วิเคราะห์ : สมรภูมิ “ซูดาน” สะเทือน “ทวีปแอฟริกา”

ต่างประเทศ
25 เม.ย. 66
20:42
2,761
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : สมรภูมิ “ซูดาน” สะเทือน “ทวีปแอฟริกา”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การปะทะกันระหว่างกองทัพกับกองกำลังกึ่งทหารในซูดาน ซ้ำเติมปัญหาความมั่นคงในหลายประเทศของแอฟริกาให้ทวีความรุนแรง ความขัดแย้งของนายพล 2 คน จุดชนวนปัญหาผู้ลี้ภัยการสู้รบและดึงกองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการสู้รบด้วย

การชิงอำนาจในซูดานยิ่งทำให้สถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายมากขึ้น หลังจากประชากรกว่า 1 ใน 3 ของประเทศเผชิญภาวะอดอยาก ขณะที่ประชาชนในกรุงคาร์ทูมต่างเติมน้ำใส่ภาชนะเพื่อเก็บไว้ใช้ หลังจากการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่ายส่งผลกระทบต่อการจ่ายน้ำประปา

ขณะที่แนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งยังเป็นไปได้ยาก ในขณะที่การต่อสู้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 และขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งการต่อสู้กันระหว่างกองทัพกับกองกำลัง RSF เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนติดชาด, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, เซาท์ ซูดานและเอธิโอเปีย

รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ชี้ว่าผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 427 คนและบาดเจ็บกว่า 3,000 คน หลังจากกองทัพซูดานเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศหลายระลอก ทำให้ที่พักอาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายอย่างหนัก

อ่านข่าว : รัฐบาลอพยพชาวไทย 212 คน กลับจากซูดาน

ประชาชนจำนวนมากอพยพหนีภัยความรุนแรงไปประเทศใกล้เคียง เนื่องจากความขัดแย้งยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงในเร็ววัน ซึ่งจุดหมายของชาวซูดาน คือ ชาด, เซาท์ ซูดาน, เอธิโอเปียและอียิปต์

"ชาด" เป็นจุดที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจุดหนึ่งในทวีปแอฟริกา โดยข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ พบว่า ชาวซูดานประมาณ 10,000-20,000 คนอพยพไปยังชาด

คลื่นผู้ลี้ภัยระลอกใหม่อาจสร้างภาระให้ทรัพยากรของชาดมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีผู้ลี้ภัยซูดานอาศัยในชาดมากกว่า 400,000 คน ขณะที่โครงการอาหารโลกในชาดเตรียมรับมือคลื่นผู้ลี้ภัยอีก 100,000 คน หลังจากความขัดแย้งปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

การประกาศหยุดยิงของกองทัพกับกองกำลัง RSF นาน 72 ชั่วโม น่าจะเป็นจังหวะให้ชาวซูดานนับล้านอพยพออกนอกประเทศ ยิ่งการเผชิญหน้าของกำลังพลทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวโน้มยืดเยื้อ โอกาสเกิดสงครามกลางเมืองในซูดานยิ่งมีความเป็นไปได้สูง

The Soufan Center สถาบันคลังสมองในนครนิวยอร์ก เตือนให้ระวังการแทรกแซงจากต่างชาติ ขุนศึกและกองกำลังติดอาวุธ ความล้มเหลวของนายทหารระดับสูงในการควบคุมกลุ่มนักรบ ยิ่งส่งผลให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างจนสถานการณ์ซับซ้อนขึ้น

พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพ และ พล.อ.โมฮัมเหม็ด ฮามดาน ดากาโล เฮเม็ดติ ผู้บัญชาการกองกำลัง RSF ต่างพยายามร้องขออาวุธ เงินทุนและกำลังเสริมจากเพื่อนบ้าน ท่ามกลางความพยายามของชาติต่างๆ ในการสวมบทตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย

มหาอำนาจในภูมิภาคทั้งอียิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะเชื่อว่าอียิปต์หนุนอัล-บูร์ฮาน ในขณะที่ยูเออีหนุนเฮเม็ดติ ด้านลิเบีย, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ชาด, เอธิโอเปียและเอริเทรีย น่าจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองหรือการทหารในซูดานด้วย

ความพยายามนำ 2 นายพลกลับสู่โต๊ะเจรจาของนานาชาติยังไร้ผล ในขณะที่ชัยชนะของกองทัพซูดานเป็นไปได้ยากมากเช่นกัน เนื่องจากกองกำลังกึ่งทหาร RSF ของเฮเม็ดติ ใช้ยุทธวิธีการต่อสู้แบบสงครามกองโจรภายในกรุงคาร์ทูมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความไร้เสถียรภาพในซูดานสร้างความกังวลในระดับภูมิภาค เนื่องจากที่ตั้งของซูดานอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญริมทะเลแดง

วิเคราะห์โดย : พงศธัช สุขพงษ์พงศธัช สุขพงษ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ : วัดพลัง "ตัวกลาง" ยุติความขัดแย้ง 2 ฝ่ายในซูดาน

อำนาจ 2 นายพล บนความเสี่ยงนับล้านของชาวซูดาน

อดีต นศ.ไทยในซูดาน เปิดแผนอพยพนำคนไทยกลับบ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง