ปัญหาซ้ำซาก "ซีเกมส์" จัดตามใจเจ้าภาพ

กีฬา
8 ก.พ. 66
12:39
606
Logo Thai PBS
ปัญหาซ้ำซาก "ซีเกมส์" จัดตามใจเจ้าภาพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเป็นเจ้าเภาพซีเกมส์ของกัมพูชากำลังสร้างปัญหาให้หลายชนิดกีฬา โดยเฉพาะการเพิ่มเหรียญตามใจชอบในกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องซ้ำซากที่มนตรีซีเกมส์ก็จัดการอะไรไม่ได้ซึ่งเป็นการปล่อยไฟเขียวให้เจ้าภาพตามกติกาที่ทำกันเป็นปกติของซีเกมส์

ปัญหาเจ้าภาพกัมพูชาตัดเพาะกายออกจากซีเกมส์ อาจจะเกิดจากปัญหาภายในสหพันธ์เพาะกายกัมพูชากับรัฐบาล ซี่งสหพันธ์เพาะกายกัมพูชาไม่สามารถควบคุมการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาได้ตามที่รัฐบาลสั่ง

ย้อนไปในซีเกมส์ครั้งที่แล้วที่เวียดนาม นักกีฬาเพาะกายของกัมพูชาก็ตรวจโด๊ปไม่ผ่านทั้ง 4 คน จึงไม่ได้ส่งแข่งที่เวียดนาม รัฐบาลไม่พอใจมาก ขณะที่สมาพันธ์เพาะกายรับปากว่าจะแก้ปัญหาให้ได้ จนนำมาซึ่งการบรรจุเพาะกายในซีเกมส์ครั้งนี้

ล่าสุด ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว นักกีฬากัมพูชาเจอโด๊ปอีก 2 คน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องใช้ยาแรงตามที่เคยขีดเส้นไว้ ซึ่งการพบนักกีฬาเพาะกายกัมพูชาใช้สารต้องห้าม รัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องเสียหาย และเสียหน้าอย่างมาก จึงสั่งให้มีการถอดเพาะกายออกไป เพราะอย่างไรก็ไม่มีนักกีฬาแข่งอยู่ดี และเกรงว่าสหพันธ์เพาะกายกัมพูชาจะควบคุมการใช้สารต้องห้ามไม่ได้อีก จนเสี่ยงต่อการถูกสหพันธ์เพาะกายโลกแบนอีกด้วย

นอกจากนี้ นายสุกรี สภวารีกุล นายกสมาคมเพาะกายแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก ที่มีความใกล้ชิดกับสหพันธ์เพาะกายกัมพูชา วิเคราะห์ว่าปัญหาที่แท้จริงคือ รัฐบาลกลัวว่าความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อการเลือกตั้งใหญ่ของกัมพูชา ถ้าไม่จัดการขั้นเด็ดขาดอาจจะกระทบต่อความนิยมของรัฐบาล

จริง ๆ แล้วหลายชาติก็เข้าใจปัญหาภายในกัมพูชาดี จึงไม่ได้ติดใจกับการถอดเพาะกายออกไปจากซีเกมส์ครั้งนี้ ในขณะที่สิงคโปร์ ก็พร้อมจะเข้ามาจัดชิงแชมป์อาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นรายการที่ทดแทนซีเกมส์ได้

ส่วนนักกีฬาไทยก่อนหน้านี้ก็เก็บตัวเพื่อเตรียมรายการใหญ่ที่จะแข่งขันในปีนี้อยู่แล้ว เช่น ชิงแชมป์เอเชีย ในเดือน ก.ย. และชิงแชมป์โลกในเดือน ต.ค. การถูกตัดจากซีเกมส์นายกสมาคมบอกว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับการเก็บตัวของนักกีฬา

สำหรับกีฬาชนิดอื่น ๆ ก็เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาให้กับชาติอื่นไม่น้อย เช่นการเปลี่ยนชื่อกีฬามวยเป็น กุนขแมร์ ซึ่งทำให้ไทยตัดสินใจไม่ส่งแข่ง และหลายชาติที่เป็นสมาชิกอิฟม่าไม่กล้าส่งเช่นกันเพราะกลัวโดนอิฟม่าแบนในการแข่งขันรายการนานาชาติ ขณะนี้ก็ยังมีเพียง เจ้าภาพ ลาว เมียนมาร์ 3 ชาติเท่านั้น

ยิมนาสติกลีลาเจ้าภาพก็ไม่จัด เพราะไม่มีนักกีฬา กีฬาบางประเภทก็จำกัดสิทธิ์ชาติอื่นให้ส่งได้เพียงบางรุ่น ขณะที่เจ้าภาพส่งได้ครบ

ประเด็นเหล่านี้ถ้ามองในมิติของกติกาซีเกมส์ เจ้าภาพย่อมทำได้ในการลด เพิ่ม กีฬาชนิดใดก็ได้ ที่ผ่านมาจึงเห็นกีฬาพื้นบ้านแปลก ๆ ถูกดันเข้าในซีเกมส์อยู่เสมอ และมีเหรียญรางวัลมากมายด้วย อย่างในครั้งนี้เจ้าภาพก็เพิ่มโบกาตอร์ เข้ามา พร้อมกับเปลี่ยนชื่อมวย เป็น กุนขแมร์ เพื่อหวังสร้างกระแสชาตินิยม

หากโฟกัสไปกลุ่มกีฬาต่อสู้ที่เรียกว่า มาร์เชียลอาร์ต ก็ถือว่าเป็นครั้งที่มีแข่งขันมากถึง 7 ชนิด และยังมีเทควันโดเกาหลีเหนือเข้ามาเพิ่มอีก ซึ่งไทยก็ไม่ส่ง

ปัญหาของการเพิ่มกีฬาแปลกหรือพื้นบ้านเข้ามาในซีเกมส์ สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมา คือ จะไม่มีสหพันธ์กีฬานานาชาติที่เป็นที่ยอมรับให้การรับรอง ดังนั้นบางชาติก็อาจจะตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬาไปแข่ง เตรียมนักกีฬาแล้วสุดท้ายก็ไม่มีเวทีให้ได้เล่นต่อหลังจบซีเกมส์ ขาดการพัฒนา

ต่อไปนี้จะมองว่าปฏิญญาซีเกมส์ตั้งแต่ปี 2504 ที่มีวัตถุประส่งค์แข่งกีฬาเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กันเป็นหลัก จะสำคัญกว่าการพัฒนานักกีฬาในภูมิภาคไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้นักกีฬาแต่ละชาติในอาเซียนพัฒนากันไปมาก แชมป์โลก แชมป์โอลิมปิก ในหลายชนิดกีฬาก็อยู่ในอาเซียน ดังนั้นการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์จำเป็นต้องคำนึงถึงสปิริต และ มองถึงการยกระดับการแข่งขันไปพร้อมกันด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"กัมพูชา" ถอดเพาะกาย-ปรับระเบียบส่งนักกีฬาแข่ง "ซีเกมส์"

ชลบุรี - สงขลา - กทม. เจ้าภาพร่วมซีเกมส์ 2025

นักมวยไทยยันเป็นเจ้าของภาพที่ชาวเน็ตกัมพูชาอ้างในดรามา "กุน ขแมร์"

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง