"ไม่ใช่ญาติ" ข้อจำกัดการนำผู้ป่วยจิตเวชเข้ารักษา

สังคม
10 เม.ย. 66
19:29
2,334
Logo Thai PBS
"ไม่ใช่ญาติ" ข้อจำกัดการนำผู้ป่วยจิตเวชเข้ารักษา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ข่าวคนคลุ้มคลั่งทำร้ายร่างกายตัวเอง ทำร้ายร่างกายคนอื่น เหตุการณ์ลักษณะนี้ตกเป็นข่าวเกือบทุกวัน แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวชทุกคน จะมีพฤติกรรมเช่นนี้ หากเข้าถึงการรักษาที่ถูกวิธีและต่อเนื่อง ได้รับการดูแลจากคนรอบข้าง เรื่องราวรุนแรงเหล่านี้ อาจไม่เกิดขึ้น

การเข้าถึงระบบการรักษาจึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าหากพบเห็นผู้ป่วยจิตเวชอยู่รอบตัว คุณก็ไม่สามารถพาเขาไปรักษาได้หากเขาไม่ยินยอม เพราะผู้ที่สามารถพาไปได้ คือ แพทย์ พยาบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และตำรวจ

ไทยพีบีเอส พูดคุยกับ อภิรัฐ สุดสาย ผู้ที่เผชิญกับประสบการณ์นี้ เขามีความพยายามนำผู้ป่วยจิตเภทคนหนึ่ง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังจากผู้ป่วยคนนั้น เผยอาการให้เขาเห็นผ่านการทำลายข้าวของในร้านของเขา โดยไม่รู้จักและไม่มีปัญหากันมาก่อน เมื่อต้องการพาไปรักษา เขาจึงพบว่า มีขั้นตอนหลายอย่างทั้งข้อจำกัดทางกฎหมาย และความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่

ฝากลูกแม่ด้วยนะ

ข้อความทิ้งท้ายสั้น ๆ ผ่านสายโทรศัพท์จากแม่ของนายวุฒิ ผู้ป่วยจิตเภทที่สนทนากับอภิรัฐ สุดสาย ชาวบ้านย่านคลองจั่น กทม. ที่โทรไปรายงานความคืบหน้าอาการของนายวุฒิ ผู้ป่วยจิตเภท ที่เขาเป็นผู้นำเข้าสู่ระบบการรักษา

ย้อนกลับไปประมาณ 2 สัปดาห์ วุฒิ เพิ่งย้ายมาพักอาศัยใกล้กับร้านขายก๋วยเตี๋ยวของนายอภิรัฐ และแวะเวียนไปกินอาหารที่ร้าน 3-4 ครั้ง

เขาสังเกตเห็นท่าทางของวุฒิ มีอาการนิ่ง ๆ แต่ครั้งล่าสุดเข้ามาต่อว่า ใช้เก้าอี้ฟาดและขู่จะฆ่าลูกค้าในร้าน

ขณะนั้นอภิรัฐรู้สึกไม่พอใจ แต่เมื่อทราบประวัติว่า วุฒิเรียนเขาจบปริญญาโท เป็นอดีตพนักงานธนาคาร เคยป่วยทางจิต และเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง จึงทำให้อภิรัฐ อยากช่วยเหลือชายทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เพราะเชื่อว่า หากไม่นำเข้าสู่ระบบการรักษา วุฒิอาจจะมีอาการมากขึ้น และอาจก่อความรุนแรงกับคนรอบข้าง

สาเหตุที่เขากลับมาป่วย ผมคุยกับเพื่อนเขา คือ เขาเครียด มีปัญหา เหมือนมีการใช้สารเสพติด พอเขาป่วยไม่กินยา ใช้สารกระตุ้นเข้าไปอีก ทำให้เป็นแบบนี้

ขั้นตอนการพาผู้ป่วยจิตเภทเข้ารับการรักษา “ไม่ง่าย”

กฎหมายสุขภาพจิตแห่งชาติ ระบุว่า หากพบผู้ป่วยทางจิตในชุมชน สามารถแจ้งตำรวจ หรือ พนักงานปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เพื่อนำไปรักษา

มาตรา 26 พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 กำหนดว่า กรณีฉุกเฉินได้รับแจ้งว่ามีบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต มีภาวะอันตรายหรือจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา หรือพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต มีภาวะอันตราย ให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ
บุคคลที่สามารถนำตัวผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลได้ ได้แก่

(1) พนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข

(2) พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ

(3) ตำรวจ ส่วนกรณีที่พบบุคคลที่มีอาการทางจิต แต่ยังไม่ได้กระทำความผิด เช่น เดินพูดคนเดียว

บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวส่งสถานพยาบาลได้ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551

กรณีนี้ อภิรัฐ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เป็นเพียงคนขายก๋วยเตี๋ยวที่นายวุฒิเคยมากินที่ร้าน แต่เขาต้องการจะช่วยเหลือให้ได้เข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด

ขั้นตอนไม่ง่ายอย่างที่คิด

เขาทราบกฎหมายดีว่า ไม่สามารถพาผู้ป่วยไปรักษาได้ เขาจึงโทรปรึกษาตำรวจ ตำรวจแนะนำว่าต้องมีเหตุซึ่งหน้าจึงจะสามารถจับกุมและนำไปรักษาได้

ตำรวจบอกว่าไม่สามารถจับเขาได้ เพราะเขาไม่มีความผิด แต่ถามว่าถ้าเขาฆ่าคนตาย แล้วมีความผิด นั่นถึงจะจับได้ แล้วคนที่เขาสูญเสียไปล่ะ

อภิรัฐตัดสินใจประสานงานไปที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งที่วุฒิเคยไปรักษาอาการทางจิต แต่กลับถูกโรงพยาบาลปฏิเสธ อ้างว่า หากจะนำผู้ป่วยไปรักษา ต้องพาญาติไปด้วย เพื่อเซ็นเอกสาร

ช่วงเวลานั้นนายอภิรัฐคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้วุฒิได้เข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด หากหวังจะให้วุฒิเข้าไปรักษาด้วยตัวเองก็เป็นเรื่องยาก เพราะวุฒิไม่นอมรับว่าตัวเองป่วย

มันยากสำหรับการที่ให้แม่เขามาบอกว่า ไปหาหมอนะลูก มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเขาไม่ยอมรับว่าเขาป่วย

ทุกอย่างเหมือนจะราบรื่น

ค่ำของวันเดียวกัน อภิรัฐ ทราบข่าวจากเพื่อนของวุฒิ แจ้งว่า วุฒิเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้นายอภิรัฐรู้สึกมีความหวัง เขารีบไปขอเบอร์โทรศัพท์แม่ของวุฒิจากเพื่อนที่นายวุฒิมาพักด้วย เขาติดต่อไปทันทีและเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง

ต้องการให้แม่พานายวุฒิไปรักษา แม่ยินดีทำตาม เพราะเห็นอาการลูกชายคลุ้มคลั่ง จนทำให้หวาดกลัว ต้องไปหลบอยู่ที่เล้าไก่พร้อมกับหลานสาววัย 9 ขวบที่ฝังใจเพราะแม่ของเธอเคยถูกวุฒิ ซึ่งเป็นน้าชายทำร้ายร่างกายต่อหน้า อภิรัฐเชื่อว่าเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะได้พาอภิรัฐเข้าระบบการรักษา

ตอนนั้นมีแม่เขาอยู่ด้วย มันง่ายแล้ว ผมหาข้อมูลทางอินเทอร์เนตและโทรไปที่โรงพยาบาล

นายอภิรัฐ ติดต่อประสานไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ระบุว่า ต้องประสานผู้ใหญ่บ้าน เขาจึงโทรไปแจ้งกับแม่ของวุฒิ แต่ได้รับคำตอบจากแม่ว่าผู้ใหญ่บ้านไม่สามารถช่วยได้

ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ให้ความสำคัญ มองว่าแค่เรื่องคนบ้า ไม่ได้จัดการให้

ผมคิดว่ามันต้องทำเลย ตอนนี้มันเหมาะกับการรักษาที่สุดแล้ว ทางโรงพยาบาลบอกว่าต้องมีเจ้าหน้าที่พาไป เพราะทางโรงพยาบาลไม่มีเจ้าหน้าที่ หากพร้อมให้ผู้ป่วยมารักษาและต้องให้ญาติพามา

“ทำสำเร็จ” เข้าสู่ระบบการรักษา

อภิรัฐไม่ละความพยายาม เขาโทรประสานไปที่ตำรวจอีกครั้ง เพื่อให้นำตัววุฒิไป เพราะเขามีอาการคลุ้มคลั่ง เมื่อตำรวจไปรับตัวและนำข้าสู่การรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์

การรักษาวันแรกในโรงพยาบาล วุฒิไม่ยอมกินยา และอาละวาดหนักขึ้น จึงทำให้โรงพยาบาล ต้องขอให้นำไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น พบว่าที่โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่นยังพอมีที่ว่างให้เข้ารักษาได้ จึงติดต่อไปและได้รับการตอบรับให้ไปรักษาที่นั่น

ผมคิดว่ามันเป็นภัย ไม่อยากปล่อยผ่านเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เขามาว่าที่ร้านของผม แต่มันคือเรื่องที่เขาจะไปทำร้ายคนอื่น เขาจะไปตีหัวใครก็ไม่รู้ เขาจะเอามีดไปแทงใครก็ไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เขาจะเดินไปหาหมอก็ไม่ได้ จะให้ไปหาหมอเองเขาก็ไม่ไป

อภิรัฐ สะท้อนถึงอุปสรรค หากใครคนนึ่ง ต้องการพาผู้ป่วยที่เขาพบเห็นพฤติกรรม เข้าสู่ระบบการรักษา เพราะเขาไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่

อภิรัฐ ทิ้งคำถามในใจของเขาไว้กับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า หากผู้ป่วยจิตเวชไม่มีญาติ ไม่รู้ตัวว่าป่วย เขาจะต้องอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ รอจนกว่าจะไปก่อเหตุรุนแรงกับผู้อื่น จึงจะเข้าถึงการรักษาได้อย่างนั้นหรือ

คนป่วยเป็นไข้หวัด คนป่วยจิตเภท ก็เป็นคนป่วยเหมือนกัน แต่คนป่วยไข้หวัดเข้าถึงการรักษาง่าย แต่คนป่วยจิตเภท ไม่สามารถเดินไปหาหมอได้ เขาไม่สามารถเดินไปเองได้ และไม่โอเคในการรักษา ไม่มีหน่วยงานไหนรองรับ เหมือนเขาเข้าไม่ถึงการรักษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง