"ท้องวัยเรียน" ก้าวที่พลั้งพลาดกับสังคมที่พร้อมอุ้ม

สังคม
23 ก.พ. 66
17:09
2,376
Logo Thai PBS
"ท้องวัยเรียน" ก้าวที่พลั้งพลาดกับสังคมที่พร้อมอุ้ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"วัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน" ปัญหาอาจไม่ได้เริ่มต้นจากโรงเรียน แต่การป้องกันและแก้ไขต้องเริ่มจากโรงเรียนและสถาบันการศึกษา โดยที่ครู อาจารย์ หรือฝ่ายกิจการนักเรียน-นักศึกษา ต้องเป็นเสมือนเข็มทิศที่คอยชี้แนวทางที่เหมาะสมให้ทั้งวัยรุ่น วัยว้าวุ่น วัยคึกคะนอง

นักเรียนต้องรู้จักสิทธิและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก่อน

"ครูน้ำ" อัญภัทร บุตรพรหม ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการฝ่ายจัดการศึกษา ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 "วัยรุ่นท้องต้องได้เรียนต่อ" เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีครูคนไหนที่ไม่อยากส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่ง แต่นักเรียนเองก็ต้องให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน

ครูน้ำ อัญภัทร บุตรพรหม

"ครูน้ำ" อัญภัทร บุตรพรหม

"ครูน้ำ" อัญภัทร บุตรพรหม

ตลอดระยะเวลาที่เข้ามาสอนที่ ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย ในตัวเมืองเชียงใหม่ ครูน้ำยังไม่เคยเจอนักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งครรภ์ในขณะที่เรียน ครูจะสอนลูกศิษย์ด้วยวิธีการพูดคุยเหมือนเพื่อน มีปัญหา มีเรื่องไม่สบายใจ ครูก็เหมือนเป็นที่พึ่งพิงให้ เพราะนักเรียนบางคนเดินทางไกลเข้ามาเรียนในตัวเมือง ต้องห่างจากพ่อแม่ ครอบครัว การมีครูที่พูดคุยได้ทุกเรื่อง ก็เหมือนเป็นสิ่งเยียวยาจิตใจของนักเรียน

เราจะพูดคุยกับเด็กๆ เหมือนเพื่อน เป็นที่ฮีลใจให้พวกเขา เด็กบางคนพ่อแม่เอาไม่ไหว เด็กไม่ฟัง แต่พอเราคุย เด็กยอมฟัง เราก็ต้องทำ มันคือหน้าที่ครู

ครูน้ำสอนลูกศิษย์ว่า ในเมื่อนักเรียนชอบเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่นักเรียนพึงมี-พึงได้ แต่ก็อย่าลืมทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก่อนด้วย เป็นนักเรียนก็ต้องเรียนหนังสือก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ขอให้เป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมา

รักกันต้องพากันเรียน

ด้วยช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ อยากรู้อยากลองไปเสียหมด การสอน-แนะนำ อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ยิ่งโรงเรียนเป็นโรงเรียนสหศึกษา มีทั้งชายและหญิง "การคบกัน" ของนักเรียนจึงเห็นได้ทั่วไป

ครูน้ำได้แต่มองดูอยู่ห่างๆ คอยสอนให้ผู้หญิงต้อง "รักนวลสงวนตัว" สอนผู้ชาย "ให้เกียรติผู้หญิง" แม้ฟังดูเป็นคำโบราณ ล้าสมัย เด็กไม่ค่อยสนใจ แต่ครูน้ำก็พยายามพร่ำสอนไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าเป็นคำโบราณที่ใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานการณ์

รักกันไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ารักกันต้องพากันได้ดี
ถ้าผู้ชายไปเตะบอลไม่ยอมขึ้นมาเรียน ครูก็ให้แฟนเค้าไปตาม ไปพามาเข้าเรียนให้ได้

"ท้อง" ไม่ใช่คนป่วยหรือโรคติดต่อ

แม้จะยังไม่เคยพบกรณีนักเรียนตั้งครรภ์ในขณะเรียน แต่ครูน้ำก็บอกว่าทางโรงเรียนก็มีมาตรการรองรับเด็กมีที่ปัญหาในขณะเรียนเช่นกัน

ไม่ใช่เฉพาะเด็กท้อง แต่เด็กป่วย หรือ เด็กที่มีปัญหาด้านอื่นๆ เราก็พร้อมดูแล

หากนักเรียน ม.ต้น มีปัญหา ทางโรงเรียนจะพยายามทุกทางที่จะไม่ให้นักเรียนลาออกจากโรงเรียน หรือหากลาออก ก็ต้องตามได้ว่าลาออกแล้วไปเรียนที่ไหน เพราะเป็นกฎหมายบังคับที่เด็กไทยทุกคนต้องเรียนจบขั้นต่ำชั้น ม.3 แต่หากอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย เมื่อยื้อสุดทางก็ต้องปล่อยไป เพราะไม่มีกฎหมายมาบังคับเด็กและโรงเรียนแล้ว

ส่วนเรื่องเพศ นอกจากการเรียนการสอนในวิชาสุขศึกษาในทุกระดับชั้น ก็ยังมีการจัดอบรมจากกระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามาอบรมให้ความรู้เรื่องเพศกับนักเรียนเป็นประจำ แต่ก็ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์อย่างเดียว การปลูกฝังเพื่อน สังคมรอบข้างก็สำคัญ

เด็กท้องก็คือเด็กท้อง เค้าอาจพลาด แต่เพื่อนๆ ก็ต้องให้โอกาส อย่าซ้ำเติมกัน ต้องให้กำลังใจกัน และช่วยเหลือเพื่อให้เค้าเรียนจบไปพร้อมๆ กัน

แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ครูน้ำเจอคือ แม้ว่าสังคมรอบข้างจะช่วยเหลือ หรือผลักดันยังไงก็ตาม หากเจ้าตัวไม่รับหรือไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ไม่สามารถส่งนักเรียนถึงฝั่งได้อย่างตั้งใจเหมือนกัน

เคยมีนักเรียนป่วย มีใบรับรองแพทย์ลาเรียน
แต่พอขาดเรียนนานๆ ขาดบ่อยๆ และไม่อยากซ้ำชั้น
สุดท้ายก็ให้พ่อแม่มาลาออกให้

ยังมีข้อมูลที่ทำให้ตกใจอีก เมื่อครูน้ำบอกว่า บางครั้งที่นักเรียนหรือวัยรุ่นต้องหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน เป็นเพราะความเชื่อ ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น "ประเพณีฉุดสาว" ที่ใน 1 ปี จะมี 1 วันที่ผู้ชายในหมู่บ้านจะไปฉุดตัวผู้หญิงวัยรุ่นบ้านไหนก็ได้มาอยู่ด้วยโดยไม่มีความผิดอะไร จากนั้น 1-3 วันก็ปล่อยตัวกลับบ้านมาแล้วจึงทำพิธีมาสู่ขอ

คำถามคือ ต่อให้เด็กสาวไม่ยินยอมจะทำอย่างไร คำตอบคือ พ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็ต้องยอม เพราะไม่อยากให้ลูกสาวต้องได้ชื่อเป็นแม่หม้าย หรือ ถูกล่วงละเมิดทางเพศแบบฟรีๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วัยรุ่นต้องหลุดจากระบบการศึกษา ที่ไม่ได้เป็นเพราะตัวเขาเองหรือเพื่อนในโรงเรียน

มาตรการคือดาบ 2 คม

"การฝังยาคุมในเด็กผู้หญิงฟรี หรือการแจกถุงยางอนามัยฟรีให้เด็กผู้ชาย" เหมือนจะช่วยป้องกันปัญหา แต่ก็เหมือนเป็นตัวเร่งให้วัยรุ่นไม่กลัวการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ข้อสังเกตจาก "พี่จอม" เอกรัตน์ คงยอด นักจัดการทั่วไป คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เปิดเผยข้อมูลผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์

เด็กสมัยนี้มีเพศสัมพันธ์กันง่ายขึ้น และไม่กลัวการตั้งครรภ์

เข้าใจดีว่าเพื่อลดปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน และเพื่อควบคุมการเพิ่มประชากรที่ไม่มีคุณภาพขึ้นมาในสังคม มาตรการต่างๆ ที่ประกาศใช้ออกมานั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนดาบ 2 คมที่ทำให้วัยรุ่นปัจจุบันมีความกล้าและไม่ระวังตัวมากขึ้น พี่จอมเชื่อว่าวัยรุ่นในปัจจุบัน มีความเข้าใจดีเกี่ยวกับการป้องกัน ผู้หญิงก็รู้ว่าต้องกินยาคุม ผู้ชายก็รู้ว่าต้องสวมถุงยางอนามัย

พี่จอม เอกรัตน์ คงยอด

"พี่จอม" เอกรัตน์ คงยอด

"พี่จอม" เอกรัตน์ คงยอด

และทุกคนรู้ว่า เมื่อพลาดตั้งครรภ์แล้วก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะรัฐทำให้ถูกกฎหมายแล้ว

อีกด้าน พี่จอมที่เรียนจบทางด้านจิตวิทยาก็มองว่า "การตั้งครรภ์" เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ นอกจากนั้นยังย้ำว่า "การตั้งครรภ์" แม้จะเกิดขึ้นในวัยเรียน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องถูกเช่นกัน แต่ก็ต้องเข้าใจว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไป สิ่งล่อตาล่อใจ ข้อมูลต่างๆ เข้าถึงง่าย หากปราศจากการกลั่นกรอง หรือความยับยั้งชั่งใจ ก็จะเกิดสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรในช่วงเวลานั้นๆ ตามมา

คนท้องไม่ใช่โรคติดต่อ ใช่ว่าไปนั่งข้างใครแล้วคนนั้นจะท้องตาม

วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เองก็ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งพอสมควร และต้องได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ส่วนสังคมเองก็ไม่ควรตัดสินแทนเขา และไม่ควรตีตรา เพราะการตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งเมื่อพวกเขาสามารถดูแลประชากรคนใหม่ได้ดี มีคุณภาพ ก็ยิ่งต้องยินดีกับพวกเขา  

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียว

อีกประเด็นหนึ่งที่ "พี่จอม" อยากฝากไว้คือ "คนทำให้ท้อง" หรือวัยรุ่นชาย ที่ไม่ควรปล่อยให้ฝ่ายหญิงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ฝ่ายเดียว มาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้นยังพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายหญิงมากกว่า โดยที่ไม่ได้ครอบคลุมหรือให้ความเท่าเทียมกับฝ่ายชาย หรือทำให้ฝ่ายหญิงได้รับความเท่าเทียมเท่าฝ่ายชาย

เรื่องเหล่านี้เริ่มต้นจากการทำไม่ถูกกฎหมาย คน 2 คน ไม่ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรสกัน แต่หากมีบุตรด้วยกัน และพวกเขารับผิดชอบร่วมกัน ทำให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายก็ดีไป

แต่บางกรณี ถ้ามีการเลิกรากันไป ก็ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ถูกกฎหมาย เช่นว่านับจากนี้ไป สิทธิการดูแลบุตรจะต้องตกอยู่ที่แม่เพียงฝ่ายเดียว ถึงแม้ว่า ดูจะเป็นการตอกย้ำที่โยนความรับผิดชอบให้ฝ่ายหญิงไปเต็มๆ และฝ่ายชายก็สามารถลอยตัวได้อย่างถูกกฎหมาย

แต่ในปัจจุบัน พบว่ามีกรณีที่พ่อที่ไม่เคยรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร และกลับมาเรียกร้องเงินหรือสิทธิความเป็นพ่อ เมื่อลูกประสบความสำเร็จ มีรายได้ อยู่มากในสังคม

ไม่ได้มองแค่พ่อหรือแม่ แต่มองที่ลูกด้วย การพิทักษ์สิทธิของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องทำเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่ม : 
"ท้องในวัยเรียน" อีกบทพิสูจน์ความเป็นแม่ของวัยรุ่น

วัยรุ่นท้องต้องได้เรียน ได้หรือไม่?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง