เหนือเราที่เขาเป็นคนเก็บรวบรวมเดือดร้อน เพราะทำตามกติกาไม่ได้ สมมติว่าเขาถูกออกไป ส่งคนใหม่มาก็ต้องมาเก็บอีกเหมือนเดิม ฉะนั้นถ้าเราไม่จ่ายคนหนึ่ง มันเดือดร้อนยาวหลายคน มันจึงจำเป็นต้องเจียดเงินตรงนั้นไป”

อีกประเด็นหนึ่งที่แหล่งข่าวระดับหัวหน้าโครงการภาคสนามพูดถึงคือ “เงินทอนจากโครงการภาคสนาม” ทุกที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณรายได้ของพื้นที่นั้นๆ ได้รับ

“ส่วนต้นน้ำ, ไฟป่า ที่ต้องจ่ายเดือนละ 8 แสนบาท คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ล่ะ ที่ต้องแบ่งเงินทอนจากอัตรางบประมาณโครงการ จ่ายเป็นเงินสดเท่านั้นไม่มีการโอน บางแห่งเงิน 8 แสนบาททำงานได้หลายปี ที่ปรากฏเป็นข่าวยังไม่หมดแค่นั้น“

แหล่งข่าวบอกว่า สาเหตุที่เป็นโครงการไฟป่า หรือ ต้นน้ำ เพราะง่ายในการหาเงินทอน โครงการเหล่านี้ตรวจสอบยาก

“ฝายต้นน้ำ หรือ แนวกันไฟป่าที่ต้องขุดให้กว้างขนาด 8 เมตร คือ ต้องเห็นได้ทาง_GoogleEarth ที่ผ่านมาเขาเรียกแนวกันไฟขนมชั้น เพราะทำวน 3 รอบ ใช้เป็นแนวกันไฟไม่ได้จริงตามเป้าหมาย แทนที่จะเอาคนและอุปกรณ์มาควบรวมกับพื้นที่อนุรักษ์”

แหล่งข่าวทุกคน พูดตรงกันว่า ข้าราชการกรมอุทยานฯ ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายไม่เป็นธรรม เมื่อมีคนใหม่มาแทนที่ คนเก่าก็ต้องย้ายออกกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม

“บางคนต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ที่ห่างไกลจากครอบครัว ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง