ภาษาพาที? ถึงคิว "ลุงบุญ" กับคำเฉลยงูเขียวกินตับตุ๊กแก

สังคม
26 เม.ย. 66
10:35
10,200
Logo Thai PBS
ภาษาพาที? ถึงคิว "ลุงบุญ" กับคำเฉลยงูเขียวกินตับตุ๊กแก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถึงคิว "ลุงบุญ"ในแบบเรียนภาษาพาทีชั้นป.4 สอนเด็กๆงูเขียวกินตับตุ๊กแกเพราะท้องอืด นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านงู เฉลยคำตอบเป็นพฤติกรรมงูล่าเหยื่อกินจากหัว ไม่ได้กินแค่ตับแก่ ห่วงเนื้อหาผิดทำนักเรียนเข้าใจผิด

ยังคงไม่จบปมดรามากับแบบเรียนชั้น ป.4 "ภาษาพาที" ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์กับแฮชแท็กข้ามวัน ภาษาพาที ไข่ต้ม น้ำปลาจิ้มข้าวมันไก่ ชาวโซเชียลยังคงขุดเนื้อหาที่ไม่สมเหตุสมผลของหนังสือเรียนดังกล่าว และถูกแชร์ในโลกออนไลน์ต่อเนื่อง

วันนี้ (26 เม.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโลกออนไลน์ยังคงขุดเนื้อหาของแบบเรียนภาษาพาทีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดถึงคิว “ลุงบุญ” ในแบบเรียนชั้นป.4 ที่ถูกหยิบมาวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับเด็กๆ

เนื้อหา ระบุว่า ลุงบุญ จึงเล่าให้เด็กๆ ฟังว่า แต่ก่อนลุงเคยได้ยินผู้ใหญ่เขาเล่าให้เด็กๆ ฟังว่า งูเขียวมันชอบมากินตับตุ๊กแก ตุ๊กแกตัวไหนที่แก่มีอายุมากแล้ว มันจะร้องเรียกให้งูมากินตับว่า “ตับแก่ๆ” หรือ “ตุ๊กแกๆ”

ลุงเคย สงสัยมานานแล้วว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือพอลุงโตขึ้นจึงได้รู้ว่า ความจริงแล้วงูไม่ใด้กินตับตุ๊กแกหรอก ที่ตุ๊กแกร้องแล้วอ้าปากให้งูมาล้วงคอนั้น ก็เพราะว่ามันกินแมลงเข้าไปมากจนท้องอืด อาหารไม่ย่อยจึงร้องออกมาเหมือนส่งสัญญาณให้มาช่วยล้วงเอาแมลงในกระเพาะของมัน แล้วมันจะรู้สึกสบาย หายท้องอืด เห็นไหมว่าสัตว์ในโลกนี้เขาสร้างมาให้คู่กัน แล้วมันก็ต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชีวิตที่ถูกเมิน

อ่านข่าวเพิ่ม ดรามา "ไข่ต้ม" ไม่เท่ากับความพอเพียง สพฐ.สั่งแก้เนื้อหา

กรณีดังกล่าว อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพัทธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เรื่องงูเขียวกินตับตุ๊กแก ระบุตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่เห็นงูเขียวอยู่ในปากตุ๊กแก ไม่ได้เรียกงูเขียวมากินตับแก่ๆ แต่งูเขียวกำลังกินมันทั้งตัวนั่นแหละ

อาจารย์เจษฎา ระบุว่า ต้องขอเฉลยความจริง แย้งลุงบุญ (และผู้เขียนหนังสือเรียนเล่มนี้ ซึ่งในหน้าถัดๆ ก็ไม่ได้เฉลยไว้ด้วย) เผื่อเด็กๆ ไทยจะจำไปผิดๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของ "ตุ๊กแกกับงู" มันไม่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรกันครับ มันกินกันสดๆ นั้นแหละ

ชี้พฤติกรรมงูล่าเหยื่อ-ไม่ใช่แค่กินตับ

ในความจริงแล้ว มันเป็นพฤติกรรมการ "ล่าเหยื่อ" ของงูเขียว ที่ตามเสียงร้องของตุ๊กแก ซึ่งก็ส่งเสียงตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเสียงร้องของตุ๊กแกนั้น ถูกใช้ทั้งเป็นการประกาศอาณาเขต ใช้ในการเรียกและเลือกคู่ และบ่งบอกถึงความสมบูรณ์แข็งแรงตุ๊กแกตัวนั้น จากเสียงที่ดังกังวานออกมาจากปอดของมัน

สอดคล้องกับ นิค นิรุทธ์ ชมงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านงูของประเทศไทย แอดมินแฟนเพจเฟซบุ๊ก Nick Wildlife ได้เคยจัดทำคลิปวิดีโอไขข้อสงสัยในคลิป

อธิบายว่า ที่บอกว่า "งูเขียวพระอินทร์กินตับตุ๊กแก" ตามตำนานเล่าขานจากคนโบราณว่า เมื่อตุ๊กแกมีอายุมาก ตับจะเริ่มแก่ การทำงานของร่างกายย่ำแย่ลง จึงต้องร้องให้งูเขียวพระอินทร์เลื้อยเข้ามากินตับ เพื่อสร้างตับขึ้นใหม่และมีชีวิตยืนยาวอีกครั้งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด 

แต่เป็นพฤติกรรมในการล่าเหยื่อของงู และการเอาตัวรอดของตุ๊กแกตามธรรมชาติ โดยการล่าเหยื่อของงูเขียวพระอินทร์ จะเลื้อยไปยังบริเวณที่คิดว่ามีตุ๊กแกอาศัยอยู่ จากนั้นจะรอจังหวะเพื่อพุ่งฉกตุ๊กแก เพื่อกินเป็นอาหาร

หากกัดได้แล้วจะม้วนตัวรัดตุ๊กแกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เหยื่ออ่อนแรงลง ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานพอสมควร ในการรัดเหยื่อ เนื่องจากตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่แข็งแรงมาก 

จากนั้น เมื่องูคิดว่าตุ๊กแกหมดแรงแล้ว จะค่อยๆ เลื้อยมาบริเวณส่วนหัว โดยสาเหตุที่งูกินทางหัวตุ๊กแก เนื่องจากหากเริ่มกินจากส่วนล่าง ขาเหยื่อจะกางออกและสร้างความลำบากในการกิน

ทั้งนี้ หากตุ๊กแกยังไม่หมดแรง ด้วยความเป็นสัตว์ที่ดุดัน จะไม่ยอมให้ตัวเองถูกกินง่ายๆ ตุ๊กแกจะงับหัวงูเขียวอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนพบเห็น จึงเข้าใจผิดว่างูเขียวจะเลื้อยเข้าไปกินตับ

สุรุปคืองูเขียว ไม่ได้มาช่วยล้วงท้องตุ๊กแกเพื่อแก้ท้องอืด ไม่ได้ช่วยกินตับแก่ๆ เพื่อจะสร้างตับใหม่ขึ้นมา แต่งูมันกำลังพยายามกินตุ๊กแก เพียงแต่ว่าถ้าตุ๊กแกยังไม่ถูกรัดจนหมดแรง มันจะงับหัวงู ทำให้คนเข้าใจว่ามันอ้าปากให้งูเข้าไป

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในก้าวไกล มีการสร้างแพลตฟอร์มตรวจสอบเนื้อหาหนังสือเรียน เพิ่มกลไกรับผิดชอบ เช่น ถ้าเจอข้อผิดพลาดที่รุนแรงก็สั่งแบนบริษัทที่จัดทำหนังสือได้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงคิว "ใบพลู" ขอน้ำปลาจิ้มข้าวมันไก่ กับ "ภาษาพาที" เจ้าปัญหา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง