วิเคราะห์ : เบื้องหลัง "ตุรกี-ซีเรีย" เสียหายหนักจากแผ่นดินไหว

ต่างประเทศ
7 ก.พ. 66
13:27
2,212
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : เบื้องหลัง "ตุรกี-ซีเรีย" เสียหายหนักจากแผ่นดินไหว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ตุรกี" เผชิญเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งและมีจำนวนไม่น้อยที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก ภาพโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นทั้งในตุรกีและซีเรีย นำมาสู่คำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ทั้ง 2 ประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนัก

แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในตุรกี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานพังถล่มลงมา จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้อย่างง่ายดาย แต่นี่ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว

ซากปรักหักพังของอาคารในหลายเมืองของตุรกีและซีเรีย ย้ำถึงความสำคัญของมาตรฐานการก่อสร้างและระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้งอย่างตุรกี โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 6 ก.พ. เกิดขึ้นใกล้กับรอยเลื่อน ขณะที่แผ่นดินไหวซ้ำ หรืออาฟเตอร์ช็อค ก็เกิดขึ้นตามรอยเลื่อนแนวนี้ด้วยเช่นกัน

หากมองสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ส่วนใหญ่ของตุรกีอยู่บนแผ่นเปลือกโลก "อนาโตเลีย" ซึ่งถูกบีบอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ 2 แผ่น คือ "แผ่นยูเรเชีย" ทางตอนบน และ "แผ่นแอฟริกา" ทางตอนล่าง ส่วนด้านข้างมี "แผ่นอาหรับ"

นั่นหมายความว่า ตุรกีตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อนหลายจุด ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหวที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของ 2 แผ่นเปลือกโลกใหญ่ทางด้านบนและด้านล่าง โดยในปี 2022 หน่วยงานรับมือภัยพิบัติของตุรกีบันทึกรายงานการเกิดแผ่นดินไหวไว้ได้มากถึง 22,000 ครั้ง

นอกจากจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้งแล้ว ตุรกียังเผชิญกับแผ่นดินไหวใหญ่หลายครั้งด้วย ข้อมูลที่บันทึกไว้พบว่าภัยพิบัติครั้งเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 1939 หลังจากแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 คน

ส่วนในปี 1976 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวใกล้กับพรมแดนอิหร่าน ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ขณะที่ครั้งต่อๆ มา ตัวเลขความสูญเสียมีจำนวนไม่น้อย และเกิดขึ้นแทบจะทุกๆ 10 ปี (ข้อมูลเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและมียอดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก)

ขณะที่แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังไม่นิ่งและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังอีกเป็นจำนวนมากทั้งในตุรกีและซีเรีย

ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ณ วันที่ 7 ก.พ.2023 เวลาประมาณ 11.00 น.

ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ณ วันที่ 7 ก.พ.2023 เวลาประมาณ 11.00 น.

ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ณ วันที่ 7 ก.พ.2023 เวลาประมาณ 11.00 น.

ตุรกี รับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 3,500,000 คน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่บริเวณทางตอนล่างใกล้กับพรมแดนซีเรีย จะมีผู้อพยพอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าจุดอื่นๆ

บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ไม่ไกลจากสำนักงานย่อยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในเมืองกาเซียนเทป โดยพื้นที่รอบๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่มากกว่า 1,000,000 คน ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับตัวเลขคนพลัดถิ่นในฝั่งซีเรีย ดังนั้นแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงถือเป็นสถานการณ์ด่วนที่เข้าไปซ้ำเติมสถานการณ์ในพื้นที่ที่เลวร้ายอยู่แล้ว ให้วิกฤตหนักยิ่งขึ้น

ส่วนที่ซีเรีย อาคารแห่งหนึ่งในอเลปโปพังถล่มลงมาขณะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ ซึ่งที่นี่และอีกหลายจังหวัดทางตอนเหนือของซีเรีย รวมถึงอิดลิบ มีสภาพไม่ต่างกัน ทั้งเมืองแทบจะราบเป็นหน้ากลอง

จังหวัดเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เผชิญกับการสู้รบรุนแรงในสงครามกลางเมืองของซีเรียที่ดำเนินมานานใกล้จะ 12 ปีแล้ว และพื้นที่เหล่านี้เคยถูกโจมตีทั้งจากภาคพื้นและทางอากาศ ทำให้สภาพของเมืองไม่พร้อมที่จะรับมือกับแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ.

นอกจากนี้ สงครามยังกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้การจัดส่งความช่วยเหลือทำได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยชาวซีเรียจำนวนหนึ่งระบุว่า ต้องพยายามช่วยเหลือกันเอง บางครั้งต้องใช้มือเปล่าขุดซากปรักหักพัง หลังจากไม่มีเจ้าหน้าที่จากฝ่ายไหนลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเพราะคนไม่พอหรืออยู่คนละเขตอำนาจก็ตาม

อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ คือ สภาพอากาศที่เลวร้ายสุดขั้ว มีทั้งพายุฝนและหิมะตก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งทีมกู้ภัยและผู้ประสบภัยที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยในสภาพอากาศหนาวจัด

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นานาชาติระดมช่วย "ตุรกี-ซีเรีย" ยอดตายแผ่นดินไหวเพิ่มเป็น 4,300 คน

10 แผ่นดินไหวร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง