บทวิเคราะห์ : “บิ๊กป้อม” จุดพลุรอบใหม่ ปรองดอง-ก้าวข้ามความขัดแย้ง

การเมือง
28 ก.พ. 66
15:58
298
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : “บิ๊กป้อม” จุดพลุรอบใหม่ ปรองดอง-ก้าวข้ามความขัดแย้ง

แล้วจดหมายเปิดใจฉบับที่ 3 ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ตามมา

ไม่เพียงแจกแจงถึงสาเหตุที่ยังไปต่อบนเส้นทางการเมือง แทนที่จะยุติ กลับไปใช้ชีวิตสบาย ๆ เพราะไม่ขาดแคลนอะไรแล้ว เหตุผลหนึ่งคือทิ้งคนที่ร่วมสร้างพรรคพลังประชารัฐด้วยกันมาไม่ได้

สองคือปัญหาและทางออกของบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา ที่ผู้คนส่วนใหญ่ห่วงใย และพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองและกลุ่มอีลิท หรือกลุ่มที่มีบทบาทและอิทธิพลกำหนดความเป็นไปของประเทศ ซึ่งเห็นดีเห็นงามกับการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่

คนเหล่านี้ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติในช่วงการเมืองปกติ แต่จะมีโอกาสเฉพาะช่วง“รัฐบาลจากอำนาจพิเศษ” หรือการรัฐประหารเท่านั้น

สาม การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ สำหรับทางออกของประเทศ แม้ผู้ยึดอำนาจด้วยวิธีพิเศษจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสู้ แต่สุดท้ายฝ่ายอำนาจนิยม ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประชาธิปไตย ต้องนำพาประเทศไปต่อด้วยแนวทางประชาธิปไตย

และสี่ จากประสบการณ์ที่ผ่านการเรียนรู้ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อเดินหน้าสู่ความปรองดอง ด้วยเชื่อว่า สามารถทำได้ หากประชาชนให้โอกาส

ถือเป็นการสะท้อนความคิดที่แจ่มแจ้งชัดเจน หลังจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร เคยปฏิเสธเสียงแข็งในการตอบญัตติอภิปรายไม่ไว้ว่างในสภาว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่ผ่านมา โดยระบุชัดว่า คนที่ทำรัฐประหาร คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซึ่งเจ้าตัวก็ชูมือยิ้มรับกับเรื่องที่ถูกพาดพิง)

เท่ากับ พล.อ.ประวิตร เดินหน้าสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย พร้อมเข้าสู่เวทีเลือกตั้งตามแนวทางนักการเมือง สอดรับกับความเห็นจากกูรูการเมืองบางคนที่เชื่อว่า “บิ๊กป้อม” มีศักยภาพและบารมี ที่จะสามารถนำพาประเทศเข้าสู่ความปรองดอง ลดความขัดแย้งได้

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. คือหนึ่งในกูรูที่ว่านั้น

นายวันชัย ยืนยันความเห็นเรื่องนี้ว่า สาเหตุหลักที่ทำเรื่องนี้ไม่ได้เสียที เพราะผู้มีอำนาจไม่ยอมทำ เหมือนเช่นการปฏิรูปตำรวจ หรือปฏิรูปการศึกษา เมื่อมีอำนาจ กลับไม่ยอมทำจริง ตนพูดในสภาหลายครั้ง ทั้งในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ย้ำว่า ผู้ที่ต้องทำคือผู้มีอำนาจ ก็คือรัฐบาล พอถึงยุคการทำรัฐประหาร ก็ย้ำว่าผู้ที่ต้องทำ คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลับไม่ทำ กลับกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่

ถ้าจะทำจริง ผู้มีอำนาจต้องแสดงความชัดเจนว่า เป็นกลาง ไม่ไปสร้างความขัดแย้งขึ้น และต้องไม่หนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อย่างในอดีต เมื่อมีเสื้อแดงเป็นเพื่อน ผู้มีอำนาจก็เชียร์ แล้วไปเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง ต่อมาเมื่ออีกฝ่ายขึ้นไปมีอำนาจ ก็หนุนเสื้อเหลือง

นายวันชัย กล่าว

นายวันชัยกล่าวอีกว่า เรื่องต่อมาที่ต้องทำ คืออะไรที่จะก่อให้เกิดปัญหาบานปลายตามมา เช่น คดีความ หรือความขัดแย้งจากเรื่องการเมือง เช่น การชุมนุม จับกุมผู้ร่วมชุมนุม ก็ต้องหยุด ไม่รู้จะจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีไปเพื่ออะไร ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย

นักการเมือง ส.ส.และพรรคการเมือง ต้องตระหนักหยุดยั้ง และให้ความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง ลดความขัดแย้งให้ได้ รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.

ล่าสุดมีการหารือในกลุ่ม ส.ว. เสียงส่วนใหญ่ ต่างเห็นด้วยกับการเปิดกว้างเคารพมติของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า สนับสนุนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนใด เป็นรัฐบาล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ควรขัดขวางหรือไปลงมติโหวตสวน

หากเป็นไปตามนี้ ถือเป็นสัญญาณข่าวดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญ อันจะทำไปสู่ความปรองดอง และก้าวข้ามความขัดแย้งที่คาราคาซังมานานเสียที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง