เปิดใจ "ชุดเสือไฟ" กับภารกิจสุดหินดับไฟป่าตะวันตก

สิ่งแวดล้อม
21 มี.ค. 66
16:16
616
Logo Thai PBS
เปิดใจ "ชุดเสือไฟ" กับภารกิจสุดหินดับไฟป่าตะวันตก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจชุดเสือไฟ กับภารกิจสุดหินดับไฟ "ผืนป่าตะวันตก" ท่ามกลางความเสี่ยงภูเขาสูงชัน เดินเท้า 2 วัน 3 คืนต่อเรือ เผชิญช้างป่า ต้องทำงานหนักข้ามวันข้ามคืน วอนหยุดเผาป่ารักษาบ้าน
ไฟเมืองกาญจน์เคยแรง ไม่ใช่มาแรงปีนี้ แต่สังคมโฟกัสไฟที่ภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำปาง ทั้งที่เป็นป่าสำคัญเช่นกัน เป็นผืนป่าตะวันตกที่ใหญ่มาก เราให้ความสำคัญพอหรือยัง ต้องดึงทรัพยากรต่าง ๆ มาช่วย

นายธงชัย สาแรก หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากาญจนบุรี เปิดใจกับไทยพีบีเอสออนไลน์ หลังลูกทีมต้องทำงานอย่างหนักหน่วง หลังช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ที่รุนแรงในปีนี้ ถึงขั้นติดอันดับ 1 จุดความร้อน (Hotspot) สะสมสูงสุดของประเทศ ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2566 นาน 2 สัปดาห์ และช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ธงชัย บอกว่า สถานการณ์ไฟป่า ส่วนหนึ่งมาจากการสะสมของเชื้อเพลิงมากโดยระบุว่า เมื่อปี 2561-2563 กาญจนบุรี ได้รับผลกระทบไฟป่า เช่นเดียวกับ 9 จังหวัดภาคเหนือ แต่ปี 2564-2565 เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้คนลืมปัญหาไฟป่าของที่นี่ไป

สอดคล้องกับข้อมูลจากจิสด้า รายงานว่าเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2566 พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ถึงวันที่ 18 มี.ค.2566 พบจุดความร้อนสะสมทั้งประเทศ 83,582 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 29,869 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 21,955 จุด

นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ 31,758 จุด โดยพบจังหวัดที่มีจุดความร้อนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กาญจนบุรี 9,513 จุด ตาก 6,214 จุด เชียงใหม่ 3,938 จุด ชัยภูมิ 3,896 จุด และลำปาง 3,887 จุด

ทุกคนยังต้องเผชิญปัญหาเหมือนเดิม โดยเฉพาะการสะสมเชื้อเพลิงมากขึ้น ขณะนี้เป็นการสะท้อนปัญหาที่แท้จริงว่ากาญจนบุรีอยู่ในจังหวัดต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบไฟป่า 

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากาญจนบุรี เล่าถึงการทำงานและอุปสรรคของการดับไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ว่า เมื่อพบว่าจุดความร้อนของ จ.กาญจนบุรี เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้รายงานทางส่วนกลาง และพูดคุยกับผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ว่า ต้องตั้งหลักให้ทัน จึงออกคำสั่งให้หัวหน้าป่าอนุรักษ์แต่ละแห่ง ทั้งอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 15 ศูนย์ มีอำนาจบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์ไฟในพื้นที่ตัวเอง

ขณะที่ตนเองจะดูภาพรวมในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และสอบถามจากหัวหน้าแต่ละแห่ง ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ มีแนวโน้มค่อนข้างรุนแรง จึงรายงานว่าผู้บังคับบัญชาว่าปีนี้น่ากังวล และขอให้ตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โดยไม่ต้องส่งไปช่วยไฟป่าภาคเหนือเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา

รักษาบ้านตัวเองก่อน จะไปรักษาบ้านคนอื่น แต่บ้านตัวเองจะไหม้จะพัง ท่านสั่งการ 17 ก.พ. ให้ชุดดับไฟเมืองกาญจน์ประจำพื้นที่ ไม่ต้องขึ้นไปช่วยดับไฟภาคเหนือ

"เขาสูง-ช้างป่า" อุปสรรคดับไฟ

พื้นที่แรกที่ไฟป่ารุนแรง คือ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ พบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนรับมือไม่ไหว จึงได้หารือ ผอ.สบอ.3 ระดมพล 105 นาย ในวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องนอนอยู่ในป่า 3 วัน 2 คืน จึงคุมสถานการณ์ระลอกแรกได้

จากนั้นจุดความร้อนกระจายไปยังอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่มีสภาพป่าใกล้เคียงกัน เริ่มแรกพบจุดความร้อน 10 กว่าจุด ผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียวแต่ละแห่งเพิ่มเป็น 30-40 จุด กระทั่งแต่ละพื้นที่รับมือไม่ไหว จึงขอรับการสนับสนุนชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (ชุดเสือไฟ) เข้าไปช่วยควบคุมสถานการณ์

ช้างเยอะมาก นั่นคือความยากของสลักพระ

ยากแค่ไหนเข้าพื้นที่ดับไฟป่าตะวันตก

แม้ผืนป่าตะวันตกจะเคยมีปัญหาไฟป่าในอดีต แต่สำหรับปีนี้กลับไม่ง่ายนัก ธงชัย สะท้อนถึงความยากลำบากแบบเห็นภาพ ไล่ตั้งแต่สภาพภูมิประเทศค่อนข้างยากลำบาก เป็นอุปสรรคต่อภารกิจดับไฟ

ยกตัวอย่างเขื่อนศรีนครินทร์ เจ้าหน้าที่ต้องนั่งเรือ จากนั้นเดินเท้าขึ้นเขาความสูง 900 เมตร ไปดับไฟ ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นพื้นที่อาศัยของช้างป่าจำนวนมาก จึงต้องวางแผนงานตั้งแต่ช่วงกลางคืนว่าจุดความร้อนเกิดขึ้นที่ใดบ้าง และส่งเจ้าหน้าที่จุดที่ใกล้ได้ทันที

จุดห่างไกลต้องใช้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษที่ได้รับการฝึกอบรม แต่พบว่าตัวช้างและรอยตีนช้างจำนวนมาก ต้องทำงานแข่งกับเวลาในช่วงกลางวันจนพลบค่ำและถอนกำลัง เพื่อป้องกันอันตรายจากช้างป่า

ขณะที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม พื้นที่เป็นหินปูน ลักษณะถูกกัดเซาะจนมีความแหลมคม มีความเสี่ยงถูกบาดมือได้ รวมทั้งเป็นป่าดิบต้องมุดเข้าพื้นที่ไปดับไฟ อุทยานแห่งชาติไทรโยค ลักษณะพื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานฯ เขื่อนศรีนครินทร์ เจ้าหน้าที่ต้องต่อสู้กับไฟและการดำรงชีพในป่า โดยส่งชุดเสือไฟเข้าไปช่วยหลายครั้ง และเพิ่งจะถอนตัวไม่นานนี้

ห่วง จนท.ดับไฟในป่าลึก-ติดต่อไม่ได้

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากาญจนบุรี บอกว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการทำงานในพื้นที่เสี่ยง คือ ขาดเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่หน้างานได้ หรือส่งข่าวถึงกันได้ ทำให้รู้สึกกังวลและเป็นห่วง เพราะไม่ทราบความเป็นอยู่และสถานการณ์ที่ลูกน้องเผชิญ จึงได้ขอสนับสนุนเครื่องมือจากส่วนกลางเพื่อแก้ปัญหานี้

เจ้าหน้าที่ทำงานในหน้าที่ เอาชีวิตไปเสี่ยง แต่คุณติดต่อเขาไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เสือไฟต้องเจอเสมอ เขาไม่บ่น แต่เราเป็นเจ้านายต้องรู้ว่าชีวิตเด็กเป็นอย่างไร ได้วันละ 300 บาท ทั้งปีนเขา เสี่ยงตาย ต้องดูแลเขาให้ดีหน่อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ไฟป่ายืดเยื้อนาน 3 เดือน และแนวโน้มรุนแรงขึ้นเกินกำลังที่ชุดเสือไฟกาญจนบุรีจะรับมือไหว ผู้บังคับบัญชาได้ส่งทีมเสือไฟของ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.นราธิวาส มาสนับสนุนการทำงานดับไฟ ในวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา และเริ่มปฏิบัติพื้นที่ทันที

โดยชุดนครศรีธรรมราช ส่งไปช่วยดับไฟที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และขยับไปช่วยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วนชุดนราธิวาส ส่งไปช่วยที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ขึ้นเรือไปดับไฟเหนือเขื่อน ใช้เวลาในจุดนั้น 3-4 วัน

กาญจนบุรี กลายเป็นแหล่งตัดไม้ไผ่ส่งขายทั่วประเทศ เหลือทิ้งไว้ในป่าเพียงกิ่ง ก้าน ใบแห้ง ส่วนพื้นที่ชายป่าก็จุดเผาหญ้าเลี้ยงวัว

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากาญจนบุรี กล่าวปิดท้ายและเรียกร้องให้คนกาญจนบุรี ลุกขึ้นมาพูดว่า "ไม่ทนกับควัน ไม่ทนกับไฟป่า" เพราะที่นี่เผชิญปัญหาหมอกควันและฝุ่น ไม่ต่างจากจังหวัดทางภาคเหนือ

ดับไฟทั้งวันทั้งคืนนานสุด 36 ชม.

ทำงานดับไฟป่านานสุด 36 ชั่วโมงเมื่อ 2 ปีก่อนที่ จ.เชียงใหม่ เรียกว่าทำงานทั้งวันทั้งคืน 

ระวิน วรรณา ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า จ.กาญจนบุรี บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ เขาเพิ่งได้เว้นจากการเข้าไปดับไฟป่า หลังจากปีนี้ชุดไฟป่าต้องสลับกันทำงานแข่งกับเวลาเพื่อลดจุดความร้อน และปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมป่ากาญจนบุรี

ระวิน บอกว่า ปีนี้ทีมเสือไฟการดับไฟจุดแรก องค์หลุบในเขตอุทยานเขื่อนศรีนครินทร ใช้เวลาดับไฟ 3 วัน 2 คืน สภาพพื้นที่ไม่สามารถเข้าดับไฟได้โดยตรงต้องทำแนวอ้อม และสังเกตว่าไฟข้ามแนวหรือไม่ ส่วนจุดที่ 2 บ้านบ้องตี้น้อย  อุทยานฯ ไทรโยคไปดู Hotspot พักค้างในป่า 1 คืน จุดที่ไปแถวแม่น้ำน้อย พักค้าง 3 คืน 4 วัน

เขายอมรับว่า ปีนี้ไฟป่ารุนแรงกาญจนบุรีมาก ไม่เคยเป็นจังหวัดท็อป Hotspot  แต่กลายเป็นจังหวัดที่มีไฟป่ารุนแรงที่สุดของช่วงต้นเดือนมี.ค. สาเหตุเพราะในป่ามีเชื้อเพลิงสะสม ดูแลป่าไม่ให้เกิดไฟป่ามาหลายปีทำให้เชื้อเพลิงสะสมเวลาเกิดไฟยากต่อการควบคุม

คำว่ายากต้องสู้กับไฟ ที่มีความรุนแรงลุกลามรวดเร็ว บางจุดกว่าจะเดินเท้าเข้าพื้นที่ใช้เวลา 2-3 วันกว่าจะถึงจุดไฟ เมื่อไปถึงช่วงกลางคืนเจ้าหน้าที่ต้องพัก แต่ไฟไม่พักไปได้ตลอด 24 ชม.เราต้องคุมไฟ ยกเว้นไฟจะไปดับเอง

ระวิน บอกอีกว่า อย่างเคสล่าสุดที่ไฟไหม้พื้นที่ประมาณ 40 กม.ต้องยื้อกับไฟอยู่นาน เพราะสภาพพื้นที่ป่าไม่เป็นที่ราบ ต้องเดินขึ้นเขาลงห้วยตามแนวไฟเรื่อยๆ ลูกทีมทุกคนต้องทำงานสามัคคี และร่วมแรงกันสู้กับไฟ ตำแหน่งของทุกคนเท่ากัน ต้องสลับเปลี่ยน และมีทีมเสบียงในการเข้าป่า 

ไฟป่า 1 ชุด มี 15 คน แต่ถ้าแบ่ง 2 ชุด จะเป็น 8 กับ 7 คนแต่ละคนจะมีการแบ่งหน้าที่ คนถือมีดจะฟันกิ่งไม้ที่ปิดกั้นทางเดิน นำหน้าไป ถ้าไฟรุนแรงจะมีถังน้ำไปดับก่อนลดความร้อน จากนั้นทีมไม้ตบ จะเข้าไปตบปิดอากาศเพื่อ ยกสามเหลี่ยมให้ไฟดับ 

เขาบอกว่า ชุดดับไฟป่า เป็นด่านหน้าดับไฟ เขาทำงานอยู่มา 9 ปี การทำงานต้องทำด้วยใจ เพราะช่วงที่หนักเราจะเหนื่อย และต้องยอมเหนื่อย3 -4 เดือนต่อ 1 ปี จากนั้นต้องมีการฝึกสมรรถภาพร่างกาย ทบทวนองค์ความรู้ ทำให้พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับบาดเจ็บ

ถึงตอนนี้เขาอยากให้ช่วยกันรณรงค์ลดเผาป่าอย่างจริงจัง เพราะนั่นหมายถึงภารกิจที่ยังไม่สิ้นสุดฤดูเพลิง  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง