บัญชีม้าใช้ซิมและเครือข่ายโทรศัพท์ไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน

อาชญากรรม
1 มี.ค. 66
17:28
3,002
Logo Thai PBS
บัญชีม้าใช้ซิมและเครือข่ายโทรศัพท์ไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถึงแม้มีความพยายามจัดระเบียบและกำกับการครอบครองซิมโทรศัพท์จากหลายหน่วยงาน แต่ดูเหมือนว่าซิมโทรศัพท์ไทยที่หาซื้อง่าย ขายคล่อง และให้ใครก็ได้ยืนยันตัวตน ได้เปิดช่องให้มิจฉาชีพใช้ซิมการ์ดเหล่านี้บริหารบัญชีม้าจากต่างแดน โดยอาศัยคลื่นความถี่โทรศัพท์ไทยที่ล้ำเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวช่วยทำงาน

ซิมโทรศัพท์ผูกบัญชีม้า

กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทีมข่าวเดินทางไปยังกรุงปอยเปต ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีชายแดนอยู่ติดกับอำเภออรัญประเทศ จ.สระแก้ว ภาพที่พบเห็นบริเวณด่านพรมแดนคือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศที่ต่อแถวรอประทับลงตราเข้าประเทศกัมพูชา

เมื่อผ่านการประทับลงตราจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ภาพตรงหน้าคือรถสามล้อที่ติดป้ายโฆษณาเว็บไซต์พนันออนไลน์หลากหลายรูปแบบ จอดรอรับผู้โดยสารหน้าโรงแรมและกาสิโน เราพบว่า นอกจากกรุงปอยเปตจะเป็นเมืองของนักพนัน ที่นี่ยังเป็นฐานทำงานของสแกมเมอร์ข้ามชาติด้วยเช่นกัน

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ มีข้อมูลว่า กลุ่มสแกมเมอร์ใช้ซิมและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือไทยเพื่อบริหารจัดการบัญชีม้าจากแนวชายแดน ถึงแม้พวกเขาไม่ได้อยู่ในประเทศไทยก็ตาม

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บอกว่า กลุ่มหลอกลวงมีฐานทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตของประเทศเพื่อนบ้าน แต่โทรมาหลอกลวงคนไทยผ่านระบบการโทรผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ VoIP โดยพบว่าไอพีแอดเดรส (IP Address) ทั้งหมดของกลุ่มหลอกลวงเป็นไอพีต่างประเทศ ส่วนกลุ่มบริหารจัดการบัญชีจะจ้างให้คนไปเปิดบัญชีม้ากับธนาคาร โดยมอบซิมพร้อมโทรศัพท์มือถือ เมื่อผู้รับจ้างไปเปิดบัญชีธนาคารก็สามารถใช้ซิมโทรศัพท์ผูกเข้ากับบัญชีธนาคารได้ทันที

การบริหารบัญชี เขาต้องใช้เบอร์โทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตของไทย เพราะว่าเบอร์โทรศัพท์ผูกอยู่กับบัญชีม้า ส่วนใหญ่เขาเลยอยู่ตามแนวชายแดน เพื่อใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตของไทย พอเราติดตามไอพีที่ทำกิจกรรมโอนเงินต่างๆ พบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไอพีที่เกิดขึ้นในแนวชายแดนทั้งหมด

ซิมโทรศัพท์ไทยหาซื้อง่าย ใช้ได้ทันที มีคนลงทะเบียนให้

การหาซื้อซิมโทรศัพท์ไทยที่กรุงปอยเปตไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อเดินข้ามแดนมา สามารถหาซื้อซิมโทรศัพท์ไทยจากผู้ค้ารายย่อย ราคาอยู่ที่ 100 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นซิมโทรศัพท์ระบบเติมเงิน เมื่อสอบถามว่าต้องลงทะเบียนก่อนใช้งานหรือไม่ พวกเขาบอกว่าไม่จำเป็น สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อใส่ซิมในโทรศัพท์

ภาพการซื้อขายซิมโทรศัพท์ ณ กรุงปอยเปต กัมพูชา

ภาพการซื้อขายซิมโทรศัพท์ ณ กรุงปอยเปต กัมพูชา

ภาพการซื้อขายซิมโทรศัพท์ ณ กรุงปอยเปต กัมพูชา

เมื่อทีมข่าวลองซื้อซิมโทรศัพท์ของไทยทั้ง 3 ค่ายมาใช้งานพบว่าสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรได้ทันที โดยไม่ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ค้าบอกก่อนหน้านี้

ทีมข่าวไทยพีบีเอสพบว่ามีเพียงซิมจากค่ายดีแทคเท่านั้นที่ระบุผ่าน SMS ว่า ซิมนี้ผ่านการลงทะเบียนแล้ว โดยหมายเลขประชาชนใด ภายหลังยังตรวจสอบพบว่าซิมโทรศัพท์ของอีกสองค่ายที่เหลือ ก็ผ่านการลงทะเบียนยืนยันตัวตนมาแล้วเช่นกัน

ข้อความยืนยันการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์

ข้อความยืนยันการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์

ข้อความยืนยันการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์

นี่อาจเป็นความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้งาน แต่เป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับตำรวจไซเบอร์ เมื่อต้องการติดตามว่าผู้ทำธุรกรรมผิดกฎหมายคือใคร เพราะส่วนใหญ่ซิมโทรศัพท์ลงทะเบียนโดยชื่อผู้ค้าขายส่ง เมื่อตำรวจตรวจสอบว่าธุรกรรมที่ผิดกฎหมายคือใคร ก็พบว่าชื่อที่ใช้ยืนยันตัวตนเป็นชื่อของคนขายซิมโทรศัพท์ ซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าขายซิมให้กับใครไปแล้วบ้าง

ข้อมูลจากตำรวจไซเบอร์ ระบุว่า จุดตรวจพบใช้ซิมและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือไทยในต่างแดนเพื่อบริหารจัดการบัญชีม้า อันดับหนึ่งคือ ชายแดนไทย จ.สระแก้ว ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อันดับสอง คือ แนวชายแดนทางเหนือของไทย แถบ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่ามักเกี่ยวข้องกับไฮบริดสแกม คือ หลอกให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ขณะที่ชายแดน จ.ตาก พบว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และชายแดนทางใต้ เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรแมนซ์สแกม ซึ่งหลอกให้รักก่อนจะปอกลอกเอาจากเงินผู้หลงเชื่อ

ปัจจุบัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไม่ได้จำกัดจำนวนการถือครองซิมโทรศัพท์ แต่ผู้ที่ถือครองซิมมากกว่า 5 เบอร์ ต่อ 1 ค่ายต้องยืนยันตัวตนกับศูนย์บริการเท่านั้น ถึงจะเปิดใช้งานซิมได้ นี่เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ กสทช. พยายามกำกับดูแลการถือครองซิมการ์ด

จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ให้ข้อมูลว่า กสทช. ถือว่า ผู้ครอบครองซิมโทรศัพท์รวมกันมากกว่า 30 เบอร์ขึ้นไป คือผู้ถือครองซิมจำนวนมาก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นคนในประเทศไทย จำนวนเบอร์รวมกันมากกว่า 7 ล้านเลขหมาย แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกรายที่นำไปใช้ในทางที่ผิด เพราะมีทั้งผู้รวบรวมเบอร์เพื่อขายเบอร์สวย และธุรกิจอื่นๆ ที่มีความจำเป็นใช้ซิมโทรศัพท์สำหรับการติดต่อสื่อสาร ที่ผ่านมา ทาง กสทช.พยายามให้ค่ายมือถือประสานผู้ถือครองซิมเหล่านี้มายืนยันตัวตนและแจ้งจุดประสงค์การใช้งานให้ชัดเจน โดยตัวเลขล่าสุดพบว่ายังมีผู้มายืนยันตัวตนไม่มากนัก

จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม

จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม

จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม

ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม บอกว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยหามาตรการเพิ่มเติมกับผู้ประกอบการ โดยอาจจัดทำเป็นนโยบายหรือข้อเสนอแนะต่อ กสทช. ว่าจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร

แล้วถ้าคนไม่กลับมายืนยันตัวตนมันจะมีนโยบายต่อเนื่องไหม เช่น จะระงับการใช้ซิมการ์ดหรือเปล่า ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะมันกระทบต่อประชาชนทั่วไป ทาง กสทช. จึงจัดทำข้อดีข้อเสียและผลกระทบ เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายให้ทาง กสทช. ตัดสินใจ

มิจฉาชีพฉวยใช้คลื่นความถี่ไทยจากต่างแดน

ถึงแม้อยู่ในกรุงปอยเปต แต่ทีมข่าวสามารถใช้ซิมโทรศัพท์ไทยที่เพิ่งซื้อมา ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพลิเคชันธนาคารได้สะดวก โดยไม่ต้องเสียค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติหรือโรมมิ่ง จุดที่ทีมข่าวทดสอบการใช้งาน ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 100 เมตร และเมื่อตระเวนไปทั่วกรุงปอยเปต พบว่าในรัศมี 2-2.5 กิโลเมตรจากแนวชายแดนไทย ยังสามารถใช้บริการซิมและสัญญาณโทรศัพท์ไทยได้ มีบ้างบางแห่งที่เป็นจุดอับสัญญาณ

กสทช.ให้ข้อมูลว่า ในทางเทคนิคแล้วเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คลื่นความถี่จะล้ำเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน แต่คณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรรคลื่นความถี่บริเวณชายแดน หรือ JTC กำหนดข้อตกลงระหว่างประเทศไว้แล้วว่า แต่ละเขตแนวชายแดน คลื่นความถี่เครือข่ายโทรศัพท์ของแต่ละประเทศสามารถล้ำแดนกันและกันได้ไม่เกินระยะทางเท่าไร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ และผู้ใช้งานไม่ได้รับความเดือดร้อน โดยข้อตกลงเบื้องต้นคือ แนวชายแดนไทย-ลาว และแนวชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถล้ำได้ไม่เกิน 700 เมตรถึง 1 กิโลเมตร แนวชายแดนไทย-เมียนมา ล้ำได้ไม่เกิน 4 กิโลเมตร และแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ล้ำได้ไม่เกิน 6 กิโลเมตร

ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม บอกว่าค่ายมือถือของแต่ละประเทศก็ไม่ได้ต้องการให้คลื่นของตนเองสาดเข้าไปในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านมากนัก เพราะกระทบกับรายได้ของบริษัท สำหรับปัญหาที่มิจฉาชีพอาศัยโอกาสนี้ใช้เครือข่ายมือถือไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกหยิบยกขึ้นไปพูดคุยให้มากขึ้นในการประชุม JTC ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ช่วยกันปรับจูนทางด้านเทคนิคให้ดีขึ้น

กสทช. คงต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ติดตาม กำชับ ดูแลผู้ประกอบการบ้านเรา เพราะถ้าหากไปตกลงอะไรมา ก็ต้องทำให้เรียบร้อย ไม่ใช่ว่าจะมองในแง่การค้าจนเกินไป

ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ยังมองว่า การแก้ปัญหาทางเทคนิคอย่างเดียว ไม่อาจช่วยป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นตามแนวตะเข็บชายแดนได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกัน ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลของแต่ละประเทศ ช่วยกันติดตาม จับกุมกลุ่มผู้กระทำความผิดร่วมกันให้ทันท่วงที เพราะอาชญากรรมออนไลน์ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป

 

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง