จับตา! บอร์ด สวล. จ่อยกระดับคุมไฟป่า 15 มี.ค.นี้

สิ่งแวดล้อม
6 มี.ค. 66
13:31
387
Logo Thai PBS
จับตา! บอร์ด สวล. จ่อยกระดับคุมไฟป่า 15 มี.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปลัด ทส.ระบุเตรียมถกใหญ่ในบอร์ดสิ่งแวดล้อม 15 มี.ค.นี้ ยกระดับคุมไฟป่า PM2.5 หลังสถานการณ์วิกฤตหนัก เพื่อนบ้านไทยเมินคุมจุดความร้อน เมียนมาหนักสุดกว่า 6,000 จุด ส่วน จนท.ดับไฟป่าสลดใจช่วยลูกหมูป่า 2 ตัว ก่อนตายจากควันไฟ 1 ตัว

วันนี้ (6 มี.ค.2566) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า สถานการณ์หมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้วิกฤต พบปัญหาต่อเนื่องมาตลอดสัปดาห์

สาเหตุมาจากการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่เกษตรทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อน (Hotspot) เพิ่มสูงมากกว่า 2,500 จุด ทั้งที่เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ รวมทั้งท้องถิ่นที่ได้รับถ่ายโอนภารกิจดับไฟป่า ทำงานหนักดับไฟป่า แต่ยังควบคุมไม่ได้

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ปลัด ทส. กล่าวว่า สำหรับจุดความร้อนที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งยกระดับการแจ้งเตือนไปยังประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 2 มีหนังสือขอความร่วมมือในระดับประเทศแล้ว ตั้งแต่ยังอยู่ในระดับ 2 คือจุดความร้อนเกิน 150 จุดต่อวัน

วันที่ 15 มี.ค.นี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องนำปัญหาที่เกิดขึ้นมากางให้เห็นรายละเอียด เพื่ออุดช่องว่างให้ทันสถานการณ์ไฟป่าที่เข้าสู่ช่วงพีค อะไรที่ยกระดับทางมาตรการและบูรณาการดับไฟ ต้องทำให้เร็วที่สุด

ปลัด ทส.ยังระบุว่า ขณะนี้ไม่เชื่อว่าไฟป่าที่รุนแรงจะมีสาเหตุจากการโอนภารกิจให้ท้องถิ่นกว่า 2,000 แห่ง จะมาจากการขาดงบประมาณ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อภารกิจหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ต้องรอฟังคำชี้แจงจากกระทรวงมหาดไทย

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เมียนมา Hotspot นำโด่ง 6,701 จุด

ขณะที่ GISDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ไทยพบจุดความร้อน 2,583 จุด ส่วนเมียนมานำโด่ง 6,701 จุด, กัมพูชา 2,125 จุด, สปป.ลาว 1,434 จุด, เวียดนาม 147 จุด และมาเลเซีย 2 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,378 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 541 จุด, พื้นที่เกษตร 267 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 228 จุด, พื้นที่เขต สปก. 155 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 14 จุด

ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับคือ จ.กาญจนบุรี 597 จุด, ตาก 200 จุด และแม่ฮ่องสอน 117 จุด ตามลำดับ

สลด “หมูป่า” สำลักควันไฟตาย 1 ตัว

ขณะที่นายธวัชชัย สัญญากิจ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลก รายงานว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลก พร้อมเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง ประชุมวางแผนเพื่อดูแผนที่จุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลกได้รับหมอบหมายให้ปฏิบัติงานดับไฟไหม้ป่าในพื้นที่อุทยานฯ เเม่ปิง

เมื่อเวลา 02.00 น. ตรวจพบไฟไหม้พื้นที่อุทยานฯ แม่ปิง ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน ต่อมาเริ่มดับไฟในพื้นที่รับผิดชอบพบพื้นที่เสียหาย 20 ไร่ และอีก 1 จุดพบเสียหาย 50 ไร่ สาเหตุเกิดจากคนจุด ชนิดของป่าเป็นป่าเบญจพรรณ-ป่าเต็งรัง

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ทั้งนี้ ระหว่างปฏิบัติภารกิจ ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลกพบเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกสลดใจ โดยพบลูกหมูป่า 2 ตัวอยู่ในควันไฟ จึงเข้าช่วยเหลือ แต่ลูกหมูป่า 1 ตัวตายในเวลาต่อมา สาเหตุคาดว่าถูกควันจากไฟไหม้ป่ารมจนหายใจไม่ออก

ส่วนอีก 1 ตัวที่รอดชีวิตนำส่งมอบให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเพื่อนำไปอนุบาลดูแลแล้ว นอกจากนี้จากการเข้าดับไฟไหม้ป่าที่ผ่านมายังพบสัตว์ป่าหลายชนิดที่ตายจากการถูกไฟไหม้

ปิด-ควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ป้องกันไฟป่า

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้มีการพิจารณาประกาศปิด/ควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่าแล้วจำนวน 79 แห่ง ดังนี้

1.สบอ.3 (บ้านโป่ง) จำนวน 1 แห่ง
2.สบอ.11 (พิษณุโลก) จำนวน 5 แห่ง
3.สบอ.12 (นครสวรรค์) จำนวน 5 แห่ง
4.สบอ.13 (แพร่) จำนวน 5 แห่ง
5.สบอ.13 สาขาลำปาง จำนวน 7 แห่ง
6.สบอ.14 (ตาก) จำนวน 11 แห่ง
7.สบอ.15 (เชียงราย) จำนวน 6 แห่ง
8.สบอ.16 (เชียงใหม่) จำนวน 18 แห่ง
9.สบอ. 16 สาขาแม่สะเรียง จำนวน 21 แห่ง

โดยแบ่งเป็น
1. อุทยานแห่งชาติ จำนวน 38 แห่ง
2. เตรียมการอุทยานแห่งชาติ จำนวน 8 แห่ง
3. วนอุทยาน จำนวน 11 แห่ง
4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 20 แห่ง
5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 2 แห่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยกระดับคุมไฟป่าเหนือลากยาวสิ้น มี.ค.- จับจริงลอบเผา

คพ.ชี้จุดความร้อน 90% ภาคเหนือเกิดจากคนจุดไฟ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง