รู้สึกอะไรไหม? เมื่อเยือน "เชียงใหม่" ในมุมภูมิสถาปัตย์

ไลฟ์สไตล์
19 ก.พ. 66
11:55
903
Logo Thai PBS
รู้สึกอะไรไหม? เมื่อเยือน "เชียงใหม่" ในมุมภูมิสถาปัตย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เคยตั้งคำถามถึง “ความสบายใจ” ในเมืองเชียงใหม่บ้างหรือไม่ เหตุผลอาจอยู่ที่ความเป็น “ล้านนา” กับ “ภูมิสถาปัตย์”

เวลาไปที่ไหน ทำไมบางเมืองรู้สึกเป็นมิตร แต่ทำไมบางเมืองไปแล้วไม่เป็นแบบนั้น

คนไป “เชียงใหม่” รู้สึกแบบนี้ไหม ? แล้วคนไป “เชียงใหม่” รู้สึกอย่างไร ?

มีแนวคิดหนึ่งเรียกว่า “จีเนียส โลไซ” (Genius loci) ในนิยายปรัมปราโรมัน ความหมายแรกเริ่ม คือวิญญาณที่คอยปกปักรักษาสถานที่ แต่ปัจจุบัน หมายถึงสถานที่ที่มีบรรยากาศพิเศษเฉพาะตัว หรือจิตวิญญาณของสถานที่นั้น

“อาจารย์ป้อง” วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์ภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขยายความและยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ว่า เมืองเชียงใหม่ ถ้าคนที่อยู่ในวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมล้านนามาอยู่ อาจรู้สึกคุ้นเคย รู้สึกอบอุ่น เดินไปตรงนี้เจอวัดเล็ก ๆ เจอบ้านเล็ก ๆ และมีร่มไม้ใหญ่

ขณะที่ไปสถานที่บางแห่ง อาจรู้สึกอึดอัด เหงาหงอย ไม่สดชื่น นั่นเป็นเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ภูมิสถาปัตยกรรม”

ภูมิสถาปัตยกรรม คือการจัดการพื้นที่ เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศและสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ที่มีต้นไม้หรือสัตว์ ให้อยู่ร่วมกันได้ เป็นการจัดการทางภูมิสถาปัตยกรรม

หลาย ๆ เมืองตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีความคิดความเชื่อต่างกัน ทำให้หน้าตาของแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน

ตามตำนาน พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ตามชัยมงคล 7 ประการ ทั้งนิมิตและทำเลที่ตั้ง คือ ดอยสุเทพ แม่น้ำปิง มีน้ำแม่ข่า มีหนองบัวเจ็ดกอ มีฟานเผือก (เก้ง) มีหนูเผือกและมีต้นผักเฮือดใหญ่

“อาจารย์ป้อง” พูดในมุมของภูมิสถาปัตย์ ถ้านับตั้งแต่ตั้งเมือง ด้านกายภาพคือจัดการพื้นที่ว่างให้เป็นที่ชุมนุมคน จัดการพื้นดินให้มีปัจจัยดำรงชีวิต มีน้ำ มีถนน มีพื้นที่เบี่ยงน้ำ มีการป้องกันอันตรายจากข้าศึกศัตรู มีลมไหลเวียนดีและมีแดด

ส่วนด้านจินตนาภาพ มีศาสนาและความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดหลักของการประกอบร่างให้กลายเป็นเมืองเชียงใหม่

เชียงใหม่เลือกตั้งเมืองตรงนี้ เพราะอิทธิพลทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ

เมืองขยายตัว กระทบประวัติศาสตร์พื้นที่

พื้นที่ไม่ได้มีเพียงอากาศกับดิน แต่ยังมีประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ความผูกพันของคน มีต้นไม้ สัตว์ อิทธิพลของแสง ลมและดวงดาว การตั้งของวัดจะหันหน้าไปทางทิศไหน ปลูกต้นอะไรหน้าบ้าน หรือการอนุรักษ์ร่องน้ำไหลที่มีอยู่ในเมือง หากปรับพื้นที่โดยไม่คิดอะไรแบบนี้เลย ประวัติศาสตร์ วิธีคิด ความเชื่อ ก็จะถูกลืม

พื้นที่เป็นตัวแทนข้ามกาลเวลา ถ้าคนข้างหลังไม่เล่าต่อ แล้วพื้นที่ไม่ได้แสดงสิ่งที่มีให้เห็น มันก็จะหายไป
“คลองแม่ข่า” ในส่วนที่ยังไม่ปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยว

“คลองแม่ข่า” ในส่วนที่ยังไม่ปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยว

“คลองแม่ข่า” ในส่วนที่ยังไม่ปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยว

“อาจารย์ป้อง” ยกตัวอย่างร่องน้ำสำคัญอย่าง “คลองแม่ข่า” หนึ่งในชัยมงคล 7 ประการของเมืองเชียงใหม่ 30 ปีก่อน คนริมคลองได้เล่นน้ำ แต่พอเมืองขยายตัว คลองแม่ข่าทำหน้าที่เป็นเพียงร่องระบายน้ำเล็ก ๆ อยู่หลังบ้าน คนไม่ได้สนใจ เพราะมีน้ำที่มาจากท่อประปา มีน้ำที่มาจากก๊อก คลองแม่ข่าก็หมดความสำคัญ

“คลองที่เคยถูกพิทักษ์รักษามาจากบรรพบุรุษ กลายเป็นร่องน้ำเสีย เพราะไม่มีใครสนใจพื้นที่ตรงนั้น” นี่คือตัวอย่างหนึ่ง

เมื่อถามว่า การผลักดันคลองแม่ข่าให้เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ จะมีผลกระทบหรือไม่

“อาจารย์ป้อง” ตอบว่า ถ้ามีการผลักดันให้คลองแม่ข่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่สนใจนิเวศในคลองแม่ข่าเดิม คลองแม่ข่าก็จะเป็นพื้นที่ร่องน้ำไหล และข้าง ๆ ก็เป็นพื้นที่ให้คนต่างถิ่นเข้าไปเที่ยวได้ หากการพัฒนาไม่ได้มองเรื่องนิเวศเป็นหลัก คุณค่าที่เคยมีก็อาจหายไป

“คลองแม่ข่า” ในส่วนที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

“คลองแม่ข่า” ในส่วนที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

“คลองแม่ข่า” ในส่วนที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

คนตรงกลางเกือบหายไป

การพยายามทำให้เมืองเปลี่ยน ในมุมของอาจารย์สถาปัตย์ มองว่าไม่ได้พยายามทำให้มันเจริญ แต่เป็นการพยายามเพิ่มตัวเลือกให้มีเยอะขึ้น ซึ่งอย่างน้อยควรตระหนักถึงคุณค่าของภูมิทัศน์วัฒนธรรม กลับไปศึกษา หรือเล่าต่อ

“ทำไมต้องปลูกต้นนี้ตรงนี้ ทำไมต้องกินสิ่งนี้ในเดือนนี้ ทำไมน้ำตรงนี้ถึงมีคนบูชาทุกปี” สิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาพคุ้นชินจนไม่เกิดคำถาม เพราะคนเล่าตรงนี้มีน้อย

ที่ผ่านมาเคยสำรวจต้นไม้รอบคูเมือง พบต้นไม้พืชพรรณประมาณ 40,000 ต้น 600 กว่าชนิด ทุกชนิดเป็นยาทั้งหมด แต่ไม่มีใครใช้เป็น

ที่เป็นยาอยู่ในตำราสมุนไพรล้านนามีเยอะมาก แต่ไม่มีคนเอาไปใช้ เพราะหมอยาไม่มีแล้ว คนไปร้านขายยาแทน

ถ้าเราเรียนรู้ภูมิทัศน์วัฒนธรรมให้กว้างขวาง สิ่งที่ถูกลืมไปจะถูกเอากลับมา

ขอเมืองเดินได้ก่อนเป็น Smart City

เชียงใหม่มีศักยภาพ มีนักลงทุนดี ๆ ที่อยากเข้ามา มีการขับเคลื่อนมากมายที่หลายเมืองทำไม่ได้ แต่เชียงใหม่ควรมีมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่านี้ เราอยากเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แต่ตอนนี้ขอเป็นเมืองที่มีทางเท้าเดินได้และมีร่มไม้ตลอดเส้นทาง เพราะหากพัฒนาโดยไม่ตระหนัก แม้เชียงใหม่จะเดินหน้าต่อ แต่สิ่งมีค่าเดิมจะสูญหายไป

ผมขอเมืองที่มีฟุตพาทเดินได้ และมีร่มเงาของต้นไม้ตลอดก่อนได้ไหม แบบที่ไม่มีขี้หมา ขอเมืองเดินได้ก่อนที่จะสมาร์ต

การจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองเป็นเรื่องน่าสนใจ “อาจารย์ป้อง” ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ที่ไม่มีต้นทุนทางทรัพยากร เป็นเมืองริมทะเล มีตึกสูง แต่สิ่งดึงดูดให้คนไปทำธุรกิจทั้งจากฝั่งตะวันตกเข้าไปและฝั่งตะวันออกเข้ามา แล้วเชื่อมโยงกัน

คือความน่าอยู่ของเมือง มีร่มเงา มีต้นไม้ มีทางเดินดี มีที่จอดรถเหมาะสม มีพื้นที่ส่วนกลางที่เดินจากออฟฟิศไปนั่งพักได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อกาแฟก่อนถึงนั่งได้

ขณะที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีวัดเยอะมาก เป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน แต่ตอนนี้บางวัดเหมือนเป็นที่จอดรถ ถ่ายรูปวัดก็ติดรถ เดินเข้าไปกลับไม่ร่มเย็น ดังนั้นภูมิสถาปัตยกรรมจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้าไปแก้ไขและปรับปรุง

ถ้าเมืองเปิดโอกาสให้มีการจัดการด้านภูมิทัศน์ที่ดี มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เชื่อว่าเมืองเชียงใหม่จะน่าอยู่กว่านี้

เมื่อคนพูดถึงภูมิสถาปัตย์ อาจนึกถึงการจัดวาง แต่แก่นแท้ของสิ่งนั้น “มันได้จัดการตัวเมือง” เราในฐานะผู้เฝ้ามองและดูแล อาจมีส่วนช่วยบริหารปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นได้ “งดงาม” และผู้คนที่อยู่อาศัยได้จดจำความงามและ “รู้สึกสบายใจ” ที่ได้อยู่ ณ ที่แห่งนี้

อ่านข่าวอื่นๆ

“สามล้อถีบ” ไร้คนรุ่นใหม่สืบทอด นับถอยหลังสู่ตำนาน

"ผ้าทอกะเหรี่ยง" บ้านหล่ายแก้ว ดีไซน์ใหม่บนขนบเดิม

มอง “เชียงใหม่” 700 กว่าปี ด้วยสายตานักประวัติศาสตร์-สถาปัตย์

“วัยรุ่นรถแดง” พาเที่ยว - แถมฟรีช่างภาพ เพิ่มทางเลือกนักท่องเที่ยว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง