กูรูชี้ ศก.ไทยฟื้น รับนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน ดันจีดีพีปี 66 โต 3.8 %

เศรษฐกิจ
16 ก.พ. 66
13:38
398
Logo Thai PBS
กูรูชี้ ศก.ไทยฟื้น รับนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน ดันจีดีพีปี 66 โต 3.8 %
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กูรูระบุเศรษฐกิจไทยแกร่ง ท่องเที่ยว 30 ล้านคน-ลงทุน-กำลังซื้อฟื้น ดันจีดีพีปี 2566 โตทะลุุ 3.8 % ส่งออกโต 1-2 % "สนั่น" เตรียมนำทัพผนึกรัฐจัดคณะหารือจีน

วันที่ 15 ก.พ.2566 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาหัวข้อ “มองต่างมุมเศรษฐกิจไทย ปี 2566” ประกอบด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เริ่มทยอยฟื้นตัว และการส่งออกสินค้าจะขยายตัวอย่างน้อย 1-2 %

โดยภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ ร่วมทำงานเชิงรุกเจาะตลาดการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ภาคตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่เปิดประเทศเชื่อมสัมพันธ์กับไทยทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯ ทำได้มากขึ้น รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะต้องเจรจาการค้าเพิ่มประเทศเข้ากรอบเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)เพิ่มเติม คาดว่าภายใน 2 ปีประเทศไทยจะมีข้อตกลงเอฟทีเอเพิ่มเป็น 27 ประเทศ

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 30 ล้านคน จากปีที่ผ่านมา 11.8 ล้านคน ทำให้นอกจากการท่องเที่ยวดี จะทำให้ภาคบริการดีและการจ้างงานก็จะดีขึ้นด้วย

โดยมองว่า รัฐบาลจะต้องมีงบประมาณมาช่วยโปรโมตให้ชาวจีนเข้าเที่ยวไทย ที่กำลังจะเข้ามาในไตรมาส 2 นี้ ทำให้จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้ให้กับประเทศ เกิดการจ้างงานและการลงทุนที่จะต้องเริ่มดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว

“หอการค้าฯ จะร่วมกับภาครัฐจัดเดินสายเจรจากับจีนให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยภาครัฐจะต้องมีแรงจูงใจ เรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจและการลงทุนเพิ่มเติม แม้ภาษาจีนของคนไทยจะเสียเปรียบ แต่เศรษฐกิจไทยมีมุมมองให้จีนหลงใหล จีนเริ่มลงทุนในไทยมากขึ้น จนญี่ปุ่นอิจฉา โดยหลังจากการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่ จะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่ช้าไปเหมือนกับในอดีต ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องทำงานใกล้ชิดเอกชนมากขึ้น ให้เข้าใจถึงความต้องการ มีมาตรการที่ออกมาจริง อยากให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกมากกว่ามากำกับ”

นายสนั่น กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ จะช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างไร ให้เข้าถึงเงินทุนและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมองว่าเรื่องภาษีจะมีส่วนช่วย เพราะที่ผ่านมามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง แต่เอสเอ็มอีไม่กล้าเข้าร่วม เพราะกลัวเรื่องของภาษี ในเรื่องนี้ได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ถ้าตกลงกันได้ที่จะช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องภาษี ก็จะมีส่วนช่วยการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี 2-3 ล้านคน

ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะยังชะลอตัว แต่ในแต่ละประเทศ มีการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 1.4 % ในปี 2566 และในปี 2567 จะเติบโต 1 % ซึ่งชะลอลงจากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้นมาก ขึ้นเร็ว และยังไม่หยุดขึ้น อาจขึ้นจนถึงกลางปีและยังไม่ลดลงจนถึงสิ้นปีนี้

และเศรษฐกิจยุโรป มีปัญหามากจากสงครามรัสเซียกับยูเครน การขาดแคลนด้านพลังงานและสินค้าวัตถุดิบด้วย ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียดีขึ้น โดยเฉพาะของไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับด้านเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ซึ่งเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ราคาอาหารและราคาพลังงานไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมาที่เกือบ 100 % เงินเฟ้อสูงมาจากราคาค่าไฟ ค่าน้ำมัน อาหารสด แต่เศรษฐกิจปีที่แล้วยังไม่ฟื้นตัวมาก ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย และผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนไปบางส่วนเท่านั้น

ทำให้ในปีนี้ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่โลกผันผวน โดยต้องทำอย่างรอบคอบ และชั่งน้ำหนักทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน

“การขึ้นดอกเบี้ยต่างประเทศเร็วขึ้นมาก แต่ไทยไม่มีความจำเป็น ที่ผ่านมาดอกเบี้ยไทยค่อนข้างต่ำ ต่ำเป็นประวัติการณ์ ตอนนี้กำลังกลับเข้าสู่ระดับปกติ เพื่อให้มี Policy Space ให้ลดดอกเบี้ยลงไปได้ ถ้าไม่ทำอะไรเลย ถ้าเกิดผันผวน นโยบายการเงินจะไม่มีช่องว่างให้ทำได้ โดยยังย้ำการปรับดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ปกติค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้ตลาดผิดไปจากที่คาดไว้ ซึ่งมีหลายคนบอกว่าขึ้นดอกเบี้ยช้าจะเกิดส่วนต่างดอกเบี้ยกับประเทศอื่น ทำให้เงินไหลออก ซึ่งความจริงในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่นักลงทุนไม่ได้มองดอกเบี้ย แต่มองเศรษฐกิจ ทุนสำรอง หนี้ต่างประเทศต่ำ ดูว่าจะเกิดวิกฤติอะไรหรือไม่”

นอกจากนี้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.ได้รับความร่วมมือหลายส่วนและธปท.กำลังทำ Thailand Taxonomy เพื่อจัดกลุ่มสีเขียว ให้เป็นมาตรฐาน และให้ภาคการเงินสร้างผลิตภัณฑ์และบริการสีเขียวมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆต้องรองรับให้ได้ ดูกระบวนการผลิตอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่ทำธุรกิจร่วมกัน ให้ทราบว่าประกอบธุรกิจทำอย่างไร ดูตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ไม่ใช่แค่ดูว่าเป็นสีเขียวเท่านั้น และภาครัฐต้องมีแรงจูงใจให้ภาคเอสเอ็มอีปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเจอ ทั้งโควิด-19 และยูเครนกับรัสเซีย หรือสภาพคล่องลดลง รวมถึงดอกเบี้ยสูง มีปัจจัยต่าง ๆ ทำให้กระทบเศรษฐกิจ ตลาดทุนทั่วโลก โดยในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว และนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นเห็นได้จากเดือนม.ค.2566 แค่เดือนเดียวมีเงินไหลเข้ามา 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตอนนี้เงินบาทแข็งค่า 34 บาทต่อเหรียญเมื่อเทียบกับ 38 บาทต่อเหรียญ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในด้านตลาดทุนอุตสาหกรรมที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย คือการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว การลงทุนที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งแม้อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะดูเก่า แต่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนามากขึ้น เช่น การแปลงพืชเป็นเนื้อสัตว์ หรือ Plant based food ทำอาหารให้มีคุณค่า การใช้เทคโนโลยีให้มีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับการสนับสนุนตลาดทุนไทย ตลท.ได้ปรับปรุง 2 เรื่อง โดยในเรื่องแรกทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจระดมทุนได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก จากเดิมเป็นแค่ขนาดใหญ่กับขนาดกลาง โดยตลท.เริ่มมีกระดานเทรดใหม่ระดมทุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น LiVE Exchange เป็นต้น

“ในปีนี้สิ่งที่อยากให้นักลงทุนพิจารณา คือ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายเป็นความเสี่ยงที่ลดลง ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามข่าวสารต่าง ๆ อยู่เสมอ และผลกระทบต่าง ๆ ของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรม และผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นนักลงทุนจะติดตามข่าวสาร เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง