นาซาเร่งประหยัดพลังงานยานวอยเอเจอร์ 2 หวังยืดอายุภารกิจให้นานที่สุด

Logo Thai PBS
นาซาเร่งประหยัดพลังงานยานวอยเอเจอร์ 2 หวังยืดอายุภารกิจให้นานที่สุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายปีที่ผ่านมา ระดับพลังงานของยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) ลดลงเรื่อย ๆ จนใกล้ถึงจุดวิกฤติ นักวิทยาศาสตร์จึงได้เริ่มวางแผนประหยัดพลังงานใหม่ให้กับตัวยาน เพื่อยืดอายุการใช้งานออกไปให้ได้นานขึ้น

วลีที่ว่าเมื่อมีพบก็ต้องมีจากนั้นสามารถใช้ได้กับยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ซึ่งในตอนนี้ตัวยานได้เดินทางห่างจากโลกไปถึง 20 พันล้านกิโลเมตร พ้นเขตแดนของระบบสุริยะที่เรียกว่า เฮลิโอสเฟียร์ (Heliosphere) ออกไปสู่ช่องว่างอวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar Space) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 แล้ว ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากธาตุกัมมันตรังสีกำลังลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

โดยองค์การองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) หรือ นาซา นั้น ต้องใช้เวลามากกว่า 22 ชั่วโมง ในการรับส่งสัญญาณข้อมูลทางเดียวไปยังยานวอยเอเจอร์ 2 ซึ่งวิศวกรนาซาเคยคำนวณเอาไว้ว่าอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนยานจะทำงานได้ถึงปี ค.ศ. 2026 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี องค์การนาซาก็เคยมีประสบการณ์แก้ไขปัญหาพลังงานในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว ด้วยการปิดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนยานที่ไม่จำเป็นของยานวอยเอเจอร์ 1 อย่าง คือกล้องถ่ายภาพไปแล้ว โดยยานอวกาศวอยเอเจอร์ 1 นั้นเป็นยานคู่แฝดอีกลำหนึ่งของยานวอยเอเจอร์ 2 ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่เก็บข้อมูลของคลื่นและรังสีต่าง ๆ ในอาณาเขตที่ห่างไกลตัวอาทิตย์ออกไปเช่นกัน

โดยการศึกษาเขตแดนช่องว่างอวกาศระหว่างดวงดาวนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในวงการดาราศาสตร์ เพราะมียานอวกาศเพียงแค่ 4 ลำในประวัติศาสตร์เท่านั้น ที่เคยเดินทางออกนอกระบบสุริยะของเราไป ซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ๆ จะช่วยให้เราเข้าใจผลกระทบของดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์อื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่ออวกาศได้ดีกว่าเดิม

ส่วนในกรณีของยานวอยเอเจอร์ 2 นั้น วิศวกรนาซาได้ตัดสินใจที่จะปิดตัว “ระบบป้องกันไฟกระชากลง” เพื่อนำพลังงานไปหล่อเลี้ยงอุปกรณ์อื่น ๆ อีก 5 ชิ้นที่เหลือไว้

โดยหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรนาซาได้เฝ้าติดตามการทำงานมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว จึงสามารถยืนยันว่าการจัดการพลังงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตการศึกษาของมนุษย์ให้กว้างไกลไปในอวกาศได้มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ที่มาข้อมูล: NASA/JPL , GIZMODO
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง