เปิดความทรงจำ "หมอบริพัตร" สัตวแพทย์ผู้ดูแล "หลินฮุ่ย"

สิ่งแวดล้อม
19 เม.ย. 66
16:53
1,265
Logo Thai PBS
เปิดความทรงจำ "หมอบริพัตร" สัตวแพทย์ผู้ดูแล "หลินฮุ่ย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย้อนอดีตความสุข ความทรงจำกว่า 2 ทศวรรษ "ครอบครัวแพนด้ายักษ์" ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย-หลินปิง ความสำเร็จของประเทศไทยกับการผสมเทียมแพนด้า กับปรากฏการณ์เรียลริตี้โชว์ความสนุกบนหน้าจอทีวี
หลินฮุ่ยและครอบครัว เป็นเพื่อนสนิทที่พูดภาษาเราไม่ได้ แต่มีความผูกพันแบบเพื่อนและญาติใกล้ชิดเสียใจที่ตายกะทันหัน

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นสพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ อดีตหัวหน้าคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยองค์การสวนสัตว์ หนึ่งในทีมงานผู้ดูแลครอบครัวแพนด้ายักษ์ในไทยมานานกว่า 12 ปี

อยู่กับแพนด้า ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย มา 12 ปี ตั้งแต่ปี 2549 ได้เห็นหลินฮุ่ย ตั้งแต่เป็นเด็กผู้หญิง วัยรุ่น และมีความผูกพันกัน

วันนี้เขาตาย ยอมรับว่าเสียใจมาก เขาเป็นเหมือนเพื่อนและญาติสนิทใกล้ชิด และอีกด้านเขาเหมือนครูที่สอนมา 20 ปี ทั้งความสำเร็จ ความผิดหวังและพัฒนาทีมคนไทย และเป็นครอบครัวที่สร้างความสุขสร้างรอยยิ้ม เป็นไอคอน เป็นไอดอลและถือเป็นความทรงจำที่ดี

ก่อนรู้จักและหลงรักแพนด้า

นสพ.ดร.บริพัตร บอกว่าก่อนหน้านี้ เคยไปดูแพนด้ายักษ์ในประเทศจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานที่สวนสัตว์ ในปีแรกของการทำงาน "หลินฮุ่ย" มาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่แล้ว ตั้งแต่ปี 2546 มาก่อนที่เราจะมาทำงาน ซึ่งยอมรับว่าเคยแอบหวังในตอนนั้นว่าประเทศไทย จะเป็นประเทศที่จะมี "ลูกแพนด้า" เหมือนกับประเทศอื่น

จากนั้นได้เริ่มเข้าช่วยในกระบวนการผสมเทียมแพนด้า ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นหัวหน้าโครงการฯ เป็นการฝึกวางยาสลบครั้งแรก ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจในตอนนั้น เนื่องจากไทยเป็นเจ้าภาพโลกจัดประชุมหมีแพนด้าโลกนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรกที่ จ.เชียงใหม่

การประชุมนี้มีสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญแพนด้านับร้อยคนมาที่นั่น จึงขออนุญาต นายโสภณ ดำนุ้ย อดีต ผอ.สวนสัตว์ฯ ในตอนนั้นว่าเป็นโอกาสดีมีผู้เชี่ยวชาญแพนด้า น่าจะเป็นโอกาสดีเหมือนกับมีครูมาสอนถึงบ้าน และอดีต ผอ. อนุมัติ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นโครงการผสมเทียมแพนด้าขึ้น

เป็นครั้งแรกที่ได้มีการเรียนรู้วางยาสลบแพนด้าช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ตรวจสุขภาพ ตรวจฟัน เอ็กซเรย์ เก็บน้ำเชื้อแช่แข็งและหัดผสมเทียม เป็นการเรียนจากผู้เชี่ยวชาญของจีนและสวนสัตว์ของสหรัฐอเมริกา

นสพ.ดร.บริพัตร บอกว่าในการผสมเทียมครั้งแรก ร่วมกับทีมจีน หลินฮุ่ยยังไม่ติดลูก กระทั่งการผสมเทียมในครั้งที่ 2 ทีมไทยได้ผสมเทียม และมีข่าวดีว่าประสบความสำเร็จในรอบนี้ หลินฮุ่ย ตั้งท้อง จากการผสมเทียมของทีมไทย

จากหลินฮุ่ย สู่ "หลินปิง" ลูกแพนด้าตัวแรกของไทย

เขาบอกเหตุผลที่ภูมิใจว่า การมีแพนด้าไม่ใช่เลี้ยงให้มีลูกได้ เพราะปกติแพนด้าตัวผู้ที่ผสมเป็นมีแค่ร้อยละ 20 หรือ 2 ใน 10 ตัวที่ผสมพันธุ์ได้ เพราะแพนด้าจะถูกแยกออกจากแม่ และหย่านมเร็ว ขาดการเรียนรู้ โดยช่วงช่วง ก็เป็นร้อยละ 80 ของแพนด้าที่ผสมไม่เป็น จึงต้องใช้เทคนิคการผสมเทียมให้หลินฮุ่ย

ซึ่งทีมงานทุกคนมีส่วนสำคัญในความสำเร็จนี้ เป็นทำงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากหลายมหาวิทยาลัย และเชี่ยวชาญทุกด้านมาช่วยกัน เพราะต้องเรียนรู้แพนด้า พฤติกรรมของแพนด้าที่จะเป็นสัดแค่ปีละ 3 วัน หากพลาดนั่นหมายถึงต้องรออีก 1 ปี รวมถึงการเก็บอึ ฉี่ของแพนด้ามาตรวจเพื่อหาฮอร์โมนและรู้ช่วงเวลาตกไข่จะทำการผสมเทียมแม่นยำมากขึ้นรู้ถึงว่าชั่วโมง ของวันไหนไข่จะตก เป็นการลุ้นทุกปี และตื่นเต้นที่สุดคือปีที่ "หลินปิง" เกิด

ถือเป็นความดีใจ ความภูมิใจที่ทีมสัตวแพทย์ไทย นักวิจัย คนดูแลแพนด้า สามารถประสบความสำเร็จเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลก ที่เลี้ยงหมีแพนด้าและผสมเทียมแพนด้าให้มีลูกได้

หมอบริพัตร บอกอีกว่าครอบครัวแพนด้ายักษ์สร้างปรากฎการณ์ให้กับคนไทยทุกช่วงวัย สร้างความสุขรอยยิ้ม ทำให้สังคมมีความหวัง และจากนั้นยังมีความพยายามอีกหลายครั้งในการผสมเทียมแพนด้า แต่ก็ไม่สำเร็จแม้จะพบตัวอ่อนแต่กลับไม่มีลูกแพนด้าตัวที่ 2 อีก

หลินฮุ่ย เป็นแม่แพนด้าที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูกได้สมบูรณ์มาก เพียงลูกออกมาไม่กี่นาทีก็จับลูกอุ้มมากินนม สอนและเลี้ยงลูกถึง 4 ปี จากการต่อสัญญาก่อนส่งกลับจีน แม้จะเสียโอกาสเพราะที่เมืองจีนให้ลูกหย่านมเพียงอายุแค่ 6 เดือน ทำให้หลินปิง ที่กลับไป เป็นแม่แพนด้าที่ดี มีลูกแฝด 3 คู่

ครอบครัวแพนด้าคือ "ครู" ของคนไทย

หากบอกถึงความผูกพันกับครอบครัวแพนด้า อดีตหัวหน้าคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า บอกว่าก่อนหน้าที่ ช่วงช่วง ตายไป ยอมรับว่าเสียใจในระดับหนึ่ง และหวังว่าจะให้ หลินฮุ่ย กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองจีน แต่หลินฮุ่ย เลือกที่จะตายที่เชียงใหม่เหมือนกับ ช่วงช่วง ที่เขารัก

เสียใจกว่า ครั้งสุดท้ายไปเยี่ยมหลินฮุ่ยเมื่อ 1 ปีก่อน หลินฮุ่ยความมีบุคลิกภาพน่ารักกว่า เป็นแพนด้าสายหวานมีจริต แต่เรียบร้อยมีมุมโปรด มีเก้าอี้ มีก้อนกินก้อนโปรดที่ชอบนั่งประจำ

หมอบริพัตร บอกว่า สำหรับครอบครัวแพนด้า เทียบกับครูของพวกเรา มีไม่กี่ประเทศในโลกที่ผลิตลูกแพนด้าจากการผสมเทียมได้ทำให้สวนสัตว์ไทยปักธงในระดับโลกได้ เพราะหลายประเทศที่สำเร็จหลังไทย เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ถือว่า ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีอย่างดีอยู่กับคนไทยมา 2 ทศวรรษ ทำให้คนไทยมีความสุข โดยเฉพาะหลินฮุ่ย เลี้ยงลูก เป็นเรียลริตี้โชว์ที่ อากง อาม่า เด็กผู้ใหญ่ติดกันงอมแงม เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ดังนั้น ครอบครัวแพนด้าฟีเวอร์ ถือเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ และด้านจิตใจ การเรียนรู้ความผูกพัน ถือเป็นมิติที่ยิ่งใหญ่มาก ดังนั้นจึงคาดหวังว่าไทยจะมีโอกาสในการเจรจานำแพนด้าทูตสันถวไมตรีคู่ใหม่มาไทยอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่ม : 

ปลัด ทส.ชี้รอจีนพิสูจน์สาเหตุ "หลินฮุ่ย" ตาย ยังไม่ชัดจ่ายค่าชดเชย

เผยอาการแพนด้า "หลินฮุ่ย" ก่อนตาย พบเลือดกำเดาไหล

แพนด้า "หลินฮุ่ย" ตายแล้ว สวนสัตว์เชียงใหม่แถลงสาเหตุ

เปิดชีวิต 21 ปี แพนด้า “หลินฮุ่ย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง