"สงครามรัสเซีย-ยูเครน" บีบยุโรปสะสมอาวุธมากขึ้น

ต่างประเทศ
15 มี.ค. 66
10:12
1,474
Logo Thai PBS
"สงครามรัสเซีย-ยูเครน" บีบยุโรปสะสมอาวุธมากขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รายงานจากสถาบันการศึกษาด้านนโยบายระหว่างประเทศในยุโรป พบว่า การนำเข้าอาวุธของยุโรปเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯ ขึ้นแท่นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก มีแนวโน้มขยายตัวทำให้หลายประเทศในยุโรปหันมาเสริมสร้างเขี้ยวเล็บทางการทหาร ซึ่งการจัดซื้ออาวุธเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพ เพิ่มขึ้นหลังจาก "สงครามรัสเซีย-ยูเครน" เปิดฉากเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2022

การเปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานยูเครนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ของผู้ซื้อกับผู้ขายอาวุธระดับโลกอย่างมาก โดยรายงานจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ชี้ว่า การนำเข้าอาวุธของยุโรปปี 2018-2022 เพิ่มขึ้น 47% จากปี 2013-2017

คำนิยามเกี่ยวกับอาวุธครอบคลุมตั้งแต่เครื่องบินรบ เรือรบ รถถัง ปืนใหญ่ ขีปนาวุธ ไปจนถึงระบบป้องกันภัยอีกหลากหลายประเภท แม้ว่าการนำเข้าอาวุธทั่วโลกจะลดลง 5.1% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่สมาชิกองค์การนาโตในยุโรปกลับนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นถึง 65%

รายงานสรุปสถานการณ์การนำเข้าอาวุธของยุโรปปี 2018-2022 ระบุว่า ยูเครนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าอาวุธ 15 อันดับแรกของโลก หลังจาก 29 ประเทศทั่วโลกจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครน เพื่อใช้รับมือกับการรุกรานของรัสเซียตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของสงคราม

การให้ความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ทำให้ยูเครนขึ้นแท่นผู้นำเข้าอาวุธเบอร์ 3 ของโลกเมื่อปี 2022 อัตราการจัดซื้ออาวุธของยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ท่ามกลางความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจในสงครามยูเครน

การเปิดปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซีย เป็นเพียงตัวเร่งให้การเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจาก​แนวโน้มการจัดซื้ออาวุธเพื่อเตรียมรับมือความขัดแย้ง เริ่มขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียเดินหน้าผนวกคาบสมุทรไครเมียเมื่อปี 2014

เปียเตอร์ เวเชมัน นักวิจัยอาวุโส SIPRI กล่าวว่า การตัดสินใจเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารของชาติยุโรป เกิดขึ้นหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปี 2014 หลังจากการผนวกไครเมีย ซึ่งจะเห็นว่าชาติในยุโรปได้ตัดสินใจยกระดับการจัดซื้ออาวุธสำคัญๆ แต่ในปี 2022 ก็ได้เห็นกระบวนการดังกล่าวรวดเร็วมากขึ้น เมื่อประเทศในยุโรปต้องการมีอาวุธมากขึ้น และพวกเขาต้องการได้รับอาวุธเร็วขึ้นด้วย

ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงรั้งตำแหน่งผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกอาวุธคิดเป็น 40% ของทั้งโลก อันดับที่ 2 คือรัสเซีย (16%) ตามด้วยฝรั่งเศส จีนและเยอรมนี ขณะเดียวกันสัดส่วนการส่งออกอาวุธของรัสเซียลดลงจาก 22% เหลือ 16% เนื่องจากรัสเซียจำกัดการส่งออกอาวุธเพื่อใช้ในการทำสงคราม ในขณะที่คำสั่งซื้ออาวุธจากต่างชาติลดลงจากมาตรการคว่ำบาตร

แนวโน้มการแข่งขันด้านอาวุธมีสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ปี 2022 หลังจากค่าใช้จ่ายด้านการทหารทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก ซึ่ง "จีน" ทุ่มค่าใช้จ่ายเป็นอันดับที่ 2 ของโลก 2.93 แสนล้านดอลลาร์ แต่ได้ยกระดับการผลิตอาวุธภายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ การเพิ่มกำลังการผลิตอาวุธภายในประเทศมีส่วนทำให้จีนส่งออกลดลงจาก 6.3% ในปี 2013-2017 เหลือ 5.2% ในปี 2018-2022

ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้โลกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น จนนำไปสู่การสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อยกระดับกองทัพให้ทันสมัย

วิเคราะห์โดย พงศธัช สุขพงษ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง