"ประวิตร" โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ "ประสิทธิภาพผู้นำ" ไม่จำเป็นต้องวัดด้วยการ "ดีเบต"

การเมือง
2 เม.ย. 66
09:28
518
Logo Thai PBS
"ประวิตร" โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ "ประสิทธิภาพผู้นำ" ไม่จำเป็นต้องวัดด้วยการ "ดีเบต"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ประวิตร" โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ "ประสิทธิภาพผู้นำ" ไม่จำเป็นต้องวัดด้วยการดีเบตเท่านั้น ระบุพร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทุกคนแบบส่วนตัว

วันนี้ (2 เม.ย.2566) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ผมขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติ และปรารถนาดีกับผมด้วยการเชิญไปร่วมตอบคำถาม หรือดีเบตในเวทีต่าง ๆ

ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

ผมเข้าใจในความปรารถนาดี และให้โอกาสที่ดีเช่นนั้นกับผม เพียงแต่ขอให้ทุกท่านโปรดช่วยเข้าใจผมสักหน่อยเช่นกันครับ

ผมยอมรับว่าประเทศควรจะมี "ผู้นำ" ที่มีความรู้ความสามารถที่สุด เพื่อให้เป็น "ผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่สุด"

ในการนำพาประเทศสู่การพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง บริหารจัดการให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะนำมาแลกเปลี่ยนกัน คือ "ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ"ตามความหมายดังกล่าว "วัดด้วยอะไร"

วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน การกำหนดเครื่องชี้วัด "ประสิทธิภาพผู้นำ" จะต้องแตกต่างกันด้วยหรือไม่

"ความรู้ ความสามารถ ความมีประสิทธิภาพของผู้นำ" ประชาชนสัมผัสได้ด้วยอะไร ด้วยวิธีไหน

จริงอยู่ "การพูด" เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้โชว์ความรอบรู้ให้ประชาชนได้รับทราบถึง "ประสิทธิภาพผู้นำ" แต่ "การพูด" ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ถึงความสามารถ ความมีประสิทธิภาพของผู้นำ

ในความเป็นจริงคือ ระหว่าง "ความคิด คำพูด และการกระทำ" อันเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับคนอื่น กับสังคม กับโลกภายนอกนั้น

"คำพูด" เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สะท้อนความเป็นจริงของความรู้ความสามารถได้น้อยที่สุด เพราะ "คนพูดเก่ง" สามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น แม้กระทั่งไม่เคยคิด ได้ง่าย ๆ

เพียงแค่คิดขึ้นเฉพาะหน้าว่าพูดอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง แล้วใช้ศิลปะพูดโน้มน้าวให้คนฟังเชื่อในสิ่งที่แม้แต่ตัวเองไม่เคยเชื่อก็ได้

การยืนยัน "ความรู้ความสามารถ" ด้วย "การพูด" ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่เชื่อได้น้อยที่สุด เพียงแต่การแข่งขันทางการเมือง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ความเป็นผู้นำที่ดีหรือไม่ นิยมใช้ "โวหาร วาทกรรม"เป็นเครื่องวัด

การ "ดีเบต" ในความหมายของการ "โต้วาที แสดงโวหาร" จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ประกอบกับเป็นวัฒนธรรมสังคมที่สื่อมวลชนมีบทบาท มีอิทธิพลต่อการชี้นำความคิดของประชาชน และ "การดีเบต" เป็นวิธีที่สื่อมวลชนแสดงบทบาทได้โดดเด่น เป็นการสมประโยชน์ของทุกฝ่าย

"นักการเมือง"ได้แสดงตัวตน "สื่อ"ได้แสดงบทบาท "ประชาชน"ได้ฟังการ "โต้วาที" ถกเถียงกันของคนมีชื่อเสียง ทั้งที่การ "ดีเบต" ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการแสดงให้เห็นว่า "นักการเมือง" คนไหน "พูดเก่ง มีไหวพริบในการตอบโต้ได้ดี" ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถที่เป็นจริงของนักการเมืองคนนั้นเลยก็ได้

เช่นกัน "ผู้นำ" ที่พูดไม่เก่ง ดีเบตไม่ดี อาจจะมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับความเป็นไปของประเทศในปัจจุบันมากกว่าก็เป็นได้ ตัวอย่างของประเทศไทยในอดีตคือ พณฯท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือหากมองให้กว้างออกไป

ผู้นำที่ทำให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจ อย่างท่านประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ก็ไม่ต้องแสดงความสามารถที่เหนือกว่าด้วยการดีเบตกับใคร

อาจจะเพราะด้วยเหตุที่ "การพูด" ไม่ใช่การแสดงที่ดีที่สุดว่าใครมีความรู้ความสามารถ มีประสิทธิภาพกว่าใคร ทำให้ "ผู้นำในหลายประเทศ"ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ หรือเล็กลงมา ไม่จำเป็นต้องวัดประสิทธิภาพผู้นำด้วยการดีเบต

ยิ่งในยุคสมัยที่ทุกคนมีช่องทางสื่อถึงประชาชนได้มากมาย การสื่อสาร "ความคิด คำพูด การกระทำ" เพื่อแสดง "ความรู้ ความสามารถ และประสิทธิภาพ" สามารถทำได้ตามช่องทางที่เหมาะสมกับความถนัดของ "ผู้อาสามาเป็นผู้นำ" ของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันเอาชนะกันว่าเป็น ผู้มีความสามารถในการโต้เถียงเก่งกว่า ยิ่งไปกว่านั้นคือ "ผู้นำที่มีวุฒิภาวะ" ย่อมรู้ว่าในสังคม ในวัฒนธรรมของประเทศที่แตกต่างกันนั้น

มีมากมายหลายเรื่องหากนำมาเป็น "ประเด็นโต้เถียงกัน" ยิ่งสร้างปัญหาเพิ่ม หรือขยายปัญหาให้บานปลายไปไม่รู้จบ 

ผู้นำที่ตระหนักถึง การแสดงออกที่เหมาะควรกับความเป็นไปของประเทศ ควรแสดงออกในการกระตุ้นให้ "ทุกฝ่าย" มีสติในการนำสังคมไปอยู่กับการเอาชนะคะคานกันด้วยการโต้เถียง

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ผมได้ทราบข่าวมาว่ามีพิธีกรรายการทีวีชื่อดังระดับประเทศท่านนึง ได้ประกาศเชิญชวนผมกลางอากาศ ให้ผมไปออกดีเบต ผมรู้สึกปลาบปลื้มเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับความปรารถนาดีที่ท่านส่งมาถึงผม

แต่อย่างที่บอกแล้ว ผมเลือกที่จะสื่อสารกับทุกท่านด้วยวิธีที่ผมคิดว่าผมสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะพบปะกับทุกท่านเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดความเห็นกัน แต่ขอเป็นแบบพูดคุยส่วนตัว ผมพร้อมเสมอสำหรับทุกท่านครับ ก่อนหน้านี้ผมได้แลกเปลี่ยน พูดคุยกับสื่อมวลชนที่ติดต่อมา บางท่านแล้ว 

สำหรับท่านอื่นๆ ผมรอเวลาที่ท่านว่างอยู่เช่นกันครับ

ขอบคุณที่ระลึกถึงครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง